วันที่ 15 ม.ค. ที่อาคารรัฐสภา เสรี สุวรรณภานนท์ สว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่มีขบวนการสกัด สว. ไม่ให้ลงชื่ออภิปราย ในการรวบรวมรายชื่อ สว.เพื่อยื่นขอเปิดอภิปรายรัฐบาลทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153
โดย เสรี ระบุว่า การที่จะเปิดอภิปรายได้นั้น จะต้องมีสมาชิกมาลงชื่อไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของทั้งหมดที่มีอยู่ คือ 84 เสียง ในช่วงเวลาดังกล่าวเราได้เอาญัตติให้สมาชิกไปศึกษาเพื่อให้เห็นประโยชน์ที่จะมีต่อประชาชน แต่ปรากฏว่าสมาชิกหลายคนไม่รับรองให้หรือไม่ร่วม
“บางคนก็พูดกันตรงๆ ว่ามีคนขอกันบ้าง มีพวกกันบ้าง ซึ่งเราพยายามอธิบายว่าเป็นเรื่องของหน้าที่สมาชิกวุฒิสภา จึงเป็นความยากลำบากอยู่ระดับหนึ่งว่า จาก สว. 250 คน ต้องใช้ 84 เสียง จริงๆ ถ้าไม่มีใครมาล็อบบี้ ปล่อยตามธรรมชาติ ก็ครบไปนานแล้ว” เสรี กล่าว
เสรี กล่าวว่า สิ่งที่เราทำไม่ใช่การจะไปล้มรัฐบาลแต่เป็นเรื่องที่ สว. เสนอญัตติเพื่อให้รัฐบาลมาชี้แจงหาทางออกของประเทศใน 7 ประเด็นที่จะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้น ไม่ว่าใครก็ตามที่มีแนวคิดจะไม่ให้มีผู้สนับสนุนญัตติครบ ถือว่าคิดผิด หากรัฐบาลตอบได้สามารถที่จะดำเนินการตามที่เสนอญัตติไปก็เป็นเครดิตของรัฐบาล อย่าไปปิดกั้น ควรจะให้ สว.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้
ส่วนรายชื่อจะครบหรือไม่นั้น เสรี กล่าวว่า ตอนนี้เป็นความหวังเรานำข้อมูลให้สมาชิกได้อ่าน ในปัจจุบันมีผู้แจ้งความจำนงไว้ประมาณ 80 คนแล้ว ซึ่งมองว่าน่าจะเปิดอภิปรายได้ เราพยายามจะทำให้ได้ เพราะเป็นภาพลักษณ์ภาพรวมของสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่อยู่ใต้อาณัติใคร ซึ่งเป็นประโยชน์กับบ้านเมืองในช่วงเวลาสุดท้ายที่ สว. ใกล้จะหมดวาระแล้ว เราตั้งใจจะทำให้ดีที่สุดถือเป็นผลงานสุดท้ายที่เราพยายามทำเพื่อประชาชนแม้ว่าเราจะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ในความรับผิดชอบในอำนาจหน้าที่เป็นสิ่งที่วุฒิสภาควรจะต้องทำ
ส่วนจะมีการทบทวนหรือไม่ที่ สว.ยกมือให้ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นนายกรัฐมนตรี เสรี กล่าวว่า เป็นคนละเรื่องกัน ตอนตั้งรัฐบาลก็ตั้งไป แต่ตอนทำหน้าที่ตรวจสอบก็เป็นอีกหน้าที่หนึ่ง ขณะนี้เราดูการทำงานในช่วงเวลา 4 เดือนว่าต้องมีอะไรทักท้วงหรือเสนอแนะบ้าง
ส่วนที่มีความกังวลว่าไม่ให้ สว.แตะเรื่องคนชั้น 14 นั้น เสรี ระบุว่ามีหลายเรื่องในส่วนกระบวนการยุติธรรมก็ส่วนหนึ่ง ส่วนเรื่องของเศรษฐกิจการแจกเงินดิจิทัลก็ส่วนหนึ่ง ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญก็ส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้นตนมองว่าการนำมาพูดกันในสภาก็เป็นเรื่องที่ดีที่เป็นทางการ ซึ่งเป็นส่วนของอำนาจหน้าที่ที่เราต้องทำ
เมื่อถามว่านอกจากการล็อบบี้ยังมีสาเหตุอื่นอีกหรือไม่ที่ทำให้ สว.ไม่ร่วมลงชื่อในการเปิดอภิปราย เสรี กล่าวว่า ก็แล้วแต่บุคคล เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเป็นเรื่องธรรมดา แต่สิ่งที่ไม่ธรรมดาคือ การสกัดกั้นในกระบวนการทางการเมือง ซึ่งไม่ควรทำมีแต่ความเสียหายปล่อยให้แต่ละฝ่ายต่างทำหน้าที่ รัฐบาลก็บริหารประเทศไป
เมื่อถามว่ามีการไปขอเสียง สว.ในส่วนของผู้นำเหล่าทัพหรือไม่ เสรี กล่าวว่า เราต้องเข้าใจว่าเขาเป็นราชการ ไม่อยากยุ่งเรื่องการเมืองอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ารัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้ทำหน้าที่เราต้องเข้าใจตรงนั้น เรารู้ผลอยู่แล้วไปขอเขาก็ไม่ลงชื่ออยู่แล้ว