ไม่พบผลการค้นหา
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แนะพรรคการเมืองหารือเสียงข้างมาก ส.ส. หนุนใครเป็นรัฐบาลในชั้นสภาผู้แทนราษฎร พร้อมเตือน 'ประยุทธ์' ให้อิสระ ส.ว. เลือกนายกฯ ตามเจตนารมย์ของประชาชน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวภายหลังการเดินพบปะพี่น้องประชาชนในสวนสุขภาพ และ ตลาดเช้าวันนี้ (23 ก.พ.) ว่าขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่มาให้กำลังใจพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากลงพื้นที่ไปหลายจังหวัด ก็รับรู้ถึงความผูกพันของพี่น้องประชาชนที่มีต่อพรรคประชาธิปัตย์ ล่าสุดไปที่จังหวัดสุโขทัย พี่น้องชาวสุโขทัยก็ออกมาให้การต้อนรับ และให้กำลังใจ ทำให้พรรคฯ มีกำลังใจมากยิ่งขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลายฝ่ายเริ่มกังวลเรื่อง ส.ว. 250 คน จะรวมกับพรรคพลังประชารัฐชิงจัดตั้งรัฐบาลได้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวตอบว่า ตนได้แสดงจุดยืนตั้งแต่ต้นว่าแม้สมาชิกวุฒิสภาจะมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าเราอยากให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าอย่างราบรื่น เพื่อที่จะเป็นพื้นฐานสำคัญของการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เพื่อที่จะทำให้ประชาธิปไตยเป็นที่ยอมรับ สมาชิกวุฒิสภาก็ควรจะดูเจตนารมย์ของประชาชน

“ผมเรียกร้องทุกพรรคการเมืองว่า เราควรจะมาหากระบวนการภายในสภาผู้แทนราษฎรให้ชัดเจนว่าเสียงข้างมากของ ส.ส. สนับสนุนใครเป็นรัฐบาล สนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าทุกพรรคทำอย่างนี้ก็จะทำให้การเลือกตั้งสะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เกรงว่าจะไม่เป็นอย่างที่คิดหรือไม่ เมื่อกฎหมายเปิดช่องให้ทำได้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวตอบว่า ตนอยากจะบอกกับคนที่คิดจะทำอย่างอื่นว่า อย่าทำเลย ขอให้เห็นแก่ประเทศชาติบ้านเมือง ให้ประเทศชาติบ้านเมืองเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ให้ชาวโลกมีความมั่นใจในกระบวนการประชาธิปไตยของไทย ส.ว. ตามโครงสร้างรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ต้องการให้มีความเป็นกลาง นับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา

เพราะฉะนั้นในอดีตพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายที่ทักท้วง เวลาที่มีพรรคการเมือง หรือ รัฐบาลใด พยายามที่จะเข้าไปครอบงำ ส.ว. ซึ่งถ้า พล.อ. ประยุทธ์ เห็นว่านี่เป็นหลักการที่ถูกต้องท่านก็ควรจะสร้างความมั่นใจในฐานะที่เป็นรัฐบาลขณะนี้ และในฐานะที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการเลือกตั้งครั้งนี้ ว่าต้องไม่เข้าไปครอบงำวุฒิสภา ความจริงแล้วควรจะพูดว่าให้วุฒิสมาชิกสนับสนุนใครก็ตามที่ประชาชนสนับสนุนให้จัดตั้งรัฐบาล

หากพูดอย่างนี้เชื่อว่าประชาชนทุกฝ่ายจะสบายใจ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าท่านเป็นหัวหน้า คสช. มีส่วนในการแต่งตั้งวุฒิสภา มีส่วนได้เสียคือวุฒิสภาสามารถกลับมาเลือกท่านได้ อันนี้เป็นปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน ผลประโยชน์ทับซ้อนไม่ได้หมายความว่าคนที่มีปัญหานี้ เป็นคนดี หรือคนไม่ดี แต่เป็นปัญหาที่โดยหลักสากล หลักธรรมาภิบาล ไม่ควรจะเกิดขึ้น เพราะจะเกิดคำถามตลอดเวลาว่าการตัดสินใจของแต่ละฝ่ายมีผลประโยชน์อื่นเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่

เพราะฉะนั้น ถ้า พล.อ. ประยุทธ์ อยากให้มีความชัดเจนก็ควรจะประกาศหลักการเช่นเดียวกับที่พรรคการเมืองต่างๆ ประกาศว่าให้ ส.ว. สนับสนุนใครก็ตามที่ประชาชนเลือกมา และสามารถรวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :