ไม่พบผลการค้นหา
'พริษฐ์' ถามดักคอ ตั้ง คกก.ศึกษาประชามติ หวังหวนสู่หลักการเดิมหรือไม่ ย้ำต้องตั้งต้นให้ถูก ไม่เป็นตรายาง ด้าน 'ภูมิธรรม' ยืนยันแก้ รธน. เสร็จภายใน 4 ปี เสียใจ 'ก้าวไกล' ไม่ร่วม หวังทำใจกว้างขึ้น

วันที่ 5 ต.ค. เมื่อการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 20 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา กรณีการตั้งคณะกรรมการศึกษาการจัดทำประชามติ โดย ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการ ตอบกระทู้แทนนายกรัฐมนตรี

พริษฐ์ ระบุว่า มีความกังวลว่าการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาจะทำให้เสียเวลา และงบประมาณเพิ่มเติมโดยไม่จำเป็น หากมองในแง่ร้ายอาจเสี่ยงต่อการลบหลักการที่เคยเป็นข้อสรุปร่วมกันมาก่อน เพราะมีการถกเถียงมาตลอด 4 ปีและประชาชนมีส่วนร่วมที่ผ่านมาจนได้โรดแมปร่วมกัน ให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)

พริษฐ์ ตั้งงคำถามว่ามีการตั้งคณะกรรมการศึกษาการทำประชามติเพื่ออะไร ศึกษาประเด็นอะไร และอะไรที่จะยึดเป็นกรอบและหลักการ จะไม่ย้อนไปศึกษาเรื่องเดิมอีกรอบหรือไม่ และขอให้ยืนยันว่าไม่ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพราะไม่กล้าตัดสินใจเดินหน้าตามจุดยืนเดิม แต่ต้องการยืมมือคนอื่นมาสร้างความชอบธรรมในหวนกลับไปทำสิ่งเดิมอีกครั้งหนึ่ง เพื่อย้อนหลักการเดิมบางส่วน 

ภูมิธรรม ตอบกระทู้ว่า ผู้ถามได้ลำดับเหตุการณ์แก้รัฐธรรมนูญเป็นไปตามข้อเท็จจริง แต่อาจยังไม่ครบถ้วน โดยยืนยันรัฐบาลไม่ได้ต้องการให้ปัญหาต่างๆ ถูกดึงให้ล่าช้า แต่ตรงกันข้าม รัฐบาลต้องการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญประสบความสำเร็จ และการดำเนินการมา 4 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งมีข้อสรุปที่เปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม 

ภูมิธรรม กล่าวว่า ส่วนที่ต่างคือปัญหา สะท้อนความรู้สึกที่ยังไม่ตรงกันของคนในสังคม โดยเฉพาะปัญหาสำคัญหลายเรื่อง การดำเนินการครั้งนี้รัฐบาลมีความมุ่งมั่นให้ความสำคัญที่ได้เสนอเป็นนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา ซึ่งในการประชุม ครม. นัดแรกก็ได้หารือในเรื่องนี้ ซึ่งรัฐบาลพยายามหาข้อสรุปที่สามารถผลักดันให้ประเทศไทยมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หากในวันนี้ไม่สามารถกำหนดประเด็นให้เหมาะสมชัดเจนจะกลายเป็นปัญหาความขัดแย้งใหม่ขึ้น 

ภูมิธรรม ยืนยันว่า การดำเนินการของรัฐบาลครั้งนี้เป็นไปอย่างรอบคอบ และนายกรัฐมนตรีหลังจากมีคำสั่งให้ดำเนินการก็มีการคิดในรายละเอียดและทบทวน โดยรัฐบาลจะทำประชามติและทำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขปัญหาต่างๆของประชาชนในสังคม ขณะนี้วางหลักการชัดเจน คือ ต้องการทางรัฐธรรมนูญให้เสร็จโดยเร็ว กรอบ เวลาดำเนินการเป็นไปตามที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด คือการทำประชามติ 

อีกส่วนคือการดำเนินการตามกฏหมายในปัจจุบัน เมื่อประเมินไทม์ไลน์ คิดว่าภายใน 4 ปีของรัฐบาลจะสามารถทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้เกิดความเห็นชอบของทุกฝ่ายในสังคมโดยหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น และพยายามหาทางทำประชามติให้ใช้งบประมาณน้อยที่สุด ตอบสนองการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมย้ำว่าจะทำรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 4 ปี เว้นการแก้หมวด 1-2 พร้อมกับกฏหมายลูกและเตรียมเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ 

สำหรับการตั้งคณะกรรมการ ได้พยายามรวบรวมตัวแทนจากพรรคการเมืองทุกพรรคทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน และยังแสดงความเสียดายที่พรรคก้าวไกลไม่ได้เข้าร่วม แต่ก็เคารพในเหตุผล และมั่นใจจะไม่เป็นเหตุให้สะดุดลง ส่วนกระบวนการดำเนินการยืนยันจะให้มีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด 

พริษฐ์ ชี้แจงเหตุผล ที่ยังไม่เข้าร่วมคณะกรรมการศึกษาการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่าเมื่อรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจน ว่าการทำงานของคณะกรรมการศึกษาจะอยู่ภายใต้กรอบ 2 จุดยืน ของพรรคก้าวไกล ห่วงเสียงเป็นตรายาง กับสิ่งที่จะขัดต่อจุดยืนหลักแต่พร้อมให้ข้อมูล โดยเห็นว่าติดกระดุมเม็ดแรกผิดแม้จะเหมือนกันดีแค่ไหนในการติดกระดุมเม็ดถัดไปก็ทำให้เสื้อผ้าตัวนั้นผิดเพี้ยนและใส่ไม่ได้อยู่ดี หากให้ความชัดเจนใน 2 ประเด็นพรรคก้าวไกลก็พร้อมที่จะจับมือเดินหน้าร่วมกันในการผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย คือ จุดยืนในการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับและ ยืนยันได้หรือไม่ตั้งแต่หมวด 3 เป็นต้นไปจะมีการล็อก หรือการแก้ไขแบบรายมาตรา และคณะกรรมการศึกษามีหน้าที่ศึกษาในรายละเอียดอย่างไร 

ภูมิธรรม ชี้แจงว่า ยืนยันว่าการเริ่มต้นติดกระดุมเม็ดแรกของรัฐบาลเป็นการดำเนินการที่ถูกต้อง ซึ่งหมายถึงการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อรับฟังจากทุกภาคส่วนยืนยันไม่ได้ใช้เวลามากใช้ราว 3 เดือน และรับรองด้วยเกียรติว่าคณะกรรมการชุดนี้ไม่ได้เป็นตรายาง ด้วยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายภาคส่วน เสนอแนะมองให้กว้างขึ้นยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งสิ่งสำคัญคือการทำรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้หลักการ 2 ข้อ ที่พรรคก้าวไกลเสนอ พร้อมแนะให้ทำใจให้กว้างขึ้น