สมาชิกรัฐสภาของชิลีลงมติเลื่อนการลงประชามติถามความเห็นประชานว่าต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ เนื่องจากกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยขณะนี้ ชิลีมีผู้ติดเชื้อ 324 คนแล้ว ถือว่ามีอัตราผู้ติดเชื้อต่อหัวประชากรมากที่สุดในอเมริกาใต้
ก่อนหน้านี้ ชิลีกำหนดจัดการลงประชามติในวันที่ 26 เม.ย.นี้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขของชิลีประเมินว่าโควิด-19 จะระบาดสูงสุดในชิลีช่วงนั้นพอดี สมาชิกรัฐสภาจึงเตรียมกำหนดวันลงประชามติใหม่เป็นวันที่ 26 ต.ค. แต่จะต้องลงมติรับรองให้ได้ 2 ใน 3 ของทั้งหมดในรัฐสภาก่อน
หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านของชิลีระบุว่า มติเลื่อนการลงประชามติเป็นการบอกประชาชนว่า สุขภาพของชาวชิลีเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ขณะนี้ชิลีกำลังเผชิญวิกฤตที่ทำให้ต้องจัดการอย่างรับผิดชอบ
ในเดือน ต.ค.ปี 2562 ชาวชิลีประท้วงการขึ้นค่ารถไฟในช่วงเร่งด่วนและนำไปสู่การเรียกร้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เนื่องจากผู้ชุมนุมมองว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นมรดกของผู้นำเผด็จการ "ออกุสโต ปิโนเชต์" ทำให้เศรษฐกิจชิลีเป็นแบบเสรีนิยมใหม่จนสินค้าและบริการต่างๆ แพงจนเกินไป
เมื่อวันที่ 17 มี.ค. เซบาสเตียน ปิเญรา ประธานาธิบดีชิลีประกาศ “ภาวะหายนะ” เป็นเวลา 90 วัน เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในชิลี ซึ่งจะให้อำนาจพิเศษแก่รัฐบาลในการจำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนย้าย จัดการให้มีอาหารเพียงพอ และควบคุมบริการพื้นฐานต่างๆ อีกทั้งยังอนุญาตให้กองทัพเข้าไปแทรกแซงสถานการณ์หากมีความจำเป็น เพื่อให้สังคมสงบเรียบร้อย
เพียงไม่นานหลังจากมีมติเลื่อนการลงประชามติ เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปเก็บกวาดปลาซาอิตาเลีย ซึ่งเป็นสถานที่ชุมนุมหลักในกรุงซานติอาโก และในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้ไปร่วมชุมนุมก็น้อยลง เพราะคนใช้มาตรการเว้นระยะทางสังคม แต่การเก็บกวาดพื้นที่ชุมนุมรวมถึงป้ายประท้วงส่งผลให้ผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งไม่พอใจอย่างมาก โดยนิโก ซิลบา นักมานุษยวิทยาสังคมที่ไปร่วมประท้วงกล่าวว่า หลายคนอาจมองว่ารัฐบาลกำลังยั่วยุพวกเขา และทำให้คนกลับไปชุมนุมกัน ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ไม่รับผิดชอบของรัฐบาล
ที่มา : The Guardian, Daji World