นครเซี่ยงไฮ้เริ่มแยกขยะจริงจัง หวังลดปริมาณขยะจากครัวเรือนอย่างมีประสิทธิภาพ
นครเซี่ยงไฮ้ ของจีน เริ่มโครงการแยกขยะและรีไซเคิลอย่างจริงจังครั้งใหญ่ เพื่อต่อสู้กับปัญหาขยะล้นเมือง โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม และถือเป็นโครงการนำร่องที่หากประสบความสำเร็จ ก็จะถูกนำไปปรับใช้กับเมืองใหญ่อื่น ๆ ต่อไป ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นมาตรการจัดการขยะที่ใหญ่ที่สุดในโลก และหากทำสำเร็จจะช่วยลดปริมาณขยะโลกลงได้นับแสนตัน
ปัจจุบัน จีนมีขยะจากผู้บริโภค 1,400 ล้านคนทั่วประเทศ และในนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นเมืองขนาดใหญ่ ก็มีประชากรมากถึง 25 ล้านคน เท่ากับจำนวนขยะราว 26,000 ตัน โดยสถิติจากธนาคารโลกชี้ว่า เมื่อปี 1980 จีนทั้งประเทศผลิตขยะ 30 ล้านตัน แต่ในปี 2017 ตัวเลขดังกล่าวพุ่งขึ้นเป็น 210 ล้านตัน ซึ่งอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง
อย่างไรก็ตาม จีนยังผลิตขยะได้ไม่เท่าสหรัฐฯ ที่ผลิตมากถึง 258 ล้านตัน แต่จากประมาณการเบื้องต้น คาดว่าจีนอาจกลับมาผลิตขยะแซงหน้าสหรัฐฯ และนานาประเทศ โดยปริมาณขยะต่อปีอาจมากถึง 500 ล้านตัน ภายในปี 2030 เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ นำโดยการเติบโตของบริษัทอย่าง อาลีบาบา อีคอมเมิร์ซดังที่ส่งสินค้าไปทั่วโลกนับพันล้านชิ้นต่อปี