กสิกรไทย และไอบีเอ็ม ได้ร่วมทดลอบระบบ 'บล็อกเชน' เพื่อนำร่องใช้ในการรับรองเอกสารหนังสือค้ำประกัน ช่วยลดต้นทุน คาดว่าจะเริ่มใช้งานต้นปีหน้า (60) ถือเป็นการรับมือกับการก้าวเข้ามาของเทคโนโลยี "ฟินเทค" ในประเทศไทย
ธนาคารกสิกรไทย ได้ร่วมกับบริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย นำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Block Chain) มาใช้ในการรับรองเอกสารต้นฉบับเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ โดยสร้างระบบให้บริการเก็บรักษาและเรียกใช้ เน้นความถูกต้องมีมาตรฐานเดียวกัน ทำให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และประหยัด
เบื้องต้น จะนำมาใช้กับการรับรองเอกสารหนังสือค้ำประกัน (Letter of Guarantee : LG) ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างทดสอบระบบ และน่าจะเริ่มทดลองใช้งานในต้นปีหน้า(60) โดยมีหน่วยงานราชการ 2-3 แห่งเข้าร่วมก่อน เพราะเป็นหน่วยงานที่ใช้เอกสารมาก จากนั้นจะเชิญชวนสถาบันการเงินอื่นๆ ให้เข้าร่วม
นายสมคิด จิรานันตรัตน์ รองประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG กล่าวว่า ระบบบล็อกเชน เป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่จะมาเปลี่ยนรแปลงวิธีการดำเนินธุรกิจ โดยธนาคารกสิกรไทย ถือเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกที่นำระบบบล็อกเชนมาใช้ ซึ่งสามารถต่อยอดไปยังบริการอื่นๆ อีกหลากหลาย อาทิ สเตทเมนต์ ใบเสร็จ หรือสลิปต่างๆ
ทั้งนี้ ระบบดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนของการทดลองใช้ จึงยังไม่มีการตั้งเป้าหมายจำนวนลูกค้าที่จะเข้ามาใช้ รวมถึงค่าธรรมเนียมในการใช้บริการ ต้องใช้เวลาพิจารณาอีกครั้ง
ด้านนางพรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า บล็อกเชน ไม่ได้ใช้กับอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์เท่านั้น แต่ยังสามารถใช้งานได้ในวงกว้างหลากหลายธุรกิจ ซึ่งในต่างประเทศ มีลูกค้าที่นำบล็อกเชนไปใช้แล้ว 300 ราย แต่ในประเทศไทย ธนาคารกสิกรไทยเป็นแห่งแรก
หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมุ่งเป็นอินโนเวย์ชั่นฮับ ได้นำระบบการเก็บและยืนยันเอกสารบนบล็อกเชน มาใช้มากขึ้น เพื่อยกระดับการพัฒนาทั้งระบบทั่วประเทศ ส่วนในไทยยังอยู่ในระดับการสร้างความรู้ความเข้าใจและประโยชน์ของระบบ โดยพยายามสร้างนักออกแบบด้านเทคโนโลยี เพื่อนำไปใช้พัฒนาในธุรกิจได้มากขึ้น
โครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยีบล็อกเชน ที่นำมาใช้ในครั้งนี้มีชื่อว่า ไฮเปอร์เลจเจอร์ (Hyperledger) ของ บริษัท ไอบีเอ็ม ซึ่งได้รับการออกแบบมาเพื่อการประยุกต์ใช้สำหรับองค์กรต่างๆ ให้สามารถทำงานในมาตรฐานเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว มีลักษณะพิเศษที่สามารถกำหนดสิทธิ์ให้ใช้ได้เฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น (Private Blockchain)