ในยุคที่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นเสมือนสิทธิขั้นพื้นฐาน จำนวนคนเสพติดการใช้โซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว เมื่อไม่ได้ใช้ก็จะรู้สึกหงุดหงิดเหมือนขาดอะไรไป จนทำให้ตอนนี้ เทรนด์ของการดีท็อกซ์เพื่อลดอาการติดโซเชียลมีเดียเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนยุคดิจิทัล มาดู 9 เหตุผลว่า ทำไมคนจำนวนมากถึงลองเริ่มดีท็อกซ์ตัวเองจากโซเชียลมีเดีย
โซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ มีอิทธิพลครอบงำการใช้ชีวิตของทุกคน ตั้งแต่เรื่องส่วนตัวไปจนถึงการทำงาน ทำให้ทุกคนต้องคอยอัปเดตเนื้อหาบนเฟซบุ๊กตลอดเวลาเพื่อติดตามว่าเพื่อน ๆ ของเราทำอะไรกันบ้าง รวมทั้งต้องติดตามข่าวสารที่ถูกป้อนเข้ามาจำนวนมากเพื่อที่จะก้าวให้ทันโลกของข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ก็อาจจะทำให้เราเกิดความเครียดและความเหนื่อยล้า จากข้อมูลจำนวนมากที่ถูกป้อนเข้ามาในหัวผ่านโซเชียลมีเดีย โดยที่ข้อมูลส่วนใหญ่อาจไม่เกี่ยวข้องกับเราเลยก็ได้
เว็บไซต์ LifeHack แนะนำข้อดีของการเอาตัวเองออกห่างโซเชียลมีเดีย หรือการทำโซเชียลมีเดียดีท็อกซ์ไว้ อย่างแรก การลดใช้โซเชียลมีเดียจะทำให้เราเปรียบเทียบชีวิตตัวเองกับผู้อื่นน้อยลง เพราะนักวิทยาศาสตร์ได้เปิดเผยแล้วว่าคนส่วนใหญ่มักจะห้ามตัวเองไม่ได้ที่จะเริ่มเปรียบเทียบชีวิตตัวเองกับผู้อื่นในโลกออนไลน์ และนั่นจะทำให้เรารู้สึกด้อยค่า และทำให้ความมั่นใจในคุณค่าของตัวเราเองลดลง และอาจส่งผลกระทบถึงขั้นทำให้เราเริ่มมีอาการของโรคซึมเศร้าได้
ข้อถัดมา โซเชียลมีเดียคือช่องทางที่ง่ายที่สุดในการแชร์รูปภาพและข้อมูลส่วนตัวของเรา ซึ่งนั่นเป็นวิธีที่ทำให้เราสูญเสียความเป็นส่วนตัวได้ง่ายที่สุดเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊กเป็นเจ้าของแอปพลิเคชันชื่อดังอื่น ๆ อย่างวอตส์แอปป์หรืออินสตาแกรม นั่นทำให้ข้อมูลส่วนตัวของเราถูกลิงก์ไปหาผู้ให้บริการได้อย่างง่ายดาย
เหตุผลที่สาม โซเชียลมีเดียดีท็อกซ์ทำให้เราลดพฤติกรรมการแข่งขันโดยไม่จำเป็นลง เพราะแม้ว่าเราจะรู้ดีว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ในการโพสต์รูป ข้อความ หรือแสดงความคิดเห็น โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลสูงมากในการทำให้เราต้องการที่จะแข่งขันกับเพื่อนบนโลกโซเชียลมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะเอกลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุดของแพลตฟอร์มอย่างเฟซบุ๊ก คือการเรียกร้องความสนใจจากคนรอบข้าง ยิ่งมีการตอบสนองต่อสิ่งที่คุณโพสต์ไปมากเท่าไร ความพึงพอใจยิ่งมากขึ้นเท่านั้น
อารมณ์โดยรวมของคุณจะดีขึ้นทุกครั้งที่หยุดใช้โซเชียลมีเดีย โดยงานวิจัยชี้ว่า ยิ่งคุณใช้งานโซเชียลมีเดียมากเท่าไร คุณมีสิทธิ์ที่จะมีอาการซึมเศร้ามากขึ้นเท่านั้น เพราะระยะเวลาในการเข้าใช้โซเชียลมีเดียแปรผันโดยตรง กับปริมาณความสุขและความซึมเศร้าของทุกคน เพราะฉะนั้น เมื่อใดก็ตามที่เริ่มมีความรู้สึกกระวนกระวาย รู้สึกจิตใจไม่สงบสุข การเริ่มโซเชียลมีเดียดีท็อกซ์คือสิ่งที่ควรลอง
นอกจากนั้น งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและมหาวิทยาลัยนิวยอร์กระบุว่า การตีตัวออกห่างจากเฟซบุ๊กช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้น โดยทีมวิจัยได้เก็บข้อมูลอาสาสมัครจำนวน 2,488 คน แบ่งเป็นกลุ่มที่ให้เลิกเล่นเฟซบุ๊ก 1 เดือน แต่ยังได้รับอนุญาตให้ใช้เมสเซนเจอร์ กับกลุ่มที่ยังเล่นเฟซบุ๊กได้ตามปกติ
โดยตลอดระยะเวลาการทดลอง 1 เดือน นักวิจัยได้ทำแบบทดสอบความรู้สึกอาสาสมัครแบบเรียลไทม์ พบว่ากลุ่มที่เลิกเล่นเฟซบุ๊กมีความสุขกว่ากลุ่มที่ไม่เลิก และพวกเขายังใช้เวลาบนโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มอื่นน้อยลงด้วย ทำให้พวกเขาเสพข่าวสารน้อยลง และมีเวลาอยู่กับครอบครัวและด���ทีวีมากขึ้น นอกจากนี้ หลังจบการทำวิจัยแล้ว พวกเขายังมีแนวโน้มกลับมาใช้งานเฟซบุ๊กน้อยลงอีกด้วย
งานวิจัยชิ้นนี้จัดทำโดยนักวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งพยายามศึกษาพฤติกรรมการใช้ชีวิตออนไลน์ว่าส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในโลกของความเป็นจริงอย่างไรบ้าง ซึ่งผลวิจัยพบว่าข่าวสารบนเฟซบุ๊กทำให้ผู้ใช้งานมีแนวโน้มลำเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ขาดความเป็นกลาง รวมถึงลดทอนการใช้เหตุและผลในการตัดสินใจลงด้วย
เหตุผลที่ 5 คือ เราจะสามารถเอาชนะความกลัวที่จะพลาดประเด็นสำคัญในโซเชียลมีเดียไปได้ เพราะในความเป็นจริงแล้วโซเชียลมีเดียถูกสร้างขึ้นมาให้มีฟังชันที่ไม่ต่างจากการเสพสารเสพติดมากนัก โดยเว็บไซต์ Computer World ระบุว่าเมื่อเราหยุดใช้โซเชียลมีเดีย เราจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีอาการ 'ลงแดง' มีความต้องการที่จะเปิดเข้าไปเช็กหน้าฟีดในแพลตฟอร์มต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา เพราะนี่คือธรรมชาติของมนุษย์ในการกลัวว่าจะพลาดเหตุการณ์สำคัญไป ทั้งที่หากพลาดอะไรไปบ้าง ก็คงไม่ทำให้ชีวิตพังพินาศ
ข้อดีข้อถัดมาคือ เราจะสามารถเชื่อมโยงกับโลกแห่งความเป็นจริงได้ดีมากยิ่งขึ้น เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผู้คนจำนวนมากที่มีชีวิตที่สดใสในโลกโซเชียล แต่กลับมีชีวิตที่หดหู่และเงียบเหงาในโลกแห่งความเป็นจริง เพราะเอาตัวเองไปอยู่ในสังคมออนไลน์มากจนเกินไป การก้าวออกมาใช้ชีวิตถือเป็นทักษะที่มนุษย์ทุกคนพึงมี ซึ่งนั่นจะนำไปสู่ความสามารถในการใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันตรงหน้าได้ เพราะหลายคนที่มีพฤติกรรมใช้โซเชียลมีเดียระหว่างทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน พวกเขาจะไม่สามารถจดจำช่วงเวลาเหล่านั้นได้ดีเท่ากับคนที่ให้ความสนใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้าอย่าง 100 เปอร์เซ็นต์
เหตุผลข้อที่ 8 ความหมกมุ่นกับอดีตจะลดลง การหมกหมุ่นอยู่กับความทรงจำในอดีต ไม่ว่าจะในเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือทวิตเตอร์ ทั้งกับเรื่องงาน ครอบครัว หรือแฟนเก่า ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ทำให้คนจมปลักอยู่กับอดีตแบบยากที่จะสร้างความรู้สึกดี ๆ ขึ้นใหม่ได้ การเอาตัวออกห่างจากสิ่งแวดล้อมเหล่านี้เปรียบเสมือนการให้โอกาสตัวเองในการมองสิ่งดี ๆ รอบข้างที่กำลังเกิดขึ้น และพร้อมที่จะใช้ชีวิตเดินไปข้างหน้า
เหตุผลข้อสุดท้ายคือ การมีเวลาว่างที่มากขึ้น หลายครั้งที่เรามักพูดว่าไม่มีเวลาไปออกกำลังกาย อ่านหนังสือที่อยากอ่าน หรือแม้แต่ทำความสะอาดบ้าน แต่กลับมีเวลาท่องโลกโซเชียลเป็นเวลานานติดต่อกัน 1-2 ชั่วโมงต่อวัน และเป็นการใช้เวลาอย่างเลื่อนลอยโดยไม่รู้ตัว การเอาเวลา 2 ชั่วโมงนั้นแบ่งสรรปันส่วนไปทำกิจกรรมอย่างอื่นอย่างละครึ่งชั่วโมง จะทำให้คุณมีเวลาให้กับชีวิตอีกมากอย่างไม่น่าเชื่อ และนอกจากจะมีสุขภาพใจที่ดีขึ้นแล้ว สุขภาพกายก็อาจจะดีขึ้นอีกด้วย
การเสพติดโซเชียลมีเดียนอกจากจะทำให้สุขภาพจิตย่ำแย่ลงอย่างต่อเนื่อง มันอาจจะยังส่งผลร้ายที่มากกว่านั้นไปยังความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวและความสัมพันธ์กับคนรอบข้างในสถานที่ทำงาน การเริ่มดีท็อกซ์การใช้งานโซเชียลมีเดียอย่างค่อยเป็นค่อยไปจึงอาจเป็นสิ่งที่เราทุกคนควรเริ่มให้ความสนใจก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป