รายการ Talking Thailand ประจำวันที่ 23 เมษายน 2563
นักวิเคราะห์ Talking Thailand จี้รัฐบาล ต้องเอาตัวเลขคน “ฆ่าตัวตาย” เพราะพิษโควิด มารายงานของ ศบค. ด้วย คนเครียด เพราะไม่มีกิน เพราะตกงาน จนต้องฆ่าตัวตายหนีความจน จากการปิดเมืองรับมือโควิด ต้องชั่งน้ำหนักปลดล็อกเมือง
“คำผกา” เผยเริ่มห่วงอธิบดีกรมสุขภาพจิต ที่แถลงยอมรับ โควิดมีผลบั่นทอนสุขภาพจิต ที่พบว่าตัวเลขสูงกว่าช่วงต้มยำกุ้ง
เมื่อวันที่ 22 เม.ย. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในมิติของสุขภาพจิตว่า "ในระยะ 2 เดือน หลังจากเกิดวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ควบคุมโรคได้แล้ว แต่กรมสุขภาพจิตได้สำรวจ 3 ครั้ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 เมษายน ใน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเครียดรุนแรง กลุ่มเครียดปานกลาง กลุ่มเครียดน้อย พบว่าประชาชนคนไทยมีความเครียดมากขึ้น เฉพาะในกลุ่มบุคลากรสาธารณสุข และมีในจำนวนผู้เครียดน้อย จำนวนเพิ่มมากขึ้น นั่นหมายความว่า มีประชาชนส่วนหนึ่งปรับตัวเข้ากับสถานการณ์และลดความเครียดลงได้ แต่ก็มีประมาณร้อยละ 10 ปรับตัวไม่ได้ ปัญหาหนึ่งที่ทำให้คนเครียดมากคือการถูกตีตรา"
อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า กรมสุขภาพจิตวางเป้าหมายดูแล 2 ประการ คือ 1.ลดผลกระทบด้านสุขภาพจิตระดับบุคคล ต้องเข้าถึงบริการ ต้องได้รับการดูแล 2.การเพิ่มศักยภาพของครอบครัวและชุมชนเพื่อร่วมกันดูแลสุขภาพจิต หลักการคือประชาชนต้องรู้สภาวะเครียดกังวลของตัวเองว่าอยู่ขั้นไหน เพราะถ้าเครียดนาน เครียดมาก จะนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า และฆ่าตัวตาย
"ยิ่งผลพวงจากการระบาด ทำให้เราไปไหนมาไหนไม่ได้ ปัญหารอบด้านเข้ามามีผลต่อตัวเลขการฆ่าตัวตาย สมัยต้มยำกุ้ง ประเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 2 ต่อแสนประชากร หรือ 2 คนต่อวัน และทำให้อัตราการฆ่าตัวตายเฉลี่ยในช่วงนั้นไปถึง 8.59 ต่อแสนประชากร รอบนี้จะต้องช่วยกันไม่ให้ฆ่าตัวตายเพิ่มเกิน 1 คนต่อวัน และไม่ให้อัตราการฆ่าตัวตายเฉลี่ยไปถึง 8.59 ต่อแสนประชากร เหมือนตอนนั้น จากตอนนี้อัตราการฆ่าตัวตายของไทยอยู่ที่ 6.31 ต่อแสนประชากร" นพ.เกียรติภูมิกล่าว
อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า จะให้อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) เคาะประตูบ้านกลุ่มเสี่ยง เพื่อคัดกรองสุขภาพจิต หากมีปัญหาก็ส่งต่อจิตแพทย์ ดูแล อย่าแปลกใจหากมีบุคลากรทางด้านจิตเวชโทรไปหา ส่วนคนที่ยังไม่เสี่ยงการเคาะประตูบ้านยังไปไม่ ถึงสามารถโหลดแอพพลิเคชั่น Mental Health Check Up เพื่อวัดระดับความเครียดของตัวเองก่อนได้ หากมีปัญหาให้รีบปรึกษาจิตแพทย์ หรือโทร 1323
ขณะเดียวกัน ต้องสร้างวัคซีนใจด้วย คนในครอบครัว ชุมชนดูแลซึ่งกันและกัน มี 4 หลัก คือ 1.ทำให้สงบด้วยการมีสติ รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง 2.รู้จักวิธีป้องกันตัวเองได้ สร้างพื้นที่ปลอดภัยในบ้าน ในชุมชน 3.มีความหวัง สร้างความหวังเตรียมพร้อมเรื่องการประกอบอาชีพหลังมีการผ่อนปรนมาตรการ 4.ห่างกายเพื่อควบคุมโรค แต่ให้พูดคุยกันสม่ำเสมอ ทั้งโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ดูแลสภาพจิตใจกัน ขอให้ยึดคาถา อึด ฮึด สู้ ประเทศไทยเคยผ่านศึกมานับไม่ถ้วน อย่างน้ำท่วมปี 2554 คนได้รับผลกระทบกว่า 10 ล้านคน เราก็ผ่านมาได้ นี่ก็เป็นอีกศึกหนึ่งที่เราต้องอึด ฮึด สู้ ให้ได้
ทั้งนี้ ทีมข่าวทอล์คกิ้งไทยแลนด์ ได้รวบรวมลิงค์ข่าวที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายจากปัญหาเรื่องโควิด-19 มีทั้งหมดดังนี้
1. 21 เม.ย. ข่าวสดออนไลน์ พาดหัว สุดสลด! โควิด พ่นพิษ แม่ลูกสอง เครียดจัด ขายของไม่ได้ ไร้เงินซื้อข้าว-นมให้ลูกกิน คิดสั้น ผูกคอเสียชีวิตในห้องน้ำ แม่เผยสามีลูกติดคุก
2. 18 เม.ย. ไทยรัฐออนไลน์ พาดหัว ชายวัย 74 ปีที่สุรินทร์อยู่คนเดียว เกิดเครียดกินไม่ได้นอนไม่หลับ หลังไปเยี่ยมลูกสาวที่ลำพูนกลับมา อสม. ขอให้กักตัว 14 วัน ต่อมาเกิดหวาดระแวง บ่นกับน้องชายว่าจะมีคนมาฆ่า ก่อนจะจุดไฟเผาเสื้อผ้ารมควันตัวเองดับคาห้องนอน
3. 3 เม.ย. ข่าวสดออนไลน์ พาดหัว หนุ่มเครียดตรวจเลือดออกมาเป็น "บวก" กลัวติดไวรัสมรณะ โควิด เก็บตัวเงียบมาหลายวัน ก่อนตัดสินใจโดนตึก 5 ชั้นเสียชีวิตสลด เปิดแชทเพิ่งคุยกับเพื่อน
4. 26 มี.ค. 63 เดลินิวส์ออนไลน์ พาดหัว "ไกด์หนุ่ม" เครียดจัดบ่นกับเพื่อนอยากตายไร้งานทำ "โควิด-19" ระบาดเป็นเหตุนักท่องเที่ยวหดหาย... สุดท้ายไกด์หนุ่มหาทางออกไม่ได้ผูกคอดับคาห้องพัก
5. 9 เม.ย. ไทยรัฐออนไลน์ พาดหัว สังเวยพิษเศรษฐกิจ-โควิด-19 อีกราย สาวใหญ่ เจ้าของร้านขายกล่องกระดาษเบเกอรี่รมควันดับในรถ หลังทะเลาะกับแฟนอย่างรุนแรง เกี่ยวกับปัญหาหนี้สินจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)