ไม่พบผลการค้นหา
'วิษณุ' แนะรอคำวินิจฉัยกลางศาลรัฐธํรรมนูญก่อน โดยเฉพาะการเพิ่มหมวด 15/1 การให้มี ส.ส.ร.มาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะเป็นเรื่องอนาคต ขออย่าเพิ่งเอา 4 บรรทัด มาถกเถียงปมประชามติก่อนหรือหลัง

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เปิดทางให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ที่หลายฝ่ายต้องการให้รอคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญออกมา ก่อนเดินหน้าลงมติในวาระ 3 ว่า ให้รอคำวินิจฉัยกลางออกมาก่อนจะเป็นเรื่องดีที่สุด 

ส่วนมาตรา 256 (8) ของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า การแก้ไขเพิ่มเติมในหมวด 15 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องนำไปทำประชามติอยู่แล้ว วิษณุ ระบุว่า เป็นคนละมติกัน เพราะเป็นการทำประชามติว่าการแก้ไขใดๆ ที่ทำมา ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ ซึ่งเป็นการทำประชามติในเรื่องที่เกิดขึ้นมาในอดีต แต่กรณีที่มีการเพิ่มหมวด 15/1 ซึ่งเป็นเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย ส.ส.ร. 200 คน ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ และเป็นเรื่องของอนาคต ดังนั้นก็ขอให้อดใจรอรายละเอียดจากศาลรัฐธรรมนูญก่อน

"หมวด 15/1 ที่เพิ่มเข้ามาเป็นเรื่องที่จะให้มี ซึ่งเป็นเรื่องของอนาคต แต่รายละเอียดทั้งหมด เชื่อผมเถอะ อดใจอย่ามาเถียงกัน ทะเลาะกัน ให้ฟังความเห็นกลางเสียก่อน และคงจะน่าจะชัด" วิษณุ ระบุ

ส่วนวันนี้ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะประชุมจัดทำคำวินิจฉัยกลาง วิษณุ ก็ขอให้รอฟัง เพราะ 4 บรรทัดที่ออกมาก็ยังถกเถียงกันอยู่ ก็จะต้องตอบมาให้ได้ว่าความชัดเจนนั้นคืออะไร ซึ่งถ้าออกมาวันนี้ ส่งไปที่รัฐสภาก็เสร็จ พร้อมปฏิเสธตอบคำถาม กรณีหากยังมีการถกเถียงกันอยู่หลังมีคำวินิจฉัยกลาง โดยระบุว่า "ก็ถกเถียงกันต่อไป"


'พรเพชร' ยอมรับการลงมติมีผลทางการเมือง

ด้าน พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา(ส.ว.) กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) ว่า เป็นการหารือเรื่องการโหวตวาระ 3 ในญัตติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็นเป็นเรื่องด่วนคงต้องพิจารณากันว่าจะดำเนินการอย่างไร 

ส่วนที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) เตรียมเสนอความเห็นให้เลื่อนการโหวตวาระ 3 ไปก่อนนั้น ก็คงต้องไปดูกันในที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งส.ว.ก็ยังไม่รู้ว่าจะห็นด้วยหรือไม่ พร้อมมองว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญชัดเจน แม้จะเขียนสั้นๆ ว่าอำนาจในการตรากฎหมาย เป็นอำนาจรัฐสภา หากรัฐสภาต้องการรัฐธรรมนูญใหม่ก็ต้องไปขอประชาชนโดยการทำประชามติ หากประชาชนเห็นชอบก็จะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หลังร่างเสร็จแล้วก็ขอประชามติจากปประชาชนอีกครั้ง แต่ที่เห็นปัญหาตอนนี้คือญัตติที่ค้างอยู่ ที่จะลงมติในวาระ 3 นี้ ซึ่งเป็นปัญหาว่าจะเดินหน้าต่อไป โดยยึดร่างที่ทำไว้แล้ว และไปออกเสียงประชามติได้หรือไม่ บางคนก็บอกไม่ได้ เพราะมีเนื้อหาขัดแย้งในรัฐธรรมนูญ แต่ก็ต้องหารือกันว่าจะลงมติอย่างไร เป็นไปได้ว่าจะมีญัตติซ้อนญัตติในการขอเลื่อนเพราะไม่ได้มีกฎหมายบังคับว่าต้องลงมติพรุ่งนี้ หรือภายใน 15 วัน ซึ่งตนไม่ทราบว่าที่ประชุมจะมีความคิดเห็นอย่างไร 

ส่วนการโหวตเห็นชอบหรือไม่นั้น มีผลกระทบในทางการเมืองพอสมควร สมมุติว่าที่ประชุมเห็นชอบ ให้วาระ 3 ผ่าน ตนเชื่อว่าจะมีการนำเรื่องไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญอีก และจะช้าเข้าไปอีก หากศาลรัฐธรรมนูญไม่เห็นด้วย ส่วนหากวาระ3 ไม่ผ่านความเห็นชอบ เป้าก็มาอยู่ที่ ส.ว.และต้องตกเป็นจำเลยทางการเมือง ซึ่งส.ว.ต้องอธิบาย 

ทั้งนี้ ส.ว.มีความคิดอิสระ บังคับไม่ได้ แต่ก็คงจะมีการพูดตากันว่าจะดำเนินการอย่างไร การโหวตคว่ำร่างยังไม่ได้พูดคุยกัน ส่วนที่มีข้อสังเกตุว่า ส.ว.อาจไม่เข้าร่วมประชุมนั้น ตนไม่คิดว่าจะไม่มีใครไม่มาร่วมประชุม แต่อย่างไรก็ต้องแสดงความกล้าหาญ 

สำหรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ จากสังคมในเรื่องของโหวตวาระ 3 นั้น ตนมองว่าไม่เป็นไร เพราะว่าตอนนี้ ไม่ใช่ความเห็นการตีความไม่ตรงกัน แต่ปัญหาจริงๆคือร่างที่ค้างโหวต แต่หากรัฐสภาจัดตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมเสนอญัตติแบบรายมาตรานั้น สามารถทำได้เลย แต่ก็ขึ้นอยู่กับเสียงในที่ประชุมว่าจะเห็นด้วยหรือไม่