‘อ.พิชญ์-อ.วิโรจน์’ ติง ‘บิ๊กป้อม’ หลงในโพลที่ชื่นชมรัฐบาลว่า จัดการทุกอย่างได้ดี โดยไม่สนใจตอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแก้ปัญหา หลับหูหลับตาไม่รับฟังคำแนะนำของใครทั้งสิ้น คนวิจารณ์แง่ลบ ก็ยัดเยียดว่าเป็นพวกชอบสร้างความแตกแยก สุดท้ายก็แก้อะไรไม่ได้ คนที่ต้องรับกรรมคือประชาชน
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย และอดีต รมว.สาธารณสุข ได้โพสต์เฟซบุ๊ก เรียกร้องให้นายกฯเร่งตดสินใจยกระดับการควบคุมการระบาดโควิด-19 โดยระบุว่า ตามที่ได้เสนอไป เมื่อ 17 มีนาคมเพื่อ ”สยบ”การระบาดภายใน 21 วัน ทำเลยค่ะ จะมัวรออะไรกันอยู่ !!“จบเร็ว คนไทยปลอดภัย เศรษฐกิจฟื้นเร็ว”
หัวใจของการควบคุมการระบาดคือ 1. ”ปิด” ไม่ให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่เข้าประเทศอย่างเด็ดขาด 2. “เปิด” ปฏิบัติการค้นหาผู้ติดเชื้อX-Ray ปูพรมทั้งประเทศเพื่อนำผู้ติดเชื้อรายใหม่เข้าระบบให้มากที่สุดและเร็วที่สุด
สำหรับรายละเอียดของข้อเสนอมีดังนี้ 1. “ปิด” ไม่ให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เข้าประเทศอย่างเด็ดขาด โดยขอเสนอมาตรการขั้นเด็ดขาดให้นายกรัฐมนตรีเลือก 2 มาตรการ คือ A. ประกาศปิดประเทศ ไม่รับผู้เดินทางจากต่างประเทศหรือ B. ประกาศให้ผู้เดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ต้องถูกกักตัวเฝ้าระวังสังเกตอาการ 14 วัน โดยรัฐบาลเช่าโรงแรมเป็นสถานที่กักกันตัว มีเจ้าหน้าที่ดูแล ตาม พ.ร.บ. ควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด ใครฝ่าฝืนมีโทษ
2. “เปิด” ปฏิบัติการค้นหาผู้ติดเชื้อ Covid-19 ทั่วประเทศ ให้เสร็จภายใน 21 วัน เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อรายใหม่ให้ได้มากที่สุดเร็วที่สุดโดยปูพรมเอกซเรย์ทุกหมู่บ้าน ให้ผู้ที่มีอาการป่วยมีไข้ ไอ เข้า #ตรวจเชื้อ Covid19 ฟรี ภายใต้การวินิจฉัยของแพทย์ โดยใช้กลไกของสาธารณสุขที่มีทั้งโรงพยาบาลชุมชน, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ และ อสม. อยู่ทั่วประเทศ โดยใช้กลไกของมหาดไทยช่วยสนับสนุน กรุงเทพฯ ใช้ กทม. เข้ามาช่วย X-RAY ปูพรมทั้งประเทศ 3 รอบให้เสร็จภายใน 21 วัน เพราะหัวใจสำคัญของการควบคุมการระบาดในประเทศ คือการค้นหาผู้ติดเชื้อให้ได้มากที่สุด รวดเร็วที่สุด เมื่อเปิดปฏิบัติการนี้แล้ว พบผู้ติดเชื้อมากขึ้นในเวลารวดเร็ว และนำมาเข้าระบบรักษาและควบคุมโรค แปลว่า ประชาชนภายนอกจะปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น
3.รัฐบาลต้องเร่งเตรียมความพร้อมด้านสถานที่รองรับผู้ป่วยที่จะเพิ่มมากขึ้น และผู้ที่ต้องกักตัวตาม พ.ร.บ.โรคระบาด ซึ่งดิฉันแนะนำให้รัฐเช่าโรงแรมที่อยู่ชานเมือง รวมทั้งต้องเร่งเตรียมอุปกรณ์ เครื่องมือเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ให้พร้อมเพรียง
รัฐบาลต้องทุ่มงบประมาณให้ทุกโรงพยาบาล เพื่อจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ในการป้องกันตัวเองของบุคลากรแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ บุคลากรที่เป็น “นักรบ Covid-19 ด่านหน้า” ให้พร้อมเพรียง อย่าให้ขาดแคลนอย่างหน้ากากอนามัยอีก และเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่บุคลากร ซึ่งถือเป็น “นักรบ Covid-19 ด่านหน้า” รัฐบาลต้องจ่ายเบี้ยความเสี่ยงให้แก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานทุกคน
ปฏิบัติการเร่งด่วนทั้งหมดนี้ เพื่อสยบการระบาดให้เราควบคุมได้ภายใน 21 วัน #ผู้นำต้องกล้าตัดสินใจ
รอช้าไม่ได้อีกแล้ว ต้องลงมือทำเพื่อประชาชนโดยด่วน ขณะนี้ประชาชนสับสน ไม่มั่นใจในความไม่ปลอดภัยของตนเอง วิตกทั้งเรื่อง Covid-19วิตกทั้งเรื่องรายได้ที่เหือดหาย
“จบเร็ว คนไทยปลอดภัย เศรษฐกิจฟื้นเร็ว”จึงจะเป็น “ชัยชนะ” ที่แท้จริงของคนไทย และประเทศไทย #Endgame #Covid19
ด้านพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ข้อเสนอของคุณหญิงสุดารัตน์ คงต้องพิจารณากันก่อน แต่ขณะนี้สถานการณ์เรายังไม่ถึงขั้นแพร่ระบาดในระยะ 3 ถ้าถึงระยะที่ 3 ค่อยพิจารณา ตอนนี้ยังไม่ต้อง และใครที่มีโอกาสจะเป็นก็มาตรวจ เพราะสำหรับผู้มีความเสี่ยงเขาให้ตรวจฟรีอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม คนไทยในต่างประเทศที่จะเดินทางกลับสามารถทำได้ เราไม่ปิดกั้น
เมื่อถามว่า มีเสียงวิจารณ์รัฐบาลทำงานล่าช้า พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เห็นมีการสำรวจความเห็นประชาชนยังเชื่อมั่นต่อรัฐบาล ส่วนการเปิดค่ายทหารเป็นโรงพยาบาลสนามนั้น เราใช้ทุกค่ายที่สามารถทำได้ แต่สถานการณ์ต้องไปถึงระยะที่ 3 ก่อนถึงจะดำเนินการ ตอนนี้เป็นเพียงการเตรียมการ
ส่วนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ตลอดช่วงเช้า อยู่ที่บ้านพักในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) กระทั่งเวลา 11.00 น. จึงเดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาล โดยไม่มีการแจ้งภารกิจใดๆ และวาระทำเนียบรัฐบาลไม่มีขึ้นภารกิจของนายกฯ
อย่างไรก็ตาม มีกระแสคาดการณ์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ อาจเกิดความไม่สบายใจ หลังมีข่าวคณบดีแพทย์ศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เชิญมาหารือที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 19 มี.ค. เพื่อขอรับทราบแนวทางการรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เสนอข้อมูลและเหตุผลถึงความจำเป็นในการล็อกดาวน์ ให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน เพราะถ้ายังทำแบบเดิมอาจจะมีการเสียชีวิตถึง 7,039 คน
ในสัปดาห์หน้าพล.อ.ประยุทธ์ จะเชิญภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า มาพูดคุยที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อรับฟังผลกระทบในมิติต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ลูกจ้าง ซึ่งพบว่ามีตัวเลขค่อนข้างสูงที่จะได้ความเดือดร้อน จากมาตรการของรัฐบาลในการรับมือการแพร่ระบาดของโรค
พร้อมรับฟังข้อเรียกร้องจากภาคเอกชน ที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ รวมถึงผลกระทบ หากรัฐบาลจำเป็นต้องตัดสินใจประกาศการแพ่ระบาดระยะ 3 หรือหากมีความจำเป็นต้องปิดประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลจะเพิ่มมาตรการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน โดยเฉพาะความมั่นใจระบบสาธารณสุขของไทย ทั้งการป้องกันการระบาด การกักกัน การรักษาผู้ติดเชื้อ
นอกจากนี้ ในสัปดาห์หน้าอาจจะเริ่มมีการปรับรูปแบบการทำงานของข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ที่มาปฏิบัติงาน ในทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการกระทรวงสาธารณสุข
สำหรับข้อมูลที่คณะแพทย์เสนอต่อนายกฯ เมื่อวันที่ 19 มี.ค. ถึงความจำเป็นในการล็อกดาวน์ประชาชน ให้ "อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ" กับภาพอนาคต 30 วัน หากใช้มาตรการล็อกดาวน์ให้ประชาชนอยู่ในบ้าน
โดยตัวเลขคาดการณ์จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อ จะอยู่แค่ 24,269 คน /นอนโรงพยาบาล 3,640 คน / ไอซียู 1,213 คน และ เสียชีวิต 485 คน
แต่หากยังทำแบบที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ไม่หยุดการเคลื่อนย้ายของประชากร (ภายใน 30 วัน) คาดการณ์ว่าจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อ จะสูงถึง 351,948 คน นอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 52,792 คน /อยู่ไอซียู 17,597 คน และเสียชีวิต 7,039 คน