มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เตรียมส่ง ‘แนคแซท’ (KNACKSAT) ดาวเทียมขนาดเล็กดวงแรกของไทยที่ออกแบบและสร้างสรรค์โดยคนไทย ขึ้นสู่วงโคจรกลางเดือนสิงหาคมนี้ ด้วยจรวด SpaceX Falcon 9 (สเปซเอ็กซ์ ฟาลคอนไนน์)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเหล้าพระนครเหนือ เปิดเผยความพร้อมการปล่อยดาวเทียม 'แนคแซท (KNACKSAT)' ซึ่งเป็นดาวเทียมขนาดเล็กเพื่อการศึกษาสัญชาติไทยดวงแรกที่ออกแบบและสร้างขึ้นโดยคนไทย ก่อนจะขึ้นสู่วงโคจรในเดือนสิงหาคมนี้
โดยดาวเทียมแนคแซท เป็นดาวเทียมรูปแบบคิวแซท (Cubesat) ขนาด 10 คูณ 10 คูณ 10 ลูกบาศก์เซนติเมตร มีน้ำหนักราว 1 กิโลกรัม ที่ออกแบบและสร้างสรรค์โดยนักศึกษาและอาจารย์ จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งโครงการแนคแซทเริ่มในปี 2555 หลังจากนั้นได้รับการสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. โดยผ่านขั้นตอนการทดสอบตามมาตรฐานนาซา ก่อนจะสร้างเสร็จสมบูรณ์ในเดือนกันยายน ปี 2560 พร้อมตั้งสถานีรับ-ส่งสัญญาณภาคพื้นดินกับดาวเทียมแนคแซทเรียบร้อยแล้ว
ขณะนี้แนคแซทถูกเก็บไว้ภายในห้องปลอดฝุ่นตามมาตรฐานการจัดสร้างยานอวกาศ ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ. ก่อนจะนำส่งขึ้นสู่วงโคจรกับมิชชั่น SSO-A ด้วยจรวด SpaceX Falcon 9 ที่ฐานยิงจรวดในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ในเดือนสิงหาคมนี้ โดยมีภารกิจหลักคือการถ่ายภาพโลกจากอวกาศในระดับความสูง 600 กิโลเมตรจากพื้นโลก ซึ่งการถ่ายภาพนี้จะใช้กล้องที่มีความละเอียด 1-2 กิโลเมตร ต่อพิกเซล หรือเทียบเท่ากับกล้องไอโฟน 4 เพื่อจำกัดงบประมาณและน้ำหนัก เพราะค่าใช้จ่ายในการนำดาวเทียมขึ้นนั้นราคาสูงถึง 4 ล้านบาท ต่อ 1 กิโลกรัม ซึ่งคาดว่าจะปฎิบัติภารกิจในอวกาศราว 2 ปี หรือมากกว่านั้น
โดย ดร.พงศธร สายสุจริต ผู้จัดการโครงการฯ มองว่า โครงการนี้ไม่ได้สร้างแค่ดาวเทียม แต่เป็นการสร้างบุคลากร ซึ่งเป้าหมายจริง ๆ ไม่ใช่การนำถ่ายภาพไปใช้งาน แต่เป็นการพิสูจน์ว่าเรามีเทคโนโลยีในการสร้างดาวเทียม ซึ่งหากทำสำเร็จ ก็มีโอกาสที่จะพัฒนาไปสร้างยานอวกาศในอนาคตต่อไป