เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รัฐบาลเยอรมนีเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับการใช้ดีเอ็นเอในการวิเคราะห์อัตลักษณ์ของผู้ต้องสงสัยในคดีอาชญากรรม ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสนับสนุนร่างกฎหมายนี้มาก แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านดีเอ็นเอเกรงว่า วิธีนี้อาจส่งผลเสียต่อรูปคดีมากกว่าจะเป็นผลดี
กระทรวงยุติธรรมของเยอรมนีเสนอร่างกฎหมายที่จะอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ตำรวจวิเคราะห์ดีเอ็นเอซึ่งพบในที่เกิดเหตุได้ เพื่อระบุอัตลักษณ์ของผู้ต้องสงสัยในการก่อคดีต่างๆ โดยคาดว่าจะทำให้การตามหาและจับกุมผู้ต้องสงสัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เจ้าหน้าที่ซึ่งเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้อธิบายว่า ที่ผ่านมา การสอบสวนคดีต่างๆ ในเยอรมนี จะทำได้แค่การนำดีเอ็นเอจากที่เกิดเหตุ ไปเปรียบเทียบกับดีเอ็นเอในฐานข้อมูลของผู้ต้องหา ซึ่งถูกจัดเก็บโดยระบบของกระทรวงยุติธรรม หากผู้ที่ก่อเหตุไม่เคยมีประวัติกระทำผิดมาก่อน ก็จะไม่อยู่ในฐานข้อมูลอันนี้ ทำให้ในหลายๆ คดี เจ้าหน้าที่ไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ เพราะข้อมูลไม่เพียงพอ
เมื่อเปรียบเทียบกับร่างกฎหมายดีเอ็นเอที่กำลังเสนอให้สภาเยอรมันพิจารณาอยู่ในขณะนี้ จะเห็นได้ว่าเจ้าหน้าที่มีโอกาสตรวจสอบและวิเคราะห์ดีเอ็นเอที่พบในที่เกิดเหตุ เพื่อนำไปสู่การระบุอัตลักษณ์ว่า ผู้ต้องสงสัยมีเพศอะไร เป็นผู้หญิงหรือเป็นผู้ชาย รวมถึงมีสีผม สีผิว หรือสีตาสีอะไร และมีอายุประมาณเท่าไหร่ เพราะสิ่งเหล่านี้ที่สามารถบ่งชี้ได้จากการตรวจหารหัสทางพันธุกรรม
สิ่งที่ทำให้ร่างกฎหมายน่าวิตกกังวลก็คือว่า การวิเคราะห์ดีเอ็นเออาจจะได้ชื่อว่าแม่นยำสูง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะถูกต้องทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ ผลวิเคราะห์ดีเอ็นเอที่ระบุข้อมูลของผู้ต้องสงสัยอย่างชัดเจนเกินไป อาจทำให้เจ้าหน้าที่ผู้สืบสวน ตัดความน่าสงสัยในประเด็นอื่นๆ ทิ้งไป และอาจนำไปสู่การเลือกปฏิบัติหรือพุ่งเป้าไปยังคนกลุ่มน้อยในสังคม เช่น กลุ่มผู้อพยพ ซึ่งมักตกเป็นผู้ต้องสงสัยอันดับแรกๆ เวลาที่มีการก่อเหตุต่างๆ ในเยอรมนี
ผู้ที่ท้วงติงร่างกฎหมายนี้จึงมองว่า การวิเคราะห์ดีเอ็นเอ อาจจะทำให้เกิดการตั้งข้อสมมติฐานที่ผิดพลาดตั้งแต่ต้น