ไม่พบผลการค้นหา
‘ภูมิธรรม’ แจงลบชื่อ สส. ออกจาก คกก.ทำประชามติ เหตุกฤษฎีกาติงผลโยชน์ทับซ้อน ขออย่ามองในแง่ร้าย ‘เพื่อไทย’ คุมทิศทางแก้ รธน. ชี้ คกก.ทุกคน มีศักดิ์ศรี

วันที่ 10 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นถึงกรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นไม่ให้ สส. ร่วมคณะกรรมการศึกษาทำประชามติว่า เรื่องดังกล่าวมีความเห็นที่แตกต่าง และมีการท้วงติงเข้ามา โดยฝ่ายที่เห็นด้วย การเอา สส. มารวมไม่ต่างกับ การตั้งวิปรัฐบาล และถือเป็นเรื่องทางวิชาการ และสอบถามความเห็นจึงไม่น่ามีปัญหาอะไร 

โดยกฤษฎีกาให้ความเห็นเพื่อความปลอดภัย เนื่องจากกฎหมายตีความได้หลายแบบ จึงหลีกเลี่ยงที่จะไม่ให้ สส. มาร่วมคณะกรรมการดังกล่าว เพื่อไม่ให้กระบวนการช้า จึงตัดออก ซึ่งอาจถูกมองว่า ฝ่ายบริหารจะไปแทรกแซงฝ่ายนิติบัญญัติใช่หรือไม่นั้น มองว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาเขาพูดเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และเพื่อไม่ให้ติดขัดในความเห็นที่แตกต่าง จึงตัดชื่อออก ยอมรับว่า ไม่มีปัญหา แต่เพื่อให้กระบวนการเร็วขึ้น และปราศจากข้อสงสัย 

ทั้งนี้อาจเป็นเพราะรัฐบาลไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมากำกับดูแลเรื่องนี้ใช่หรือไม่ เพราะเริ่มต้นก็เกิดความผิดพลาดแล้ว ภูมิธรรม ยืนยันว่า ไม่ใช่ข้อผิดพลาด เพราะรองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาก็อยู่ในคณะกรรมการชุดนี้ แต่เรื่องนี้เป็นความเห็นที่แตกต่าง ที่ในทางกฎหมายเห็นต่างกันได้เสมอ 

ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า คณะกรรมการศึกษาจัดทำประชามติมีบุคคลซึ่งเป็นสัดส่วนของพรรคเพื่อไทยมากเกินไป จนรัฐธรรมนูญที่แก้ออกมาจะไม่ครอบคลุมถึงคนกลุ่มอื่น ภูมิธรรม กล่าวว่า นั่นเป็นการมองในแง่ร้ายเกินไป ต้องให้เกียรติคณะกรรมการด้วย และคนที่เราเชิญมาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ หลายคนเป็นนักวิชาการ การที่บอกว่า เพื่อไทยคุมได้ ไม่เป็นความจริง ล้วนได้รับการยอมรับจากสังคม เป็นเรื่องใหญ่ ทุกคนได้รับผลกระทบ ทุกคนมีเกียรติยศมากพอที่จะไม่เอาสิ่งเหล่านี้สร้างปัญหาเพื่อเสื่อมเสียเกียรติยศ และชื่อเสียง 

สำหรับการประชุมคณะกรรมการศึกษาจัดทำประชามตินัดแรกในวันนี้ เวลา 13.00 น. ภูมิธรรม กล่าวว่า จะมีการพูดคุยเกี่ยวกับกรอบการทำงาน และไทม์ไลน์ของการทำงาน ที่ชัดเจนขึ้นว่าจะใช้เวลาเท่าไหร่และนอกจากนี้ยังมีหลายเรื่องที่จะพูดคุยกัน เช่น การแก้ทั้งฉบับ แต่ยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 จะถือว่า เป็นการแก้ทั้งฉบับหรือแก้ไขรายมาตรา แต่หากเป็นการแก้ไขรายมาตราอาจจะต้องมีการยื่นแก้ไข ม.256 ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกัน