ปัญหาขาดแคลนอาจารย์ใหญ่ ไม่ได้เกิดขึ้นกับนักศึกษาแพทย์เพียงอย่างเดียว แต่นักศึกษาสัตวแพทย์ก็เผชิญปัญหาดังกล่าวเช่นกัน เนื่องจากมีข้อจำกัดทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ล่าสุดอาจารย์ประจำคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คิดค้นสื่อการเรียนการสอนใหม่ มาแก้ปัญหาความขาดแคลนโดยเฉพาะ แถมยังได้รางวัลระดับนานาชาติ
ก็นับว่าเป็นข่าวดีสำหรับวงการการศึกษาไทย โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษาที่ต้องเรียนเกี่ยวกับการรักษาชีวิตสัตว์ เพราะ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ภาวนา เชื้อศิริ อาจารย์ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้คิดค้นสื่อการเรียนการสอนใหม่ เป็น "สมองสุนัขจำลอง" เพื่อแก้ปัญหาสมองจริงที่กำลังอยู่ในภาวะขาดแคลน
วิชากายวิภาคหรือ อนาโตมี่ เป็นวิชาพื้นฐานที่นิสิตนักศึกษาทุกคนต้องเรียน โดยต้องอาศัยอวัยวะจริงของสัตว์ เพื่อศึกษาลักษณะโครงสร้างภายใน แต่ด้วยปัจจุบันจำนวนการบริจาคร่างของสัตว์ที่เสียชีวิตไม่เพียงพอต่อผู้เรียน รวมถึงสภาพอาจารย์ใหญ่ทางสัตวแพทย์ที่ได้รับบริจาคอาจมีสภาพที่ไม่สมบูรณ์ จึงจำเป็นต้องการหาสื่อการเรียนการสอนมาใช้แทนอวัยวะสัตว์จริง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ภาวนา ระบุว่า สมองสุนัขจริงมีขนาดเล็ก หายาก และเป็นอวัยวะที่เน่าเร็วมาก รวมทั้งมักเกิดความเสียหายจากการเรียนในแต่ละครั้ง และอาจเสี่ยงต่อการสัมผัสโรคติดเชื้อสู่คน เช่น โรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งสมองจำลอง จะช่วยให้นักศึกษารับรู้ส่วนต่างๆ ของสมองต่อจากหนังสือ ก่อนที่จะสัมผัสของจริง ทำให้สมองจริงที่ต้องผ่าเสียหายน้อยและใช้ได้นานที่สุด นอกจากนี้ยังไม่ต้องดมน้ำยาฟอร์มาลีนที่ใช้ดองสมองเป็นเวลานานๆอีกด้วย
สมองสุนัขจำลอง ผลิตจากกระดาษเหลือใช้ มาย่อยจนเป็นเยื่อกระดาษ นำผสมแป้ง ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า paper mache อัดลงแม่พิมพ์โดยให้ใหญ่กว่าสมองจริงหนึ่งเท่า มีความทนทาน สามารถถอดประกอบชิ้นส่วนเพื่อให้เห็นโครงสร้างทางกายวิภาคได้อย่างชัดเจน มีการฝังแม่เหล็กไว้ ซึ่งเป็นเทคนิคที่ยังไม่มีใครใช้มาก่อน ซึ่งได้รับรางวัลระดับนานาชาติ เช่น รางวัลเหรียญทองแดงประเภท Teaching methods and materials จากการประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 47 ที่กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
นวัตกรรมเหล่านี้ จะไม่หยุดที่สมองจำลองอย่างแน่นอน เพราะทางคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังเตรียมต่อยอดไปที่อวัยวะอื่นๆ อีกมากมาย รวมถึงต่อยอดไปที่สัตว์ชนิดอื่นๆ ด้วย