ไม่พบผลการค้นหา
ปิดประชุมสภาฯ นัดสุดท้าย ทิ้ง พ.ร.บ.อุ้มหาย ค้างยาว หลัง 'วิปรัฐบาล' รวมชื่อยื่นศาล รธน. ตีความ เป็นเหตุการพิจารณาชะงัก 'ชวน' ขอบคุณทุกฝ่าย ย้ำการเมืองไม่แน่นอน ฝ่ายค้าน-รัฐบาล วันนี้อาจสลับบทกันวันหน้า ก่อนสั่งลาปิดประชุม

วันที่ 28 ก.พ. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 31 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) เป็นพิเศษ วาระพิจารณา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอมาให้รัฐสภาพิจารณา โดยได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง

โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้เปิดอภิปราย โดยย้ำว่าหากสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ลงมติเห็นชอบกับ พ.ร.ก.ดังกล่าว พรรคร่วมฝ่ายค้านก็จำเป็นต้องรวมรายชื่อเพื่อยื่นต่อประธานสภาฯ ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า พ.ร.ก.ดังกล่าว ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

ขณะที่ ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ต่างลุกอภิปรายแสดงความไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.ก.ดังกล่าว เช่น สุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ชี้ว่า การเลือกบังคับใช้บางมาตราซึ่งเป็นสาระสำคัญของกฎหมายป้องกันการอุ้มหาย จะส่งผลกระทบต่อสิทธิของประชาชน ส่วนตนพร้อมร่วมลงชื่อกับฝ่ายค้านเพื่อยื่นศาลตีความ

เช่นเดียวกับ พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา พรรคพลังประชารัฐ ที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหนึ่ง จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะวิปฝ่ายค้าน ได้ลุกขึ้นหารือ เนื่องจากตนได้ทราบข่าวมาว่า เวลานี้ส.สฝ่ายรัฐบาลได้รวบรวมรายชื่อยื่นต่อ ประธานสภาเพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ พ.ร.ก.ดังกล่าวไปแล้ว ก่อนจะมีการลงมติ

จุลพันธ์ แย้งว่า การลงมติคือการใช้สิทธิแทนประชาชน การทำแบบนี้เท่ากับสละสิทธิไปให้สภาฯ ชุดหน้า ซึ่งไม่รู้จะต้องรออีกกี่ปีกี่เดือน ตนฟังที่แต่ละคนอภิปรายมา เหมือนหาเสียง ทุกคนต่างบอกว่าไม่เห็นด้วย แล้วใครไปลงชื่อ แสดงว่าฝ่ายรัฐบาลมีเจตนาจะให้ ครม. ยื้อเวลาในการเลื่อนบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ในช่วงเวลาระหว่างนี้ หากมีเหตุอุ้มหายเกิดขึ้น จะรับผิดชอบอย่างไร จึงขอสอบถามในเบื้องต้นว่ามีข้อเท็จจริงหรือไม่

"ขอฟ้องประชาชนผ่านท่านประธานฯ ใครที่ลงชื่อเพื่อส่งไปตีความศาลรัฐธรรมนูญ แสดงว่าท่านต้องการซื้อเวลาให้รัฐบาล"

อย่างไรก็ตาม ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่สอง ประธานการประชุม ได้ปิดไมค์ของ จุลพันธ์ พร้อมชี้แจงว่า ขณะนี้ตนก็ไม่ทราบข้อเท็จจริงว่ามีการส่งเรื่องมาแล้วหรือไม่ แต่ตอนนี้ยังมีเวลาอยู่ จึงขอให้ดำเนินการอภิปรายไปตามปกติ ไว้ถึงเวลานั้นมีข้อเท็จจริงปรากฏออกมา ค่อยแสดงความคิดเห็นกันก็ได้

ต่อจากนั้น ได้มี ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย ได้แสดงความเห็นแย้งตามมา ทั้ง จิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. ที่ระบุให้ ส.ส.ที่ลงชื่อไปนั้น ถ้ารู้ตัวกรุณารีบถอนชื่อออก เพราะตนจะแฉว่าทำไมสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และรัฐบาลจึงได้ยื้อ มีบริษัทนายทุนเข้ามาเกี่ยวข้อง เรื่องการซื้อวิทยุสื่อสารที่ถ่ายรูปได้ รวมถึง วิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย ซึ่งชี้ว่า ครม. กำลังฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 172


ปิดประชุมสภาฯ นัดสุดท้าย ทิ้ง พ.ร.บ.อุ้มหาย ค้างยาว หลัง 'วิปรัฐบาล' รวมชื่อยื่นศาล รธน. ตีความ เป็นเหตุการพิจารณาชะงัก 'ชวน' ขอบคุณทุกฝ่าย ย้ำการเมืองไม่แน่นอน ฝ่ายค้าน-รัฐบาล วันนี้อาจสลับบทกันวันหน้า ก่อนสั่งลาปิดประชุม

ต่อมา ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานการประชุม แจ้งต่อที่ประชุมว่า นิโรธ สุนทรเลขา ส.ส. นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ และประธานวิปรัฐบาล พร้อมคณะ เข้าชื่อยื่นคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญว่า การตรา พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 วรรคหนึ่ง ให้ประธานฯ ส่งความเห็นไปศาลรัฐธรรมนูญภายใน 3 วัน และให้ชะลอการพิจารณาไว้ก่อน 

ตามมาตรา 173 ที่กำหนดว่าเมื่อ ส.ส. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั่งหมด ได้เข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธาน ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยกฏหมายของ พระราชกำหนด ประธานฯ ต้องส่งไปยังศาลภายใน 3 วัน พร้อมเปิดเผยว่า ได้ตรวจสอบคำร้องแล้วมีส.ส. 10 คน เข้าชื่อ ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของ สมาชิกทั้งหมด 

ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนด จึงให้รอการพิจารณาพระราชกำหนดนี้ไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับแจ้งผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และขอจบการพิจารณาในวาระนี้ 

แต่ระหว่างนั้น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร แย้งว่า การกระทำเช่นนี้ส่งผลให้ พ.ร.บ.ถูกเลื่อนการบังคับใช้ต่อไปอีก หากในระหว่างช่วงเวลานี้ มีเหตุการณ์อุ้มหายเกิดขึ้น ผู้ที่เข้ารายชื่อยื่นศาลตีความนั้นต้องรับผิดชอบ ขอให้บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของสภา หากพวกเราได้มีอำนาจเหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก ขอให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินในคูหาเลือกตั้ง

ทำให้ ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล ยืนยันว่า ในเมื่อ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลมีความเห็นตรงกันว่า พ.ร.ก.ที่รัฐบาลเสนอมา มีเนื้อหาขัดต่อมาตรา 172 แห่งรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องดำเนินการดังกล่าว

"ผมนั่งเป็น ส.ส.มา 9 สมัย ครั้งนี้เป็นครั้งแรก ที่ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ได้รวมรายชื่อกันยื่นตีความกฎหมายที่รัฐบาลเป็นผู้เสนอ ลองคิดดูสิครับว่า พวกเรารักที่จะประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนขนาดไหน ผมขอยืนยันว่า เราต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่" ชินวรณ์ ทิ้งท้าย

จากนั้น ชวน ได้กดออดเรียกสมาชิกเข้าห้องประชุมเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อฟังพระราชโองการปิดสมัยประชุมสภา ระหว่างนั้นได้กล่าวขอบคุณสมาชิก รองประธานสภา เลขาธิการสภาฯ เจ้าหน้าที่ วุฒิสภา รวมถึงล่ามมือ ไปจนถึงสื่อมวลชน เพราะเข้าใจว่าทุกคนได้ทำงานหนักมาตลอด 4 ปี ประโยชน์ที่ตกกับประชาชน พวกท่านทั้งหมดเป็นผู้ริเริ่ม

"แม้พวกเราอาจจะไม่ได้กลับมากันหมดทุกคน แต่ขอให้สมาชิกส่วนใหญ่จะได้กลับมาทำหน้าที่ของท่านต่อไป การเมืองไม่มีอะไรแน่นอน คนที่ค้านในวันนี้ อาจจะเป็นรัฐบาลในวันหน้า คนที่เป็นรัฐบาลเวลานี้ อาจจะเป็นฝ่ายค้านในขณะนั้น สิ่งสำคัญก็คือ เราพูดอะไรไป อะไรที่ไม่ดีในวันนี้ ในวันนั้นก็ต้องไม่ดี อะไรที่ดีในวันนี้ วันนั้นก็ต้องดี ขอให้เพื่อนๆ ทุกคนประสบความสำเร็จ" ชวน กล่าว

จากนั้น เลขาธิการสภาฯ ได้อ่านพระราชโองการปิดสมัยประชุมสภาฯ ในวันที่ 1 มี.ค. 2566 และ ชวน ได้กล่าวขอบคุณ ก่อนจะสั่งปิดประชุมเป็นครั้งสุดท้าย