ทีมแพทย์ในเดนมาร์กคิดค้น 'รังไข่เทียม' เพื่อเตรียมต่อยอดเป็นทางเลือก สำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่สูญเสียระบบสืบพันธุ์ระหว่างการรักษา ให้สามารถมีบุตรได้
ทีมแพทย์ในกรุงโคเปนเฮเกน ของเดนมาร์ก สามารถพัฒนา 'รังไข่เทียม' จากเนื้อเยื่อมนุษย์ขึ้นภายในห้องทดลอง เพื่อเป็นทางออกสำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องการมีบุตร ในกรณีที่การรักษาด้วยการเคมีบำบัด การฉายรังสี หรือวิธีรักษาอื่น ๆ ไปทำลายระบบสืบพันธุ์เพศหญิง โดยรังไข่เทียมนี้สามารถรักษาไข่ไว้ภายในได้ครั้งละหลายสัปดาห์ ถือเป็นการช่วยแก้ปัญหาผู้ป่วยมะเร็งเพศหญิงที่หมดโอกาสในการมีบุตรขึ้นไปอีกขั้น
นอกจากนี้ หลักการนำรังไข่เทียมไปใช้ยังอาจช่วยผู้ป่วยโรคเอ็มเอส หรือ มัลติเพิล สเคลอโรซิส และโรคโลหิตจาง บีตา ทาลัสซีเมีย ได้ด้วย เพราะกระบวนการรักษาทั้งสองโรคส่งผลเสียต่อระบบสืบพันธุ์เช่นเดียวกัน ขณะที่ ผู้หญิงที่ใกล้วัยหมดประจำเดือนก็อาจเป็นอีกกลุ่มตัวอย่างที่ได้ประโยชน์จากวิทยาการใหม่นี้
ปัจจุบัน ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งมีทางเลือกที่จะเก็บเนื้อเยื่อรังไข่และแช่แข็งไว้ก่อนรับการรักษา โดยเมื่อรักษาจนหายดีแล้ว ค่อยนำเนื้อเยื่อมาละลายและใส่กลับเข้าร่างกายอีกครั้ง ซึ่งวิธีเช่นนี้จะใช้ไม่ได้กับผู้ป่วยมะเร็งรังไข่และมะเร็งเม็ดเลือด หรือ ลูคีเมีย เพราะเนื้อเยื่อที่เก็บไว้อาจเป็นเนื้อร้าย เมื่อใส่กลับเข้าร่างกายจะเพิ่มความเสี่ยงที่มะเร็งจะกลับมาลุกลามอีกครั้ง การแช่แข็งเนื้อเยื่อรังไข่จึงเป็นวิธีที่แพทย์จะไม่แนะนำให้ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงทำ
ซูซาน พอร์ส หนึ่งในทีมวิจัย เชื่อว่า รังไข่เทียมจะกลายเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าวิธีเดิม ๆ สำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องการมีบุตร และความสำเร็จในการพัฒนารังไข่เทียมครั้งนี้ถือเป็นก้าวกระโดดสำคัญของวงการแพทย์ อย่างไรก็ตาม ยังต้องใช้เวลาอีกหลายปี ก่อนจะนำมาใส่ในร่างกายได้จริง โดยเบื้องต้น เธอคาดว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปี ก่อนที่วิธีดังกล่าวจะปลอดภัยพอ