ปัจจุบัน มีหลายแบรนด์แฟชั่นที่สร้างสรรค์ ‘นางแบบดิจิทัล’ มาใช้โฆษณาสินค้า เพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่สนใจเทคโนโลยี โดยคนในวงการแฟชั่นมองว่า การใช้นางแบบเสมือนจริงนี้มีประโยชน์ ในขณะที่บางส่วนมองว่า เป็นเพียงกระแสที่จะหมดไปในไม่ช้า
เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ‘Balmain (บัลแมง)’ แบรนด์แฟชั่นหรูจากฝรั่งเศส ได้เปิดตัวแคมเปญใหม่โดยนำ ‘นางแบบดิจิทัล’ มาใช้ในการโฆษณาสินค้า ซึ่งทำให้หลายคนสนใจนางแบบเสมือนจริงทั้งสามเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น นางแบบลุกตะวันตกอย่าง ‘Margot (มาร์โก)’ นางแบบเชื้อสายจีนที่ชื่อ ‘Zhi (จี)’ และที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ ‘Shudu (ชูดู)’ นางแบบผิวสีที่มีผู้ติดตามมากกว่า 145,000 บัญชีทางอินสตาแกรม โดยในบัญชีอินสตาแกรมของเธอระบุว่า เธอเป็น “ซูเปอร์โมเดลดิจิทัลแรกของโลก”
อย่างไรก็ตาม การทำนางแบบดิจิทัลได้ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์ไม่น้อยในโลกแฟชั่น โดยสำนักข่าวรอยเตอร์สได้ไปสำรวจความคิดเห็นคนในอุตสาหกรรมที่งานนิวยอร์กแฟชั่นวีก รวมถึงลอนดอนแฟชั่นวีก ซึ่งมีความเห็นทั้งสนับสนุนและคัดค้านนางแบบดิจิทัล
โดยดีไซเนอร์ชื่อดังอย่าง ‘Michael Kors (ไมเคิล คอรส์)’ เปิดเผยว่า เขาไม่ได้อินไปกับการใช้นางแบบดิจิทัล เพราะเขาสนใจคนจริง ๆ ที่มีบุคลิกและความคิดเห็นเฉพาะตัว ซึ่งเขาหวังว่าแนวคิดที่จะนำนางแบบคอมพิวเตอร์กราฟิกมาใช้นั้นจะไม่ได้รับความนิยม
ขณะที่ดีไซเนอร์อังกฤษ ‘Alice Temperley (อลิส เทมเปอร์ลีย์)’ มองว่า การใช้นางแบบดิจิทัลจะช่วยลดต้นทุนได้ไม่น้อย รวมทั้งยังได้กระแสในการโฆษณาสินค้าและจัดอีเวนต์ต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม เธอเชื่อว่าการใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกนั้นส่งผลดีต่อเว็บไซต์ และการขายสินค้าออนไลน์ แต่อาจจะไม่ช่วยให้แบรนด์ดูมีชีวิตชีวาหรือมีสีสันเท่าไรนัก เพราะเป็นเรื่องเฉพาะตัว
ด้าน ‘Cameron-James Wilson (คาเมรอน-เจมส์ วิลสัน)’ ศิลปินผู้สร้างสรรค์นางแบบดิจิทัล ‘Shudu’ ขึ้นมามองว่า การนำ CGI มาใช้ในโลกแฟชั่นเป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยง เพราะอุตสาหกรรมอื่นก็นำไปใช้กันหมดแล้ว โดยโลกของ 3D และแฟชั่นได้ถูกกำหนดมาให้บรรจบกันในสักวัน