รายการ Talking Thailand ประจำวันที่ 1 เมษายน 2563
นักวิเคราะห์ Talking Thailand มองรัฐบาลอย่าเสียเวลา เพิ่มงานให้หน่วยงานรัฐโดยไม่จำเป็น ต้องโอนให้คนอายุ 18 ปีขึ้น ยกเลิกค่าน้ำค่าไฟ เชื่อแล้วเงินจะหมุนในระบบเอง แถมคนในระบบประกันสังคม ต้องมารอนายจ้างจ่ายช่วงปิดกิจการ ถามว่านายจ้างจะเงินจากไหน ทั้งที่ใกล้เจ๊งเต็มที “อ.พิชญ์” ย้ำสอนออนไลน์ ก็ต้องเห็นใจเด็กต้องจ่ายค่าเน็ต และต้องหาอุปกรณ์มารอเรียน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทุกสมาคมที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งประกอบด้วยโรงแรม บริษัททัวร์ ร้านอาหาร ธุรกิจรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ได้ร่วมกันแสดงออกด้วยการติดแฮชแทค #จ่ายแล้วได้อะไร เพื่อรณรงค์ไม่จ่ายเงินประกันสังคม และงดการจ่ายภาษีทุกอย่างให้กับรัฐบาล หลังจากที่ธุรกิจท่องเที่ยว เป็นธุรกิจแรกที่ประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้รับการช่วยเหลือให้ตรงจุด
แม้ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 24 มี.ค.จะจัดสรรสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 10,000 ล้านบาท จากธนาคารออมสินให้ธุรกิจท่องเที่ยวโดยเฉพาะ แต่จะดูจากประสิทธิภาพของธุรกิจที่ผ่านมา ซึ่งธุรกิจท่องเที่ยวในปีที่ผ่านมาไม่ค่อยดีนัก เมื่อเทียบจากหลายปีก่อนหน้านี้ ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) จะไม่ได้รับเงินกู้ ส่วนการคิดดอกเบี้ย 2% ใน 2 ปีแรก ถ้าในปีที่ 3 จะใช้ต่อ จะถูกเก็บค่าธรรมเนียมอีก 3%
นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ธุรกิจท่องเที่ยวทั้งหมด จำต้องปิดกิจการชั่วคราว จากการหยุดเดินทางของคนทั่วโลก แต่กลับพบว่าลูกจ้างในธุรกิจนี้ไม่ได้รับเงินชดเชย กรณีว่าง -งานจากสำนักงานประกันสังคม เนื่องจากไม่เข้าข่ายการว่างงานกรณีเหตุสุดวิสัย
ที่กำหนดว่าต้องเป็นกิจการที่รัฐบาลสั่งปิดเท่านั้น ต่างจากแรงงานนอกระบบที่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐเดือนละ 5,000 บาท (3 เดือน) ขณะเดียวกัน กฎหมายยังกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้าง 75% ของเงินเดือนในกรณีปิดกิจการชั่วคราว แต่ขณะนี้นายจ้างในธุรกิจท่องเที่ยวไม่เหลือสภาพคล่องที่จะจ่ายให้ได้อีก
แม้วันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และสมาคมท่องเที่ยว ได้ไปประชุมร่วมกับกระทรวงแรงงาน ว่าเงินประกันสังคมเป็นเงินที่นายจ้างและลูกจ้างสะสมเอง แต่ไม่ได้รับคำตอบที่จะผ่อนปรนเงื่อนไขมาช่วยเหลือได้
จึงตกลงที่จะทำมาตรการกดดันทางโซเชียลมีเดีย ด้วยการส่งต่อข้อความ อาทิ งดจ่ายประกันสังคมทั่วประเทศทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เป็นเด็กดีแล้วอด งดจ่ายเบี้ยประกันสังคมดีกว่า พร้อมติดแฮชแทค #จ่ายแล้วได้อะไร
ด้านนายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ.
ระบุว่า เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนการดำรงชีพผู้กู้ยืม กยศ. ได้มีมาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างชำระหนี้ ดังนี้
1. ลดเบี้ยปรับจาก 7.5% เหลือ 0.5% ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. - 31 ธ.ค. 2563
2. ลดจำนวนหักเงินเดือนเหลือ 10 บาท/คน/เดือน จากจำนวนเงินที่เคยแจ้งให้นายจ้างหักจากเงินผู้กู้ยืมทุกราย ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 30 มิ.ย. 2563
3. ลดเบี้ยปรับ 80% สำหรับผู้กู้ยืมทุกกลุ่มที่ค้างชำระหนี้ และปิดบัญชีในครั้งเดียว กรณีผู้กู้ยืมที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี ติดต่อชำระหนี้ที่ธนาคารกรุงไทยหรือธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย กรณีผู้กู้ยืมถูกดำเนินคดี ลงทะเบียนขอรับสิทธิได้ที่เว็บไซต์ กยศ. โดยผู้กู้ยืมต้องชำระค่าทนายความและค่าฤชาธรรมเนียมศาลให้เสร็จสิ้นก่อนชำระหนี้ปิดบัญชี โดยขยายระยะเวลาถึงวันที่ 30 ก.ย. 2563
4. ลดเบี้ยปรับ 75% เฉพาะผู้กู้ยืมที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ (ไม่ค้างชำระ) ติดต่อชำระหนี้ที่ธนาคารกรุงไทยหรือธนาคารอิสลามฯขยายระยะเวลาสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2563
5. พักชำระหนี้ให้แก่ผู้กู้ยืมที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2 ปี
6. ผ่อนผันการชำระหนี้ กรณีสถานการณ์ที่จำเป็น สำหรับผู้กู้ยืมที่ครบกำหนดชำระหนี้และไม่เป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ ยื่นคำขอผ่อนผันและส่งเอกสารหลักฐานไม่น้อยกว่า 60 วัน หรือก่อนครบกำหนดชำระหนี้ ในวันที่ 5 กรกฎาคม
• กรณีผู้กู้ยืมที่ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เกิน 8,008 บาทต่อเดือน ขอผ่อนผันได้ไม่เกิน 2 คราว คราวละไม่เกิน 1 ปี นับจากวันที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งในช่วงเวลาที่ได้รับการผ่อนผัน ผู้กู้ยืมไม่ต้องชำระหนี้ทั้งเงินต้น และดอกเบี้ย รวมถึงยกเว้นเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ได้รับการผ่อนผัน
• กรณีผู้กู้ยืมที่มีรายได้ถดถอย สามารถขอผ่อนผันให้ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ได้ตั้งแต่ 1.5 - 2.5 เท่าของระยะเวลาที่เหลืออยู่ตามสัญญากู้ยืมเดิม โดยขึ้นอยู่กับมูลหนี้คงเหลือ ในการชำระเงินงวดสุดท้ายผู้กู้ยืมต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปี และผู้กู้ยืมจะต้องทำบันทึกข้อตกลงกับกองทุน เพื่อนำยอดหนี้คงเหลือมาคำนวณใหม่และเฉลี่ยให้ชำระในแต่ละเดือนเท่าๆ กันภายในระยะเวลาที่ได้รับการผ่อนผัน
7. งดการขายทอดตลาด สำหรับผู้กู้ยืม หรือผู้ค้ำประกัน ที่กองทุนได้ดำเนินการยึดทรัพย์ไว้ทุกราย และขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการขายทอดตลาด กองทุนจะยื่นคำร้องของดการขายทอดตลาดทุกรายไปจนถึงสิ้นปี 2563 ต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้กู้ยืม และ/หรือ ผู้ค้ำประกันที่ถูกยึดทรัพย์ รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วม ผู้รับจำนองที่ยึดไว้ (ถ้ามี)
8. ชะลอการบังคับคดี สำหรับผู้กู้ยืม และ/หรือผู้ค้ำประกันทุกคดี กองทุนจะชะลอการบังคับคดีไว้ ยกเว้นกรณีที่คดีใกล้ขาดอายุความ กองทุนจำเป็นต้องดำเนินการบังคับคดีตามกฎหมายแต่จะงดการขายทอดตลาดไว้