ช่วงนี้กระแสละครเวทีมิวสิคัลในไทยถือว่ากำลังมาแรงทีเดียว โดยล่าสุด โหมโรง เดอะมิวสิคัล ที่เป็นโปรดักชัน 'รีสเตจ' รอบที่สาม เพิ่งประกาศเพิ่มรอบการแสดงไปเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่ แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล ที่เคยแสดงไว้เมื่อปี 2552 ก็กลับมาปรับบทและตีความใหม่อีกครั้ง และได้รับเสียงตอบรับที่ดี วันนี้เราจะมาคุยกันว่า 'ละครเวที' ที่ประสบความสำเร็จส่วนหนึ่งจะคล้ายภาพยนตร์และละคร ที่คนดูจะ 'ไว้ใจ' เนื้อเรื่องที่ถูกทำซ้ำหรือที่คุ้นเคยมากกว่าเรื่องใหม่หรือไม่
ช่วงนี้ถือว่าคอละครเวทีกำลังมีรายจ่ายเยอะทีเดียว เพราะนอกจากละครเวทีมิวสิคัลโปรดักชันใหญ่ที่กำลังแสดงอยู่นั้น ละครเวทีโรงเล็กก็มีแนะนำเป็นอีเวนต์ในเฟซบุ๊กอยู่หลายเรื่อง ซึ่งราคาบัตรอยู่จะอยู่ที่ราว 400 - 500 บาท ขึ้นกับชื่อชั้นของบริษัทที่ผลิตและนักแสดง แต่หากจะไม่พูดถึงละครโรงเล็กเรื่องใหม่ ๆ ที่สร้างมาให้คอละครเวทีตัวจริงเลือกชม เราจะพูดได้ว่าคนทั่วไปมักเข้าถึงละครเวทีแค่โปรดักชันใหญ่ ๆ ที่มีการโปรโมตในหลายช่องทาง
หนึ่งในละครเวทีคุณภาพที่เพิ่งประกาศเพิ่มรอบการแสดงไปเมื่อวันศุกร์คือ โหมโรง เดอะมิวสิคัล ที่กลับมารีสเตจรอบที่สามแล้ว และเสียงตอบรับยังคงดีอยู่ ขณะที่อีกเรื่องของอีกเวทีใหญ่อย่างเมืองไทยรัชดาลัยก็คือ แม่นาคพระโขนง เดอะมิวสิคัล ที่มีแก่นเรื่องที่คนทั่วไปคุ้นเคย และแม้จะเคยถูกหยิบมาเล่นเมื่อปี 2552 ไปแล้ว การกลับมาครั้งนี้กับการตีความบทใหม่ก็ยังคงน่าดู และได้รับการตอบรับที่อบอุ่นจากแฟน ๆ
ท่ามกลางการเปิดตัวโปรดักชันใหม่ ๆ ที่ผ่านมาในปีนั้น โหมโรงและแม่นาคยังคงยืนระยะและเป็นกระแสได้อย่างน่าจับตา จึงน่าสังเกตว่า ละครเวทีที่ได้รับความสนใจมักมีเนื้อหาที่ถูกผลิตซ้ำ และคนดูคุ้นเคย ไม่ต่างจากภาพยนตร์หรือละครหลายเรื่องที่ไม่ว่าจะถูกนำมาสร้างใหม่กี่ครั้งก็ยังถูกใจผู้ชม
สำหรับ 'แม่นาค' นั้น ปีนี้ถือว่าครบรอบ 10 ปี พอดีด้วย แล้วก็ได้ยินว่าจะมีอีกโปรดักชันหนึ่งสร้างขึ้นมาให้คนดูเลือกชมอีก นอกเหนือจากมิวสิคัลที่จัดแสดงอยู่ สิ่งนี้เป็นอีกข้อที่เน้นย้ำว่าในแง่นั้น 'การผลิตซ้ำ' ยังเป็น Safe Bet หรือทางเลือกที่การันตีว่าประสบความสำเร็จ ของวงการละครเวทีอยู่ คล้ายกับการแสดงโปรดักชันคลาสสิกของทางฝั่งบรอดเวย์และเวสต์เอนด์ ซึ่งก็น่าสนใจว่าของไทยเราจะเติบโตไปจนมีผลงานหมุนเวียนเช่นนั้นได้เมื่อไร
ปัจจุบัน วงการละครเวทีไทยยังคงพัฒนาและเติบโตต่อเนื่อง แม้ละครโรงเล็กจะไม่ได้รับการโปรโมตในวงกว้างก็ตาม แต่โซเชียลมีเดียก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้คนเข้าถึงศาสตร์และการแสดงมากขึ้นกว่าสมัยก่อน อย่างเช่น เทศกาลละครนานาชาติสำหรับเด็กและเยาวชน 2561 ที่เพิ่งจบลงไปเมื่อวาน ก็มีหลากหลายศิลปิน ทั้งจากในและต่างประเทศ มาแสดงให้เด็ก ๆ และผู้ปกครองชม ถือเป็นการเข้าถึงละครเวทีแบบที่เด็กรุ่นก่อน ๆ ไม่มีโอกาส
หนึ่งในการแสดงที่ยังเป็นที่รู้จักในวงแคบ แต่มีฐานแฟนคลับอย่างหนาแน่นพอสมควรคือ Babymime คณะละครใบ้ฝีมือดีสัญชาติไทย ที่หยิบเรื่อง Star Wars มาเล่น เล่าถึงครอบครัวที่แตกแยก พ่อแม่ทะเลาะกัน ในขณะเดียวกันก็เลือกที่จะเล่าถึงอย่างสนุก ถือเป็นอีกชิ้นงานที่เด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูดี และเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการทำศิลปะให้เปิดกว้าง ตอบสนองผู้ชมกลุ่มใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ
ไม่ว่าผู้ชมไทยจะชื่นชอบผลงานกระแสหลักหรือกระแสรอง การมีอยู่ของละครเวทีทั้งสองประเภท ทั้งรีสเตจและเรื่องใหม่ ล้วนเป็นสัญญาณที่ดี ที่บ่งชี้ว่าวงการละครเวทีไทยยังสามารถเติบโตขึ้นได้จากที่เป็นอยู่ทุกวันนี้อย่างแน่นอน