ไม่พบผลการค้นหา
World Trend - วิกฤติเวเนซุเอลากำลังทำร้าย 'วิทยาการ' - Short Clip
World Trend - ​​'โฟล์กสวาเกน' ปล่อยคาร์บอน 2% ของทั้งโลก - Short Clip
World Trend - ซิลิคอนแวลลีย์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือที่ใด - Short Clip
World Trend - 'เกรตแบร์ริเออร์รีฟ' อาจไม่สามารถฟื้นตัวได้อีก - Short Clip
World Trend - บริษัทไอที 32 แห่งลงนามสู้ภัยคุกคามทางไซเบอร์ - Short Clip
World Trend - อาดิดาสกับการเน้นครองใจวัยรุ่นจีน - Short Clip
World Trend - ยูเอ็นเผย 'บ้าน' คือสถานที่อันตรายสำหรับผู้หญิง - Short Clip
World Trend - พ่อเลี้ยงเดี่ยวเสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยอันควร - Short Clip
World Trend - คาด 30 ปีข้างหน้า อากาศโลกจะเปลี่ยนแปลงรุนแรง - Short Clip
World Trend - สื่อฮ่องกงเตือน ดูบอลโลกอาจถึงตาย - Short Clip
World Trend - แอมะซอนเตรียมเปิด 3,000 ร้าน ใน 3 ปี - Short Clip
World Trend - ตลาดกัญชาสร้างงานชาวอเมริกันกว่า 2 แสนราย - Short Clip
World Trend - ​'บาหลี' ยังไม่รักษ์โลกพอ - เร่งลดพลาสติกในทะเล - Short Clip
World Trend - แฮกเกอร์เล็งเจาะเกมออนไลน์เพิ่มขึ้นในปี 2019 - Short Clip
World Trend - เนเธอร์แลนด์ลงทุนเพิ่มให้คนใช้จักรยานมากขึ้น - Short Clip
World Trend - 'นางแบบดิจิทัล' ก้าวสำคัญของวงการแฟชั่น - Short Clip
World Trend - อังกฤษเตรียมแบนขนมหวานหน้าแคชเชียร์ - Short Clip
World Trend - ชนชั้นกลางจีนไม่มีลูกคนที่ 2 เพราะค่าใช้จ่ายสูง - Short Clip
World Trend - วิจัยชี้ ผู้หญิงมีแนวโน้มเข้าใจสุนัขมากกว่าผู้ชาย - Short Clip
World Trend - ธุรกิจกัญชาบูม มีแรงงานมากกว่าสาธารณสุข - Short Clip
World Trend - ญี่ปุ่นมุ่งแก้ปัญหาฆ่าตัวตายอย่างจริงจัง - Short Clip
Apr 11, 2019 05:24

ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบปัญหาการฆ่าตัวตายมากที่สุดในโลก ส่วนหนึ่งจากวิธีคิดที่ว่าปัญหานี้เป็น 'เรื่องส่วนตัว' แต่อัตราการฆ่าตัวตายของญี่ปุ่นกำลังลดลงเรื่อย ๆ จากแนวทางแก้ไขระดับประเทศ นำโดยจังหวัดที่ติดอันดับประชากรฆ่าตัวตายสูงสุด

'การฆ่าตัวตาย' เป็นปัญหาใหญ่ของญี่ปุ่นมายาวนาน ส่วนหนึ่งเพราะวิธีคิดที่ตกทอดกันมารุ่นสู่รุ่น ว่านี่คือวิธีหลีกเลี่ยงความขายหน้าหรือเสื่อมเสียเกียรติยศ ยิ่งไปกว่านั้น ที่ผ่านมาสังคมญี่ปุ่นยังคงมีอคติกับการขอความช่วยเหลือและเยียวยาสุขภาพจิตอยู่มาก ทำให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือไม่กล้าออกไปขอหรือหาความช่วยเหลือนั้น ซึ่งบทความหนึ่งของ เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ สื่อใหญ่จากฮ่องกง ยกตัวอย่างครอบครัววาตานาเบะขึ้นมา เพื่อสะท้อนภาพของปัญหาระดับชาตินี้อย่างร่วมสมัยยิ่งขึ้น

บทความดังกล่าวอ้างถึง ทาเอโกะ วาตานาเบะ ผู้เป็นแม่ ที่สูญเสีย ยูกิ ลูกชายวัย 29 ปี ไปเมื่อปี 2008 จากการฆ่าตัวตาย ซึ่งเธอกล่าวอย่างมั่นใจว่า หากลูกชายเธอ 'อยากตาย' ในช่วงเวลาปัจจุบันนี้ เขายังจะมีชีวิตรอด เพราะญี่ปุ่นสามารถรับมือกับปัญหานี้ได้ดีขึ้น และเขตปกครองที่พวกเขาอยู่ 'จังหวัดอากิตะ' ที่เคยมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่้สุดเป็นเวลาถึง 2 ทศวรรษ ก็สามารถรับมือได้ดีขึ้นเช่นกัน

ทุกวันนี้ คุณแม่วาตานาเบะ ซึ่งเคยคิดจะฆ่าตัวตายเช่นกันหลังลูกชายเสียชีวิต เป็นแกนนำในกลุ่มผู้รอดชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระดับชาติในการลดสัดส่วนประชากรฆ่าตัวตายลงอย่างเป็นระบบ จนสถิติล่าสุดชี้ว่าในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา อัตราฆ่าตัวตายในญี่ปุ่นลดลงมากถึง 40 เปอร์เซ็นต์ มากกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้เสียด้วยซ้ำ และในจังหวัดอากิตะเอง ปัญหานี้ก็เบาบางลงมาก โดยตัวเลขประชากรฆ่าตัวตายปัจจุบันถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 40 ปี

การฆ่าตายดูจะเป็นวิธีการรับมือกับชีวิตในแบบญี่ปุ่น และถือเป็นปัญหาส่วนตัวมานาน จนกระทั่งปี 2003 ที่ตัวเลขการฆ่าตัวตายพุ่งสูงถึง 34,427 ราย ทำให้รัฐบาลเริ่มเล็งเห็นว่าปัญหานี้เป็นเรื่องส่วนรวม ที่กระทบสังคมญี่ปุ่น และดึงดูดความสนใจประชาคมโลก ซึ่งควรต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็ว จนออกมาเป็นแผนการป้องกันการฆ่าตัวตายฉบับแรกเมื่อปี 2007

บริษัทต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสาเหตุความกดดันในชีวิตที่ผลักดันให้ลูกจ้างฆ่าตัวตาย ประสบปัญหาการถูกฟ้องร้องจากครอบครัวผู้เสียชีวิตอยู่หลายครั้ง และในปัจจุบันวัฒนธรรมภายในองค์กรเริ่มพัฒนา และเปิดให้ลูกจ้างสามารถลางานได้สะดวกขึ้น นอกจากนี้ ยังมีสวัสดิการสนับสนุนด้านจิตวิทยา มีช่องทางให้คำปรึกษา มีกฎหมายกำหนดช่วงเวลาในการทำงานล่วงเวลาอย่างชัดเจน รวมถึงให้บริษัททดสอบระดับความเครียดพนักงานเป็นรายปี โดยต้องสุ่มตรวจไม่น้อยกว่า 50 คนด้วย

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวถึงจังหวัดอากิตะ ในฐานะพื้นที่ที่มีการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในประเทศว่า บริเวณนี้ค่อนข้างห่างไกล มีตำแหน่งงานน้อย มีฤดูหนาวที่ยาวนาน มีประชากรสูงวัยที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวจำนวนมาก และมีปริมาณหนี้สูงเมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากร ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ง่าย อย่างไรก็ตาม จังหวัดอากิตะเริ่มแก้ปัญหาการฆ่าตัวตายก่อนที่รัฐบาลกลางจะออกมาตรการระดับชาติเสียด้วยซ้ำ โดยในปี 1999 ผู้ว่าการจังหวัดประกาศจัดสรรงบประมาณป้องกันการฆ่าตัวตาย ถือเป็นครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น และทำให้ผู้คนเริ่มตื่นตัวกับปัญหานี้มากขึ้น

ในปี 2016 ทางการท้องถิ่นญี่ปุ่นเริ่มมีอิสระในการพัฒนาแผนป้องกันประชากรฆ่าตัวตายมากขึ้น ซึ่งจังหวัดอากิตะก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีการพัฒนาแนวทางอย่างต่อเนื่อง และมีโครงการฝึกหัดทักษะแยกย่อยออกไปมากมาย เพื่อให้ประชาชนได้ใช้เวลาอย่างเป็นประโยชน์ เช่น การอบรมทักษะการตัดผม ที่อากิตะเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2017 จนทุกวันนี้มีคนผ่านโครงการแล้ว 3,000 คน ซึ่งทางจังหวัดตั้งเป้าจะอบรมให้ได้ 10,000 คน หรือเท่ากับ 1 คนจากประชากร 100 คน ภายในปี 2022

นอกจากนี้ อากิตะยังมีอาสาสมัคร 'นักฟัง' เพื่อมารับฟังผู้ที่อยากระบายปัญหาส่วนตัว และบรรเทา 'ความอยากตาย' ของผู้อื่น ซึ่งจากตัวเลขชี้ว่า ทุกโครงการของจังหวัดล้วนมีส่วนในการลดจำนวนคนฆ่าตัวตายได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือจาก 44.6 ต่อ 100,000 เมื่อปี 2003 มาอยู่ที่ 20.7 ต่อ 100,000 ในปี 2018 แม้จะยังเป็นพื้นที่ที่มีอัตราสูงที่สุดเป็นอันดับ 6 ของประเทศก็ตาม

ขณะที่ อัตราโดยรวมของทั้งประเทศก็ปรับลดลงจาก 27 ต่อ 100,000 มาอยู่ที่ 16.3 ต่อ 100,000 และตั้งเป้าจะทำให้ได้เหลือ 13 ต่อ 100,000 ภายในปี 2027 หรือในอีก 8 ปีข้างหน้า

เมื่อเทียบ 'ความหนักหนา' ของปัญหาการฆ่าตัวตายในประเทศอื่น เช่น สหรัฐฯ ที่มีประชากรมากกว่าญี่ปุ่นเกิน 2 เท่า จะพบว่าในปี 2017 อัตราการฆ่าตัวตายในสหรัฐฯ อยู่ที่ 14 ต่อ 100,000 หรือก็คือจำนวนเกือบเท่ากับเป้าหมายของญี่ปุ่นในอีก 8 ปีข้างหน้า เท่ากับว่า ญี่ปุ่นยังคงจำเป็นต้องผลักดันแนวทางการแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ แม้จะมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องแล้วก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้น ญี่ปุ่นยังต้องจับตาดูกลุ่มประชากรที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มอายุต่ำกว่า 19 ปีลงไป ที่สถิติล่าสุดยังชี้ว่ามีจำนวนฆ่าตัวตายสูง และสูงที่สุดในรอบ 30 ปี ที่ 543 คน


Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
184Article
76559Video
0Blog