ไม่พบผลการค้นหา
ตามให้ทันการแก้รัฐธรรมนูญ หน้าตาเป็นอย่างไร ลุ้นจะได้โหวตวาระ 3 หรือไม่ ส.ว.จะคว่ำร่างหรือไม่ มีโจทย์ใดให้ประชาชนต้องขบคิด

การแก้รัฐธรรมนูญเป็นวาระสำคัญที่หลายฝ่ายเรียกร้อง และเป็น 1 ใน 3 ข้อเรียกร้องหลักของการชุมนุมที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ด้วยขั้นตอนอันยาวนาน เทคติกอันซับซ้อน อาจทำให้ผู้คนตามไม่ทัน และไม่รู้ว่าเกมในสภากำลังทำให้ (ได้) เสียอะไรบ้าง หรือกระทั่งไม่ทันตั้งหลักว่า สุดท้ายเกมอาจพลิกกลายเป็นรัฐบาลประยุทธ์เป็นผู้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้

จึงมีความจำเป็นที่เจ้าของอำนาจอธิปไตย ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญต้องตามให้ทัน จับตาช่วงสำคัญ เพื่อคิดถึงโจทย์ข้างหน้าว่าจะทำไรกับเกมในรัฐสภา ซึ่งจะว่าไปมันก็นับเป็นหนทางแก้วิกฤตอย่างสันติที่สุดของสังคม  

infographic แก้รัฐธรรมนูญ 1
  • อันดับแรก ต้องเข้าใจก่อนว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ร่างโดยคณะกรรมการที่ คสช.ตั้งขึ้น วางกติกาที่เอื้อต่อการสืบทอดอำนาจของ คสช.ในหลายเรื่อง ไม้เด็ดที่สุดคือ ดีไซน์ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ยากที่สุดในประวัติศาสตร์ ญัตติไว้ใน มาตรา 256 ซึ่งกำหนดเงื่อนไขไว้ดังนี้  

1. ในวาระ 1,2,3 ต้องใช้เสียงสองสภา (ส.ส.-ส.ว.) เกินกึ่งหนึ่ง

2. ในวาระ 1 และ 3 ต้องใช้เสียง ส.ว.ซึ่ง คสช.แต่งตั้งถึง 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง

3. ในวาระ 3 ต้องใช้เสียงจากพรรคฝ่ายค้านด้วยร้อยละ 20

4. ก่อนทูลเกล้าฯ เปิดช่องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

5. ต้องทำประชามติ หากแก้ในส่วนสำคัญที่ระบุไว้หลายเรื่อง

  • ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่บรรจุวาระเข้าสู่การพิจารณาของสภามีทั้งหมด 7 ฉบับ  
  • ในวาระ 1 หรือขั้นรับหลักการ เหล่าส.ส.-ส.ว.โหวตให้ผ่านเพียง 2 ฉบับ คือ ฉบับพรรคร่วมรัฐบาล และฉบับฝ่ายค้าน
  • ทั้งสองฉบับแก้ไขใน 2 ส่วนหลักคือ

1. แก้มาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตราเกิดได้ง่ายขึ้น   2. การจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

  • ร่างของพรรคก้าวไกล - ร่างประชาชน (iLaw) ถูกปัดตกในวาระ 1 ทั้งสองกลุ่มมีจุดเด่นตรงกันที่ไม่ล็อคการแก้ไขหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์
  • ร่างประชาชนมีเนื้อหาถอนรากถอนโคนมากที่สุด มีเป้าหมายลบล้างการสืบทอดอำนาจ คสช.2 โดยเฉพาะการเซ็ทซีโร่ ‘องค์กรอิสระ’ ที่ล้วนมาจากการคัดสรรของกลไกที่ คสช.ตั้งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ศาลรัฐธรรมนูญ, ป.ป.ช., กกต., กสม., คตง., ผู้ตรวจการแผ่นดิน
  • เนื้อหาร่าง 2 ฉบับของฝ่ายรัฐบาล - ฝ่ายค้าน ที่ผ่านวาระ 1 มีทั้งส่วนที่เหมือนและต่างกัน ดังนี้

Ø เสียงในการแก้รัฐธรรมนูญ

รัฐบาล :     3 ใน 5 หรือ 450 เสียง

ฝ่ายค้าน :   กึ่งหนึ่ง หรือ 375 เสียง

Ø สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)

รัฐบาล :     เลือกตั้ง 150 คน คัดเลือก 50 คน ( ตัวแทนรัฐสภา,นักวิชาการ,นักศึกษา)

ฝ่ายค้าน :  เลือกตั้งทั้งหมด 200 คน (ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง)

Ø การแก้หมวด 1, 2

รัฐบาล :      ห้าม

ฝ่ายค้าน :    ห้าม

infographic แก้รัฐธรรมนูญ 2
  • หลังผ่านวาระแรก ทั้งสองร่างถูกนำไปพิจารณาในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) โดยใช้ร่างของพรรคร่วมรัฐบาลเป็นหลัก กมธ.ได้ข้อสรุปออกมาแบบ ‘แก้ยากกว่าเดิม’ คือ

1. ใช้เสียงแก้ไขรัฐธรรมนูญ 1 ใน 3 ของสองสภา หรือ 500 เสียง  

2. สสร. มาจากการเลือกตั้ง 100% ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง

  • อย่างไรก็ตาม ผลการโหวตวาระ 2 ออกมาแตกต่างจากข้อเสนอ กมธ.

1.     ใช้เสียงแก้รัฐธรรมนูญ 3 ใน 5  หรือ 450 เสียง

2.     สสร. เลือกตั้ง 100% แบ่งเขตย่อย 200 เขต (คล้ายการเลือกตั้งส.ส.เขต)

  • วางกันไว้คร่าวๆ ว่า 17-18 มี.ค. สภาจะมีโหวตในวาระ 3 วาระสุดท้าย
  • เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งยิบย่อย 200 เขต นักวิชาการอย่าง สิริพรรณ นกสวน สวัสดี จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เห็นว่า

“ระบบนี้จะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้สมัครที่มีหัวคะแนนเชื่อมโยงกับ ส.ส. และนักการเมือง เอื้อต่อผู้มีชื่อเสียง มีอิทธิพล หรือมีฐานคะแนนเสียงอยู่แล้วในพื้นที่ เปิดโอกาสให้กลไกรัฐระดมสรรพกำลังเข้ามาแทรกแซงได้ง่าย ที่สำคัญ เป็นระบบเลือกตั้งที่ตัวแทนหลากหลายของคนกลุ่มต่าง ๆ หรือ คนกลุ่มน้อย มีโอกาสน้อยมากที่จะได้รับเลือกเข้าไปทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงในสภาร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากผู้เลือกตั้งมีเสียงเดียว และผู้ชนะมีเพียงคนเดียวที่ได้คะแนนเสียงสูงสุด ระบบเลือกตั้งที่เหมาะสมกว่า ในการเลือก สสร. ครั้งนี้ คือ ระบบเสียงข้างมากธรรมดา หนึ่งเขตหลายคน คะแนนเสียงเดียว ถ่ายโอนคะแนนไม่ได้ (Single Non-Transferable Vote--SNTV) เป็นระบบเลือกตั้งที่คนไทยเคยใช้มาแล้ว ในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2543”

infographic แก้รัฐธรรมนูญ 3
  • ต้องดอกจันไว้ด้วยว่า ก่อนจะโหวตวาระ 2 กัน ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พลังประชารัฐ และพวกได้ ‘สร้างเงื่อนไขสำคัญยิ่ง’ โดยเสนอญัตติให้รัฐสภาโหวตว่า จะส่งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ พวกเขาเห็นว่า รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้แก้ไขรายมาตราเท่านั้น จะไปตั้ง สรร.ยกร่างใหม่ได้อย่างไร คำถามนี้ดังขึ้นทั้งที่พรรครัฐบาลก็ร่วมโหวตให้ร่างแก้รัฐธรรมนูญผ่านวาระ 1 ไปแล้ว
  • ส.ส.รู้ดีว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญคืออำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ผลโหวตญัตติของไพบูลย์จึงออกมาค่อนข้างสูสีระหว่าง ส่ง 366 : ไม่ส่ง 316  และงดออกเสียง 15 แม้แต่ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล อย่างประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนาก็ยังไม่เอาด้วย แต่เมื่อมีเสียง ส.ว.อยู่ในมือ โหวตอย่างไรก็แพ้
  • นักวิชการด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ต่างพากันผิดหวังต่อผลโหวตของสภาในเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นการยกอำนาจนิติบัญญัติไปให้ตุลาการกำหนด และจะสร้างบรรทัดฐานต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบได้หลังจากผ่านทั้ง 3 วาระแล้ว ไม่ใช่ส่งระหว่างทาง
  • วิษณุ เครืองาม ฝ่ายกฎหมายนัมเบอร์วันของรัฐบาลตอกย้ำว่า ศาลรัฐธรรมนูญคือ ‘จุดตาย’ อีกจุด เพราะให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า แม้สภาผ่านวาระ 2 ไปแล้วก็จริง แต่หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาว่า “ตั้ง สสร.ไม่ได้-แก้ได้รายมาตราเท่านั้น” ก็ต้องผูกพันตามนั้น
  • ถ้าคำวินิจฉัยออกมาแนว “แก้รายมาตราได้เท่านั้น” สังคมน่าจะต้องคิดหนักว่าจะเอาอย่างไร เนื่องจากเท่ากับเป็นการล็อคให้รัฐธรรมนูญ 2560 คงอยู่ตลอดไป และการแก้รายมาตรานั้นก็ยากมากถ้าจะแก้ส่วนที่รัฐบาลเสียประโยชน์ เพราะเสียงฝ่ายค้านทั้งหมดไม่ถึง 3 ใน 5 และตามรัฐธรรมนูญ 2560 นี้ล็อคให้ ส.ว.แต่งตั้งมีบทบาทกำหนดว่าอะไรแก้ได้-ไม่ได้ เพราะต้องใช้เสียง ส.ว.1 ใน 3 ของจำนวนส.ว.ทั้งหมด หรือ 84 คน
  • เบื้องต้น ศาลรัฐธรรมนูญเรียกคำให้การจาก 4 อรหันต์ ‘นักร่างรัฐธรรมนูญมืออาชีพ’

Ø มีชัย ฤชุพันธุ์ มือยกร่าง รธน.2560 ผู้เป็น 1 ใน คสช. ปัจจุบันเป็นประธานคณะกฤษฎีกาชุดที่ 1

Ø บวรศักดิ์ อุวรรณโณ มือร่างรัฐธรมนูญฉบับแรกยุค คสช.ที่โดนโหวตคว่ำ เจ้าของวาทะ “เขาอยากอยู่ยาว”

Ø สมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตคณบดีนิติศาสตร์ มธ. เคยไปนั่งเป็น สนช.และเป็นกรรมาธิการช่วยยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์

Ø อุดม รัฐอมฤต อดีตโฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ผู้ที่ให้สัมภาษณ์สื่อหลายครั้งตั้งแต่ปลายปีที่แล้วว่า การยกร่างใหม่ทั้งฉบับทำไม่ได้ แก้ได้เฉพาะรายมาตรา ทั้งยังแนะนำช่องให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความด้วย

  • ฝ่ายค้านโวยศาลรัฐธรรมนูญว่า เหตุใดจึงเรียกหาคำให้การจากเพียง 4 คนดังกล่าว และจึงยื่นต่อคำให้การของพรรคร่วมฝ่ายค้านต่อศาลเอง สรุปเนื้อหาได้ว่า กระบวนการที่ทำอยู่ไม่ใช่รัฐสภาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่เอง เพียงแต่ใช้อำนาจที่รัฐธรรมนูญมอบให้ในการแก้ไขเพิ่มเติมในบางมาตรา เพื่อนำไปสู่การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่เท่านั้น เมื่อ สสร.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ต้องเสนอให้รัฐสภาอภิปรายแสดงความเห็น หลังจากนั้นต้องทำประชามติถามว่าประชาชนเห็นชอบกับร่างนี้หรือไม่ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดอยู่แล้ว 
infographic แก้รัฐธรรมนูญ 4
  • เงื่อนปมสำคัญคือ ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยออกมาอย่างไร ?

1. ถ้าวินิจฉัยว่า รัฐสภามีอำนาจพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ก็เป็นอันว่าเดินหน้าสู่การโหวตวาระ 3  กระนั้น ในการโหวตวาระ 3 ผู้กำหนดหลักยังเป็น ส.ว.แต่งตั้ง เพราะต้องใช้เสียงส.ว. 1 ใน 3 ขณะนี้เริ่มมีส.ว.บางส่วนออกมาให้สัมภาษณ์แล้วว่า จะโหวตคว่ำร่างนี้เพราะเกรงจะไปแก้หมวด1 หมวด2 (ทั้งที่ระบุแล้วว่าห้ามแก้) และต้องการให้เขียนเพิ่มเติมว่าห้ามแก้อีก 38 มาตราเกี่ยวกับพระราชอำนาจที่กระจายในหมวดอื่น

2. หากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกำหนดให้ “แก้ได้รายมาตราเท่านั้น” (ตั้ง สสร.เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้) แปลว่า กระบวนการทั้งหมดอาจต้องเริ่มต้นใหม่ และสิ่งที่น่าจะได้คือ การแก้ไขมาตรา 265 ว่าด้วยเงื่อนไขการแก้รัฐธรรมนูญที่จะทำให้ทำได้ง่ายขึ้นตามที่โหวตผ่านไปในวาระ 2 ไป นั่นคือ ใช้เสียงสองสภา 3 ใน 5 โดยตัดเงื่อนไขอื่นๆ ออก

  • ถามว่า การแก้รัฐธรรมนูญแบบรายมาตรา เป็นไปได้แค่ไหน ?

คำนวณด้วยคณิตศาสตร์พื้นฐาน การจะแก้รัฐธรรมนูญมาตราต่างๆ ไม่มีทางเป็นไปได้ ถ้าฝ่ายรัฐบาลและส.ว.ไม่เอาด้วย เพราะเสียงไม่มีทางถึง 3 ใน 5 แน่นอน ยกเว้น แก้ในสิ่งที่พรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่นๆ อยากได้ด้วย เช่น แก้ระบบเลือกตั้ง อาจพอมีลุ้นว่าเสียงจะถึงหรือไม่

ณัชปกร นามเมือง เจ้าหน้าที่ไอลอว์ ให้ความเห็นไว้ว่า การแก้รัฐธรรมนูญให้ระบบเลือกตั้งกลับไปใช้บัตร 2 ใบ อาจเป็นประเด็นที่พรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา ได้ประโยชน์ด้วย เพราะจะทำให้การเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น ไม่เกิดพรรคเล็กพรรคน้อย ไม่เกิดรัฐบาลผสมหลายพรรค แต่ไม่แน่ใจว่าพลังประชารัฐ ภูมิใจไทยหรือพรรคจิ๋วทั้งหลายซึ่งได้ประโยชน์จากระบบที่เป็นอยู่จะอยากเปลี่ยนแปลงแค่ไหน พวกเขายังไม่ได้แสดงจุดยืนเรื่องนี้ชัดเจน

 “กรณีแก้รายมาตรา สมมติเราอยากแก้เรื่อง ที่มา ส.ว. ต่อให้แก้โดยใช้เสียง 3 ใน 5 ก็ยังเป็นไปได้ยากมาก ต้องใช้เสียงประมาณ 450 เสียง ถ้า ส.ว.ไม่เอาด้วยเลย ก็เท่ากับต้องใช้เสียง ส.ส.ถึงร้อยละ 90 ของทั้งสภา แค่พรรคพลังประชารัฐพรรคเดียวไม่เอาด้วยก็จบแล้ว จริงๆ แล้วเงื่อนไขที่ต้องใช้เสียง 3 ใน 5 ฝ่ายคุณประยุทธ์ได้เปรียบที่สุด ตัวเองมีส.ว.แต่งตั้งอยู่ในมือ 250 แล้ว หาอีกแค่ 200 เสียง พรรคพลังประชารัฐมีอยู่ 120 เสียง หาพรรคร่วมเพิ่มก็น่าจะมีโอกาส ถ้าเขาต้องการแก้บางอย่างที่เขาอยากแก้” ณัชปกรกล่าว 

infographic แก้รัฐธรรมนูญ 5

Ø 11 มี.ค.นี้ ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร 

Ø 17 - 18 มี.ค. โหวตวาระ 3 เหล่าส.ว.และพรรครัฐบาลจะคว่ำร่างนี้หรือไม่  

Ø หากรอดมาได้ก็จะเจอศึก ‘ประชามติ’ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดว่า การแก้รัฐธรรมนูญต้องทำประชามติด้วย

Ø หากรอดจากศึกประชามติก็จะเข้าสู่ศึก ‘เลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร.’ เพื่อผลักดันวาระการแก้ไขปัญหาโครงสร้างต่างๆ ที่ไม่รู้จะดันกันได้กี่มากน้อย

Ø จากนั้นก็จะเข้าสู่ศึกประชามติ ‘ร่างรัฐธรรมนูญใหม่’ อีกหน

Ø ตามปฏิทินที่ไอลอว์คำนวณไว้ว่า หากร่างผ่านวาระ 3 ตามกำหนดเดิมโดยไม่ถูกคว่ำ จังหวะทางการเมืองแบบที่เร็วที่สุดจะเป็นดังนี้

  • มิถุนายน ทำประชามติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
  • กรกฎาคม ทูลเกล้าฯ
  • กันยายน เลือกตั้ง สสร.
  • พฤษภาคม 2565 ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่
  • ทำประชมมติร่างรัฐธรรมนูญใหม่

เส้นทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ หนึ่งในข้อเรียกร้องที่มีความชอบธรรมมากที่สุด สงบสันติที่สุดของประชาชน กำลังถูกขัดขวางอย่างเต็มที่ และฉากสุดท้ายอาจพบกับความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง แต่นั่นเท่ากับเพิ่มอุณหภูมิให้กับกาต้มน้ำที่ถูกปิดฝาสนิท