คณะกรรมการจัดการแข่งขันโอลิมปิก ได้ทดสอบปล่อยหิมะเทียมเป็นหนึ่งในวิธีบรรเทาอากาศร้อน ด้วยความกังวลว่าอุณหภูมิซึ่งสูงขึ้นในช่วงหลายปีมานี้จะกระทบต่อการแข่งขัน หลังมีนักกีฬาหลายรายมีอาการฮีทสโตรกในช่วงการแข่งทดสอบสนาม
สืบเนื่องจากอากาศช่วงหน้าร้อนของประเทศญี่ปุ่นในช่วงหลายปีมานี้ มีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดความกังวลว่าจะกระทบการแข่งขันโอลิมปิก 2020 ซึ่งจะจัดขึ้น ณ กรุงโตเกียว ในวันที่ 24 กรกฎาคมปีหน้า ทางผู้จัดจึงได้สรรหาวิธีต่างๆ มาบรรเทาความร้อน เช่นหมวกร่มหรือร่มสวมหัวและล่าสุดได้มีการทดสอบปล่อยหิมะเทียมทำจากเกล็ดน้ำแข็งในวันที่ 13 กันยายน ซึ่งเป็นวันที่จัดแข่งเรือแคนูเพื่อทดสอบสนาม
ทากะ โอคามุระ จากคณะกรรมการจัดการแข่งขันโอลิมปิกโตเกียว 2020 กล่าวว่าทางผู้จัดไม่ได้ตั้งใจจะใช้วิธีการนี้เพื่อลดอุณหภูมิของอากาศโดยรอบลง แต่ต้องการให้ผู้เข้าชมการแข่งขันรู้สึกสดชื่นขึ้นเมื่อเกล็ดน้ำแข็งสัมผัสตัวพวกเขา ทางคณะกรรมการตั้งใจลองทุกทางที่เป็นไปได้เพื่อบรรเทาความเสี่ยงจากอากาศร้อน
อย่างไรก็ตาม การทดลองนี้ประสบปัญหาในทันที เนื่องจากบรรดาทีมงานอาสาสมัคร 150 คนที่ประจำตำแหน่งผู้ชมการแข่งขันนั้น ถูกโปรยน้ำแข็งป่น 300 กิโลกรัมใส่ภายในเวลาไม่กี่นาที ทำให้พวกเขาเปียกโชกอย่างรวดเร็ว และพื้นก็แฉะกระทั่งมีนักข่าวรายหนึ่งถึงกับลื่นล้ม แม้อุณหภูมิในวันที่ทดสอบปล่อยหิมะจะลดลงจากปกติจนอยู่ที่ 25 องศาเซลเซียสแล้วก็ตาม
โอคามุระปฏิเสธจะเผยว่าต้องใช้งบประมาณเท่าไรในการติดตั้งเครื่องปล่อยหิมะเทียมทั่วทั้งพื้นที่จัดการแข่งขัน โดยบอกว่ายังอยู่ในขั้นทดสอบเท่านั้น สำหรับไอเดียอื่นๆ ที่เคยลองมาก่อนหน้านี้มีทั้งการปล่อยละอองน้ำ การแจกน้ำและซองน้ำแข็งประคบ และรณรงค์ให้สวมหมวกติดร่ม
ทางคณะกรรมการผู้จัดการแข่งขันยังกล่าวอีกว่าการแข่งขันมาราธอนจะจัดในเวลา 6 โมงเช้าเพื่อเลี่ยงอากาศร้อนในช่วงเที่ยง และระยะทาง 42 กิโลเมตรนั้นจะถูกทาด้วยวัสดุที่ทำจากเรซินเพื่อสะท้อนรังสีอินฟราเรด และลดอุณภูมิลงถึง 8 องศาเซลเซียส
ทั้งนี้ ในการทดสอบสนามเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม นักไตรกีฬาชาวฝรั่งเศสถูกนำส่งโรงพยาบาล โดยสันนิษฐานว่ามีอาการป่วยที่เป็นผลจากอาการร้อน และในวันเดียวกันนั้นนักกีฬาว่ายน้ำ ที่ทดสอบแข่งว่ายน้ำมาราธอนก็ร้องเรียนว่าน้ำมีอุณหภูมิไม่เหมาะสม ในการแข่งพายเรือรุ่นเยาวชิงแชมป์โลกในวันที่ 11 สิงหาคม ก็มีนักกีฬามีอาการของฮีทสโตรกอย่างน้อย 3 ราย
การรับมือกับอากาศร้อนจึงยังคงเป็นโจทย์สำคัญสำหรับเจ้าภาพอย่างญี่ปุ่น สำหรับการแข่งขันโอลิมปิกซึ่งจะจัดขึ้นในอีกไม่ถึงหนึ่งปีข้างหน้านี้