วิจัยล่าสุดเผยว่า มีกอริลลาบนโลกมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ถึงสองเท่า แต่กอริลลายังถือเป็นสัตว์ที่ยังเสี่ยงสูญพันธุ์ จากการบุกรุก ทำลายป่า
วารสาร Science Advances จากอเมริกา ทำการสำรวจประชากรกอริลลาทั่วโลกนานนับทศวรรษ ก่อนจะพบว่ามีกอริลลาทั้งหมด 361,900 ตัวบริเวณเส้นศูนย์สูตรทางตะวันตกของทวีปแอฟริกา ซึ่งมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ราว 150,000 ถึง 250,000 ตัว
อย่างไรก็ตาม กอริลลายังคงอยู่ในภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์ และจำนวนประชากรลดลงมากถึง 20 เปอร์เซ็นต์ภายใน 8 ปี โดยเชื่อว่าฝูงกอริลลาราว 80 เปอร์เซ็นต์อาศัยอยู่ในบริเวณที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง จึงทำให้เสี่ยงต่อการถูกทำร้ายด้วยอาวุธปืน เชื้อโรค และต้นไม้ล้ม
ศาสตราจารย์ฟิโอนา ไมเซลส์ แห่งสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญ 50 คนที่ร่วมในการสำรวจครั้งนี้ เผยว่า แม้ประชากรกอริลลาอาจมีมากกว่าที่คาดถึงสองเท่า แต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะการที่มีประชากรกอริลลาเพิ่มขึ้น ไม่ใช้ช่วยให้พวกมันเสี่ยงสูญพันธุ์น้อยลงเลย
โดยสาเหตุที่มีผลต่อความอยู่รอดของกอริลลามาจากการบุกรุก ทำลายป่า รวมถึงโรคระบาดอย่างอีโบลา นอกจากนั้น กอริลลายังใช้เวลานานในการเจริญเติบโต ซึ่งกอริลลาเพศเมียจะเจริญพันธุ์ได้เมื่อมี 11 ถึง 12 ปี และตั้งครรภ์ได้เพียง 4 ปีครั้ง จึงทำให้การผลิตประชากรกอริลลามาทดแทนเป็นไปอย่างล่าช้า