รายการ Intelligence ประจำวันที่ 5 สิงหาคม 2554
ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ กองบัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยสถิติรถหายในรอบปี “บก.น.2” ครองแชมป์พื้นที่รถถูกโจรกรรม พบ จยย.หาย 5,504 คัน กระบะ 409 คัน และเก๋ง 300 คัน รถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า และจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้า ถูกโจรกรรมเป็นอันดับต้นๆ ส่วนถนนตรอกซอกซอยช่วง 2 ทุ่มถึงเที่ยงคืนเสี่ยงถูกขโมยมากที่สุด
จากการรวบรวมสถิติรถหายและสามารถจับกุมได้คืนของ บก.น.1-9 ในปี 2553 ที่ผ่านมา อันดับที่ 1 บก.น.2 รถยนต์หาย 66 คัน จับกุมได้คืน 1 คัน หรือ 1.5 เปอร์เซ็นต์ รถปิกอัพหาย 87 คัน สามารถจับกุมคืนได้ 3 คัน หรือ 3.4 เปอร์เซ็นต์ รถตู้ไม่มีการก่อเหตุโจรกรรม และรถจักรยานยนต์หาย 963 คัน สามารถจับกุมคืนได้ 57 คัน หรือ 5.9 เปอร์เซ็นต์ โดยรวมรถยนต์หาย 300 คัน จับกุมได้คืน 26 คัน หรือ 8.7เปอร์เซ็นต์ รวมรถปิกอัพหาย 409 คัน จับกุมได้คืน 13 คัน หรือ 3.2 เปอร์เซ็นต์ รวมรถตู้หาย 9 คัน ไม่สามารถจับกุมคืนได้ และรวมรถจักรยานยนต์หาย 5,504 คัน จับกุมคืนได้ 335 คัน หรือ 6.1 เปอร์เซ็นต์
สำหรับรถยนต์ที่ถูกโจรกรรมในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีจำนวน 709 คัน ได้คืน 39 คัน โดยจำแนกตามยี่ห้อดังนี้ อันดับที่ 1 ยี่ห้อโตโยต้า จำนวน 228 คัน คิดเป็นร้อยละ 31.8 อันดับที่ 2 ยี่ห้ออีซูซุ จำนวน 210 คัน คิดเป็นร้อยละ 29.2 และอันดับที่ 3 ยี่ห้อนิสสัน จำนวน 84 คัน คิดเป็นร้อยละ 11.7 ส่วนช่วงเวลาที่รถยนต์ถูกโจรกรรม อันดับที่ 1 ตั้งแต่เวลา 20.01-24.00 น.
พ.ต.ท.อรรถพร สุริยเลิศ รอง ผกก.สส.2 บช.น. และหน.ศูนย์ปราบปรามการโจรกรรมรถ บช.น. กล่าวว่า เมื่อเกิดเหตุรถหาย แนวทางการสืบสวนรวบรวมไว้ 3 เส้นทาง คือ 1.ออกสู่ประเทศเพื่อนบ้าน มีทั้งผ่านด่านอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ลักลอบออกนอกเส้นทาง เช่น หากมีการขโมยจากพื้นที่กรุงเทพฯ จะป้องกันยาก เนื่องจากจะใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงก็ถึงด่านชายแดนกัมพูชา 2.ถอดแยกชิ้นส่วนเพื่อขายเป็นอะไหล่ 3.นำรถที่ขโมยไปสวมซากทะเบียนรถที่ประสบอุบัติเหตุจนไม่สามารถใช้งานได้ แต่มีการโอนย้ายทะเบียนนำรถมาขายตามเต็นท์รถ สิ่งที่ดีที่สุดในการลดปัญหารถหาย คือ เจ้าของต้องติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันต่างๆ และอย่าประมาทก่อนลงจากรถต้องล็อกประตูทุกครั้ง
Produced by VoiceTV