ยานพาหนะนับล้านคันที่ก่อให้เกิดมลพิษกำลังจะหายไปจากท้องถนนในประเทศเยอรมนีแล้ว เมื่อศาลปกครองผ่านกฎหมายห้ามรถเครื่องยนต์ดีเซลเข้ามาวิ่งในเมืองใหญ่ เพื่อลดมลพิษในประเทศ
ศาลปกครองสูงสุดของเยอรมนีในเมืองไลป์ซิก ได้มีคำพิพากษาบังคับให้เมืองใหญ่ของเยอรมนีสั่งห้ามรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซลที่ใช้การมานาน และมีเครื่องยนต์เก่า ไม่ให้เข้ามาวิ่งบนท้องถนนในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะเมืองสตุตการ์ต และดุสเซลดอฟ ซึ่งเป็นเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดแห่งหนึ่งในเยอรมนี ขณะที่ทางการของรัฐเวิร์ทเทมเบอร์ก และนอร์ธไรน์ - เวสท์ฟาเลีย กำลังยื่นอุธรณ์ต่อสู้คัดค้านเรื่องนี้อยู่
คำตัดสินของเยอรมนีในครั้งนี้ เสนอโดยกลุ่มช่วยเหลือด้านสิ่งแวดล้อม Deutsche Umwelthilfe (ด๊อยท์เชอ-อุมเวลท์ไลฟ์) และองค์กร ClientEarth เพื่อปูทางก่อนนำไปบังคับใช้กับเมืองอื่นต่อไป โดยศาลระบุว่าการบังคับใช้อาจขึ้นอยู่กับแต่ละเมืองและหน่วยเทศบาลต่าง ซึ่งจะมีข้อยกเว้นสำหรับรถพยาบาล รถเก็บขยะ และรถตำรวจ
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังคาดการณ์ว่าปริมาณไนโตรเจนออกไซด์ที่มีจำนวนมากในประเทศเยอรมนี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศกว่า 6,000-13,000 คนต่อปี โดยเฉพาะโรคหืด ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจาการขนส่งที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล โดยเกณฑ์ที่สหภาพยุโรปกำหนดคือ ไนโตรเจนออกไซต์ต้องไม่เกิน 40 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่หลายเมืองในเยอรมนีกลับมีไนโตรเจนออกไซต์มากถึง 70 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เช่น สตุตการ์ต ,ดุลเซนดอร์ฟ ,โคโลญจน์ และมิวนิก
อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาของศาลปกครองถือเป็นคำตัดสินสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์และนโยบายด้านการขนส่ง ซึ่งคาดว่าจะมีรถราว 12 ล้านคันที่ได้รับผลกระทบ และส่งผลให้ประชาชนส่วนหนึ่งไม่สามารถเดินทางไปเรียนหรือไปทำงานได้ แต่ทางรัฐบาลเยอรมนีระบุว่าถือเป็นข้อกำหนดที่จริงจังในระดับโลกต่อการต่อต้านการใช้รถเครื่องยนต์ดีเซล