สำนักข่าวบลูมเบิร์กจัดอันดับ 'ดัชนีนวัตกรรมโลก 2018' ประเทศไทยรั้งท้าย สหรัฐฯหลุดโผ 10 อันดับประเทศแรก ส่วนเกาหลีใต้ครองแชมป์อันดับ 1 ของโลก 5 ปีซ้อน
สำนักข่าวบลูมเบิร์กจัดอันดับ 'ดัชนีนวัตกรรมโลก 2018' หรือ 2018 Bloomberg Innovation Index จากทั้งหมด 50 ประเทศทั่วโลกที่มีการแข่งขันด้านการพัฒนานวัตกรรมต่างๆอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลปรากฎว่าประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ใน 10 อันดับสุดท้ายของประเทศที่มีการพัฒนาด้านนวัตกรรมเช่นเดิม แต่ข่าวร้ายกว่านั้นก็คือแม้ในปัจจุบัน Ecosystem ด้านนวัตกรรมของไทยจะเติบโตขึ้นและถูกเติมเต็มมากขึ้นอย่างมาก แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เราได้รับการยกระดับขึ้นบนเวทีโลก
จากเดิมเมื่อปี 2017 ไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่อันดับที่ 44 แต่ปีนี้กลับถูกลดลงมาอยู่อันดับ 45 จากทั้งหมด 50 ประเทศ แสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่าแม้ไทยจะพยายามพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมอย่างไม่หยุดนิ่ง ทุกประเทศทั่วโลกก็กำลังทำทุกวิถีเพื่อการเติบโตของนวัตกรรมในประเทศเช่นเดียวกัน
ประเทศที่ครองแชมป์อันดับ 1 ในดัชนีนวัตกรรมของบลูมเบิร์กตกเป็นของผู้นำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งเอเชียอย่างประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นการครองแชมป์ติดต่อกันเป็นปีที่ 5 แล้ว โดยบริษัทซัมซุง ซึ่งนอกจากจะบริษัทเทคโนโลยีที่มีมูลค่าสูงที่สุดของเกาหลีใต้ ยังเป็นบริษัทที่ได้รับการจดสิทธิบัตรด้านนวัตกรรมในสหรัฐฯมากที่สุดในโลกในช่วงศตวรรษที่ 20 รองจากแค่บริษัทเดียวเท่านั้นคือ International Business Machines Corp.
นอกจากนี้ธุรกิจที่ขึ้นแท่นเป็นอันดับ 1 ของโลกของซัมซุงอย่างการผลิตชิพและแผงวงจร สมาร์ทโฟน และสื่อดิจิทัล 3 อย่างนี้คือแรงผลักสำคัญที่ทำให้เกิด Ecosystem ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ ครอบคลุมทุกภาคส่วน มีการกระจายรายได้แบบไม่รู้จบ และทำให้เกาหลีใต้คืออันดับหนึ่งของโลกด้านนวัตกรรมยาวนานถึง 5 ปีเต็ม เช่นเดียวกับการที่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างโตโยต้าและโซนี ที่ทำให้อุตสาหกรรมของญี่ปุ่นนั้นเติบโตแบบก้าวกระโดดซึ่งปีนี้ขยับขึ้นมา 1 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 6 และเป็น 1 ใน 3 ชาติจากภูมิภาคเอเชียที่ติด Top 10
2 ชาติเอเชียที่น่าจับตามองคือจีนและสิงคโปร์ จีนขยับขึ้นมาถึง 2 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 19 เป็นผลจากจำนวนของนักศึกษาจบใหม่ด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรที่สามารถเข้าไปอยู่ในตลาดแรงงานนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมถึงการจดสิทธิบัตรด้านเทคโนโลยีที่สูงขึ้น และความสำเร็จของบริษัทสมาร์ทโฟนชื่อดังของจีนอย่างหัวเหว่ย ส่วนสิงคโปร์กระโดดขึ้นมาจากอันดับ 6 ในปีที่แล้วมาอยู่อันดับที่ 3 แซงหน้าชาติยุโรปอย่างเยอรมนี สวิสเซอร์แลนด์ และฟินแลนด์ เป็นผลมาจากความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการสร้างสิงคโปร์ให้เป็นสมาร์ทเนชั่น และการให้ความสำคัญด้านการศึกษาอย่างมาก
ด้านสหรัฐฯ ประเทศที่เป็นสถานที่ก่อตั้งของฮับเทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งยุคอย่างซิลิคอนวาลี กลับต้องเจอกับความผิดหวังรุนแรง เพราะจากปีที่แล้วที่ถูกจัดให้อยู่อันดับที่ 9 ในดัชนีนวัตกรรมโลกของบลูมเบิร์ก กลับตกลงมาทันทีถึง 2 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 11 และเป็นการหลุดโผ Top10 ครั้งแรกนับตั้งแต่มีการจัดอันดับมาตลอด 6 ปีเต็ม ส่วนประเทศที่น่าผิดหวังที่สุดคือนิวซีแลนด์และยูเครน เนื่องจากถูกลดอันดับลงมาถึง 4 อันดับในปีเดียว
เกณฑ์การให้คะแนนของบลูมเบิร์กแบ่งเป็นหลายประเภท ประกอบไปด้วยความเข้มข้นของการวิจัยและพัฒนา (R&D intensity) การสร้างคุณค่าเพิ่มทางการผลิต (manufacturing value-added) ผลิตภาพ (productivity) สัดส่วนของบริษัทจดทะเบียนที่เป็นระดับไฮเทคในตลาดหลักทรัพย์ (high-tech density) ประสิทธิภาพขั้นตติยภูมิ (tertiary efficiency) และจำนวนนักวิจัยรวมถึงความคืบหน้าด้านสิทธิบัตร (researcher concentration and patent activity)