ไม่พบผลการค้นหา
เปรียบเป็น ‘หนามยอกอก’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม มานานหลายปี ที่มักโดนขุดประเด็น ‘บ้านพักหลวง’ หรือบ้านพักอาคารหมายเลข 253/54 ภายในกรมทหารราบที่ 1 ขึ้นมาอีกครั้ง ก่อนจะต้องพ้นตำแหน่ง นายกฯ ในอีกไม่นาน

แม้เรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำวินิจฉัยมาแล้วก็ตาม ย้อนกลับไปปี 2563 โดยมีมติเอกฉันท์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ขาดคุณสมบัติความเป็นนายกฯ จากกรณีพักอาศัย ในบ้านพักข้าราชการทหาร แม้เกษียณอายุราชการไป 6 ปีแล้ว เนื่องจากเป็นไปตามระเบียบภายในของ ทบ. ปี 2548 

สำหรับ ระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรอง พ.ศ.2548 ลงนามโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ขณะเป็น ผบ.ทบ. ที่ศาลรัฐธรรมนูญนำมาใช้ประกอบคำวินิจฉัย 4 ข้อ ได้แก่

ข้อ 5 กำหนดว่า ผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก ต้องมีคุณสมบัติ 

5.1 เป็นข้าราชการประจำการสังกัดกองทัพบก ที่มีชั้นยศพลเอก 

5.2 เป็นอดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพบกซึ่งทำคุณประโยชน์ให้กองทัพบกและประเทศชาติ และเคยดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.มาแล้ว 

ข้อ 7 กำหนดให้แบ่งประเภทของบ้านพักรับรองกองทัพบก สำหรับผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัยตามข้อ 5 คือ 

7.1 บ้านพักรับรองอาคารหมาย 70/25 เป็นบ้านพักของ ผบ.ทบ. 

7.2 บ้านพักรับรองกองทัพบกซึ่งมีหลายหมายเลข และที่กองทัพบกกำหนดขึ้นในภายหลัง เป็นบ้านพักรับรองของผู้บัญชาการชั้นสูงของกองทัพบก และอดีตผู้บังคับบัญชาในข้อ 5.2 

ข้อ 8 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบกหมดสิทธิเข้าพักอาศัยในกรณีดังนี้ 

8.1 ย้ายออกนอกกองทัพบก 

8.2 ออกจากราชการไม่ว่ากรณีใด 

8.3 ถึงแก่กรรม 

8.4 เมื่อกองทัพบกพิจารณาให้หมดสิทธิ์เข้าพักอาศัย 

ข้อ 8 วรรคสอง กำหนดว่าสำหรับผู้มีสิทธิ์เข้าพักอาศัยตามข้อ 5.2 ถ้าหมดสิทธิ์เข้าพักอาศัยตามข้อ 8.1 หรือ 8.2 แล้ว กองทัพบกมีสิทธิ์พิจารณาให้เข้าพักอาศัยเป็นกรณีเฉพาะรายก็ได้

ข้อ 11 กำหนดว่า บ้านพักรับรองที่กองทัพบกกำหนดให้พิจารณาตามความเหมาะสมในการสนับสนุนงบประมาณค่ากระแสไฟฟ้าและน้ำประปา ตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็นในการพักอาศัย และเหมาะสมในการใช้งาน

ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำวินิจฉัยเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีความผิดกรณี ‘พักบ้านพักทหาร’ เพราะเป็นไปตามตามระเบียบ ทบ. โดยศาลชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ พักอาศัยในฐานะอดีตผู้บังคับบัญชา ไม่ใช่ตำแหน่ง นายกฯ 

อีกทั้ง ทบ. ได้ชี้แจงว่าเป็น ‘บ้านพักรับรอง ทบ.’ ที่สนับสนุนค่าไฟฟ้า-น้ำประปา โดย ทบ. พิจารณาความเหมาะสมตามดุลพินิจของ ทบ. ที่มีอำนาจพิจารณาตามระเบียบ ทบ. ปี 2548 ที่บังคับใช้มาก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. และนายกฯ 

ประยุทธ์ 104823000000.jpg

อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญระบุอีกว่า มีความจำเป็นที่รัฐจะต้องจัดที่พำนักของนายกฯ ขณะที่ดำรงตำแหน่ง เพื่อรักษาความปลอดภัยและเพื่อให้นายกฯปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสมเกียรติ 

"โดยที่นายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญของประเทศ นอกจากเป็นหัวหน้าของคณะรัฐมนตรี ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ยังมีฐานะเป็นผู้นำของประเทศ ความปลอดภัยของนายกรัฐมนตรี รวมทั้งครอบครัวจึงมีส่วนสำคัญ รัฐมีหน้าที่จัดการดูแลให้ปลอดภัยแก่นายกรัฐมนตรีและครอบครัว ตามความเหมาะสมแก่สภาพการณ์ การจัดบ้านพักรับรองที่ปลอดภัย มีความเป็นส่วนตัว สร้างความพร้อมทั้งสุขภาพกายและจิตใจ การปฏิบัติภารกิจในการบริหารประเทศ ล้วนเป็นประโยชน์ส่วนรวม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐพึงจัดให้มีที่พำนักของผู้นำของประเทศ ในขณะที่ดำรงตำแหน่ง" วรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ

นอกจากนี้ศาลยังวินิจฉัยอีกว่าการที่กองทัพบกกำหนดให้ อาคารหมายเลข 253/54 เป็น ‘บ้านพักรับรอง ทบ.’ แม้จะเป็นการกำหนดขึ้นภายหลังปรากฏตามหนังสือ กบ.ทบ.ด่วนมากที่ ต่อ กห.0404/1560 ลงวันที่ 19 มิ.ย. 2555 โดยอนุมัติให้ปรับโอน ‘อาคารรับรอง’ ดังกล่าวเป็น ‘บ้านพักรับรอง ทบ.’ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพบกก็ตาม แต่เป็นการกำหนดโดยอาศัยอำนาจตามข้อ 7.2 ให้กระทำได้ (แม้ปัจจุบัน ร.1 รอ. ได้เปลี่ยนสถานะเป็น ร.1 ทม.รอ. แล้ว)

วรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ 923.jpg

ภายใน ร.1 รอ. เดิมนั้น เรียกว่าเป็น ‘รังอำนาจ’ ของขั้ว ‘3ป.บูรพาพยัคฆ์’ เพราะเป็นที่ตั้งบ้านพักของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่อยู่มาตั้งแต่สมัยเป็น ‘แม่ทัพภาคที่ 1’ แม้จะมีการเปลี่ยนจุดที่ตั้งบ้านพัก จากเดิมที่อยู่ใกล้แฟลตทหาร-ใกล้รั้วค่าย จึงเขยิบเข้ามาข้างในมากขึ้น ซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่ในปัจจุบัน 

โดยใกล้กับบ้านพักรับรองของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่อยู่ถนนเส้นเดียวกัน โดยประตูหน้าบ้านของ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ใกล้กับประตูหลังมูลนิธิอนุรักษ์ป่าร่อยต่อฯ ของ พล.อ.ประวิตร

สำหรับ พล.อ.ประวิตร ได้ย้ายไปบ้านพักส่วนตัวย่านมีนบุรี ชื่อว่า ‘บ้านปิยะมิตร’ ส่วน พล.อ.อนุพงษ์ ก็ย้ายไปอยู่บ้านพักส่วนตัว ย่านพุทธมณฑลแล้ว จึงเหลือแต่ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ยังพักใน ร.1 ทม.รอ. 

สำหรับ พล.อ.ประวิตร ได้เปลี่ยนจาก ‘บ้านพักรับรอง’ มาเป็น ‘มูลนิธิป่ารอยต่อฯ’ ที่ตั้งขึ้นหลังเกษียณฯจาก ผบ.ทบ. โดยขอเช่าบ้านและที่ดิน 1 ไร่ 2 งาน จากกองทัพบก (เขตที่ดินกองทัพภาคที่ 1) ที่ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ด้านหลัง ร.1 พัน.1 รอ. โดยทำสัญญาเช่ากับ ‘กรมธนารักษ์’

ประวิตร อนุทิน ชาดา ศักดิ์สยาม ป่ารอยต่อ -90DC-42F8-9FB0-88CB4E001E39.jpeg

ย้อนกลับไปเรื่อง ‘บ้านพักหลวง’ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ขยับเข้ามาใน ร.1 รอ. มากขึ้น ซึ่งบริเวณดังกล่าวเดิมเป็นบ้านพักของ พล.อ.ไพศาล กตัญญู รอง ผบ.ทบ. ที่เกษียณฯ และได้ย้ายออกไปพอดี

แต่ยังไม่จบเท่านี้ เพราะมีการขอคืนบ้านหลวง จาก พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร อดีต ผบ.ทบ. ที่อยู่ข้างๆมาด้วย เพื่อขยายให้บ้านพักรับรองของ พล.อ.ประยุทธ์ กว้างขึ้น หลัง พล.อ.ชัยสิทธิ์ อยู่บ้านพักหลวง หลังเกษียณฯ มาประมาณ 5 ปี จากนั้นได้ย้ายไปอยู่บ้านพักส่วนตัวย่านรังสิต คลอง 4 แทน

ทั้งนี้บ้านของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นบ้านขนาดใหญ่ มีรั้วสูงทึบ มีอาคารรับรองแยกออกมา แบ่งเป็นสัดส่วนพอสมควร และถนนหน้าบ้านจะไม่ให้รถสัญจรผ่านเท่าใดนัก จึงมีความเป็นส่วนตัวอย่างมาก 

อย่างไรก็ตามช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ เดินเข้าสู่สนามการเมืองเต็มตัว มาทำพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นพรรคของตัวเอง

และเคยมีรายงานข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ เปิดบ้านให้ ‘แกนนำ รทสช.’ เข้าไปพบปะพูดคุย ทำเป็น ‘เซฟเฮ้าส์’ แต่ถูกวิจารณ์ว่าเป็น ‘พื้นที่ค่ายทหาร’

ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องออกมาเปิด ‘เซฟเฮ้าส์’ พบปะบรรดาแกนนำ-นักการเมือง ที่ร้านอาหารย่านอารีย์แทน ก่อนจะมาใช้อาคารที่ทำการพรรค รทสช. ที่อารีย์ ซอย 5 เป็นหลัก

ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ แม้ว่าจะพ้นเก้าอี้ นายกฯ แต่ก็ยังคงอยู่ ‘บ้านพักหลวง’ หลังนี้ต่อไป ตามระเบียบ ทบ. ที่ พล.อ.ประยุทธ์ อ้าง

แม้จะมีบ้านพักส่วนตัวย่านประดิพัทธ์ก็ตาม แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังเกรงเรื่อง ‘ความปลอดภัย’ จึงต้องจับตาสถานะ-บทบาทของ พล.อ.ประยุทธ์ หลังจากพ้นตำแหน่งนายกฯ จะเป็นอย่างไรต่อไป