ความนิยมในการบริโภคชานมไข่มุกของคนไทย จนมีสารพัดยี่ห้อออกมาจำหน่าย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงสำรวจปริมาณน้ำตาลในชานมไข่มุก และนำมารายงานให้ผู้บริโภคได้รับทราบ และมีข้อมูลในการเลือกบริโภคครั้งต่อไป
องค์การอนามัยโลก กำหนดว่า ปริมาณน้ำตาลที่เหมาะสมในแต่ละวัน คนเราไม่ควรบริโภคเกิน 24 กรัม หรือ 6 ช้อนชา เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ หลายคนมักจะสงสัยว่าเราจะทราบได้อย่างไรว่าในอาหารแต่ละมื้อและเครื่องโปรดที่เราชื่นชอบมีปริมาณน้ำตาลมากน้อยเพียงใด
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงทำการสำรวจปริมาณน้ำตาลในชานมไข่มุก หนึ่งในเครื่องดื่มยอดนิยมของคนไทยในขณะนี้มารายงาน โดยสำรวจทั้งปริมาณน้ำตาล สารกันบูด โลหะหนัก และไขมัน ไปพร้อมกันในชานมไข่มุก 25 ยี่ห้อ โดยสุ่มเก็บตัวอย่างชานมไข่มุกในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ขนาดแก้วปกติ แบบไม่ใส่น้ำแข็ง ในกลุ่มราคาตั้งแต่แก้วละ 23 ถึง 140 บาท
ผลการตรวจสอบ พบว่า มีชานมไข่มุกเพียง 2 ยี่ห้อเท่านั้น ที่มีน้ำตาลน้อยกว่า 24 กรัม หรือน้อยกว่า 6 ช้อนชา คือ ยี่ห้อ KOI the’ มี 16 กรัม หรือ 4 ช้อนชา และยี่ห้อ TEA 65 มีปริมาณน้ำตาล 22 กรัมหรือ 5.5 ช้อนชา ส่วนอีก 23 ยี่ห้อมีปริมาณน้ำตาลตั้งแต่ 29 กรัม หรือ 7.25 ช้อนชาขึ้นไปจนถึงสูงสุดที่ 74 กรัม หรือ 18.5 ช้อนชา ซึ่งแต่ละวันรวมทุกมื้ออาหารคนเราไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชา
ส่วนผลทดสอบสารกันบูด ทุกยี่ห้อมีสารกันบูดทั้งหมด และทุกยี่ห้อ มีปริมาณสารกันบูดไม่เกินค่ามาตรฐาน และที่น่ายินดี คือ จากการสำรวจไม่พบสารตะกั่วในไข่มุกแม้แต่ยี่ห้อเดียว
ทันตแพทย์หญิงมัณฑนา ฉวรรณกุล รองผู้จัดการโครงการฯเครือข่ายไม่กินหวาน แนะนำว่า ปริมาณน้ำตาลที่บริโรคจนเกินความจำเป็น จะทำให้ผู้บริโภค ป่วยด้วยโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน รวมถึงโรคอ้วน และโรคฟันผุเพิ่มมากขึ้น ที่ผ่านมา ได้พยายามขอความร่วมมือผู้ประกอบการลดปริมาณน้ำตาลลง มีบางยี่ห้อให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่เรื่องแบบนี้ ตัวผู้บริโภค คือหัวใจหลักของเรื่องว่าจะเลือกบริโภคอย่างไร