ไม่พบผลการค้นหา
เราอยู่กับ คสช.มาเกือบ 5 ปี อยู่กับรัฐบาลประยุทธ์เกือบ 4 ปี เวลาในชีวิต 1 ทศวรรษหมดไปเปล่าๆ เปลืองๆ การเลือกตั้งในปี 2566 ถือเป็นเดิมพันสำคัญว่าชีวิตทุกคนจะขึ้นจากหุบเหวได้หรือไม่ และพรรคที่ชนะต้องไม่ใช่แค่เพียง ‘ชนะ’ เลือกตั้งแบบปกติธรรมดา แต่ต้อง ‘ชนะขาด’ หรือที่เรียกว่า ‘แลนด์สไลด์’

ทำไมต้องแลนด์สไลด์ ? หลายคนอาจคิดว่าเป็นเพียงการหวังผลประโยชน์ของพรรคใดพรรคหนึ่งที่อยากได้อำนาจ บ้างว่าเป็นอาการโม้โดยปกติของนักการเมือง แต่ ‘แลนด์สไลด์’ ครั้งนี้มีความหมายมากกว่านั้น เพราะมันหมายถึงการมีรัฐบาลที่แข็งแกร่งเพียงพอ เสียงในสภามากเพียงพอที่จะสะสาง ‘เงื่อนปม’ ในทางโครงสร้างการเมืองที่ฝ่ายอำนาจนิยมวางกับดักไว้มากมาย ทำให้ระบอบประชาธิปไตยปกติเติบโตได้ยาก  

แล้วถ้าฝ่ายประชาธิปไตยพ่ายแพ้ หรือชนะไม่เด็ดขาดล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น ? วอยซ์ นำเสนอ ‘6 เรื่องสยอง’ ที่เราจะต้องเผชิญต่อและอาจแย่ยิ่งกว่าเดิมตามเวลาที่เพิ่มขึ้น

สย1.jpgสย2.jpg

‘รัฐธรรมนูญพ่อมด’ ฉบับใหม่ไม่มีวันเกิด
  • รัฐธรรมนูญ 2560 ได้ชื่อว่าทำให้การเมืองไทยถอยหลังหลายสิบปี โดยเฉพาะการมี ส.ว.จากการแต่งตั้งทั้งหมด, นิรโทษกรรมคณะรัฐประหารทั้งอดีต ปัจจุบันและอนาคต, กำหนดกรอบการบริหารให้รัฐบาลหน้าอีกอย่างน้อย 4-5 ชุดผ่านยุทธศาสตร์ชาติ ฯลฯ ที่สำคัญคือ ‘ระบบเลือกตั้งเจ้าเล่ห์’ บัตรใบเดียว ที่ทำให้พรรคยิ่งใหญ่ยิ่งได้ที่นั่งน้อย แล้วเกิด ‘พรรคปัดเศษ’ จำนวนมาก เกิดรัฐบาลผสมที่ไร้เสถียรภาพ
  • ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา มีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสนอให้รัฐสภาพิจารณาไปแล้ว 26 ฉบับ ไม่ว่าจะแก้มากแก้น้อย หรือเสนอตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญจากประชาชนมายกร่างใหม่ แต่ทั้งหมดก็ถูกปัดตกหมดแล้ว
  • มีเพียงฉบับเดียวเหลือรอด สมาชิกรัฐสภาเห็นชอบทั้ง 3 วาระ คือ ร่างแก้ไขระบบเลือกตั้ง ส.ส. โดยให้กลับไปใช้ระบบเลือกตั้งแบบ MMM ซึ่งกำหนดให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ (เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ) แบบที่เคยใช้ในการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 
  • ถามว่าทำไมปัดตกกันง่ายจัง คำตอบคือ เพราะเขาออกแบบไว้เช่นนั้น ‘รัฐธรรมนูญมีชัย’ กำหนดไว้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระแรกต้องได้เสียงส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง ดังนั้น แม้ ส.ส.จะโหวตท่วมท้นทั้งสภา ถ้า ส.ว.ไม่ยกมือ ก็เป็นอันจบข่าว  
  • ไม่เพียงเท่านั้น ในวาระ 3 ‘รัฐธรรมนูญมีชัย’ ยังกำหนดเงื่อนไขพิเศษคือ ต้องมีเสียง ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 + ต้องได้เสียง ส.ส.จากพรรคที่ไม่ได้มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานสภา รองประธานสภา เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 20% ของจำนวน ส.ส. ในแต่ละพรรค 
  • ถ้ายังจำกันได้ ที่ผ่านมาเราเคยได้ ‘ลุ้น’ กันอยู่ครั้งหนึ่ง เพราะมีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอันหนึ่งเปิดทางให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านไปได้ถึงวาระ 2 แต่ ‘ไพบูลย์ นิติตะวัน’ ส.ส.พลังประชารัฐก็ ‘ขัดขา’ ด้วยการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐสภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่หรือเปล่า?!! ซึ่งเป็นคำถามที่แปลกประหลาดในทางรัฐศาสตร์-นิติศาสตร์ ต่อมาศาลมีมติว่า รัฐสภามีอำนาจ แต่ต้องจัดทำประชามติ 2 ครั้ง คือ 1.ให้ประชาชนลงมติว่าต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ 2.เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จก็ลงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่างใหม่
  • แม้จะแก้รัฐธรรมนูญกันไม่สำเร็จ แต่ในเวลานี้ยังมีเรื่อง ‘ลุ้น’ กันอีกเรื่องหนึ่ง คือ การทำประชามติถามประชาชนว่าอยากจะให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ ? โดยกะให้ทำพร้อมการเลือกตั้ง 2556 ไปเลย
  • เรื่องนี้ฝ่ายค้านผลักดันโดยผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว 324 :0 เสียง เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2565 เรียกว่าสภาล่างเสียงเอกฉันท์ ให้ครม.ไปทำประชามติดังกล่าว แต่ปรากฏว่า ส.ว.ไม่ยอมลงมติ ซื้อเวลาด้วยการ ‘ขอศึกษาเพิ่มเติม’ รอบแรกขอเวลา 30 วัน พอต้องโหวต ก็ขอศึกษาอีกรอบสอง 45 วัน กว่าจะเสร็จก็พอดีกับที่สมัยประชุมจะเสร็จสิ้นลงในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ญัตติเรื่องประชามตินี้จึงเป็นได้มากที่จะ ‘ตกไป’ ตามเคย
  • ดังนั้น ลองจินตนาการดู หากผลการเลือกตั้งออกมา ฝ่ายประชาธิปไตยไม่สามารถจับมือกันชนะอย่างถล่มทลาย กลไกการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะยังเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 วางค่ายกลไว้ เสียงของ ส.ส.ฝ่ายอำนาจนิยม + เสียงของ 250 ส.ว.ก็ยังคงอยู่ แม้ฝ่ายประชาธิปไตยได้เป็นรัฐบาลแต่เสียงปริ่มน้ำ ก็ยังไม่เพียงพอต่อการสร้างแรงกดดันให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
สย3.jpg

ส.ว. เจ้าที่สุดเฮี้ยน ยังตามหลอน
  • จำกันได้ไหมว่า ตอนโหวตประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 มีคำถามพ่วงด้วย 2 คำถาม ท่านโหวตกันอย่างไร และท่านทราบหรือไม่ว่ามันจะนำมาสู่ 250 ‘ส.ว.ลากตั้ง’ แบบปัจจุบัน เชื่อว่าหลายคนตอบว่า ‘ไม่รู้มาก่อน’ จึงอาจกล่าวได้ว่า เราทั้งหลายล้วนมีส่วนในการพยุงให้รัฐนาวาของ ‘ประยุทธ์’ อยู่รอดจนปัจจุบันไม่มากก็น้อย การเลือกตั้งครั้งหน้าจึงเป็นโอกาสตัดสินใจใหม่อีกหน
  • ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้มี ส.ว. 250 คน จากการแต่งตั้งจาก คสช. พร้อมให้อำนาจ ‘โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี’ ร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง ในปี 2562 ส.ว. เหล่านี้มีส่วนอย่างมากในการสืบทอดอำนาจให้หัวหน้า คสช. ได้เป็นหัวหน้ารัฐบาล
  • ส.ว.เหล่านี้ดำรงตำแหน่ง 5 ปี หมายความว่า ยังสามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้อีก 1 สมัย หากผลการเลือกตั้งไม่ ‘ชนะอย่างเด็ดขาด’ ไปบีบคอ ส.ว. ก็ยากที่จะได้นายกฯ ที่มาจากเจตจำนงของประชาชน 
  • ที่ผ่านมาผลงานของ ส.ว.เป็นที่ประจักษ์ในแง่ ‘นักเตะถ่วง’ เคยเตะถ่วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการ ‘ซื้อเวลา’ ตั้ง กมธ.ศึกษาจนกระทั่งไม่ทันพิจารณาและเป็นอันตกไป, เคยเตะถ่วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยทั้งที่เป็นอำนาจของรัฐสภา และขณะนี้ ส.ว.ก็กำลังเตะถ่วงญัตติการทำประชามติถามประชาชนว่าอยากได้รัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ ด้วยการตั้ง กมธ.ศึกษาแล้วศึกษาอีก ซึ่งมีแนวโน้มว่าญัตตินี้จะพิจารณาไม่ทัน ต้องตกไปอีก
  • เมื่อ ส.ว.ชุดนี้สิ้นวาระไปเมื่อครบกำหนด 5 ปี ก็จะมี ส.ว. ชุดใหม่ 200 คนเข้ามาทำหน้าที่ต่อผ่าน ‘การเลือกตั้งทางอ้อม’ เป็นการเลือกกันเองภายในกลุ่มสาขาอาชีพ รวม 20 กลุ่มอาชีพ ได้แก่

1.กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง (ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ ทหาร แต่ไม่รวมผู้พิพากษา ตุลาการ อัยการ ตำรวจ ข้าราชการครูและอาจารย์) 

2.กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม (ผู้พิพากษา ตุลาการ อัยการตำรวจ ผู้ประกอบวิชาชีพ หรือทางสอนกฎหมายที่มิใช่ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐ) 

3.กลุ่มการศึกษา ได้แก่ ครู อาจารย์ นักวิจัยและผู้บริหารการศึกษา 

4.กลุ่มการสาธารณสุข  

5.กลุ่มอาชีพทำนาและปลูกพืชล้มลุก

6.กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง 

7.กลุ่มอาชีพพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลอื่นที่มิใช่หน่วยงานของรัฐ 

8.กลุ่มประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อมผังเมือง พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค

9.กลุ่มประกอบกิจการด้านการค้า ธุรกิจและอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม

10.ผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ 

11.สตรี 

12.คนพิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มอัตลักษณ์อื่นๆ 

13.กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี นักกีฬา การาแสดงและบันเทิง 

14.กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณะประโยชน์ 

15.กลุ่มสื่อสารมวลชนและผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม 

16.ผู้ประกอบธุรกิจด้านการท่องเที่ยวหรือการบริการ 

17.กลุ่มประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ 

18.กลุ่มอุตสาหกรรม 

19.กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพอาชีพอิสระ

20.กลุ่มด้านอื่นๆ นอกเหนือจาก 19 กลุ่ม

  •  ส.ว.ชุดที่ 2 ตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะไม่มีอำนาจในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้เหมือนเดิม แต่ยังคงมีอำนาจอื่นอีกหลายประการ เช่น การให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลเพื่อเข้าทำหน้าที่ในองค์กรอิสระ, ร่วมพิจารณาลงมติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ, เปิดอภิปรายภายในวุฒิสภาเพื่อให้รัฐมนตรีชี้แจง เป็นต้น
  • อำนาจของ ส.ว.มีผลอย่างมากในการวางรากฐานอำนาจ ผ่านกลไก ‘องค์กรอิสระ’ ที่ควบคุมให้คุณให้โทษรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ เพราะ ส.ว.สามารถพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อรายชื่อผู้ดำรงตำแหน่งทั้งองค์กรของรัฐและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ อาทิ

·       อัยการสูงสุด 

·       ตุลาการศาลปกครองสูงสุด 

·       เลขาคณะกรรมการกฤษฎีกา 

·       กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

·       กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

·       เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแห่งชาติ 

·       ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

·       กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 

·       ผู้ตรวจการแผ่นดิน 

·       กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

  • ที่ผ่านมา ส.ว.เคย ‘ไม่ให้ความเห็นชอบ’ ต่อรายชื่อที่ถูกเสนอมาหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น กสทช. , กสม. และ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เป็นต้น ทำให้ต้องวนกลับไปที่กระบวนคัดเลือกผู้สมควรดำรงตำแหน่งใหม่ จนกว่าจะได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว. 
  • เพื่อให้ช้ำใจมากขึ้นไปอีก ส.ว.นั้นใช้งบประมาณจากภาษีของเราจำนวนไม่น้อย แต่ละคนจะได้รับเงินประจำตำแหน่ง เดือนละ 71,230 บาท ได้รับเงินเพิ่มเดือนละ 42,330 บาท รวมเป็นเดือนละ 113,560 บาท เทียบเท่ากับ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง นี่ยังไม่นับรวมเบี้ยประชุมในคณะกรรมาธิการ เบี้ยงเลี้ยง และสวัสดิการอื่นๆ มากมาย 
  • เท่านั้นยังไม่พอ ส.ว. 1 คนยังสามารถแต่งตั้งคณะทำงานได้อีก 8 คน ซึ่งรับค่าตอบแทนจากภาษีประชาชนเช่นกัน ประกอบด้วย

1.ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว 1 คน รับเงินเดือน 24,000 บาท

2.ผู้ชำนาญการประจำตัว 2 คน รับเงินเดือน 15,000 บาทต่อคน

3.ผู้ช่วยดำเนินงานประจำตัว 5 คน รับเงินเดือน 15,000 บาทต่อคน

  •  ไอลอว์เปิดเผยข้อมูลว่า ในบรรดา ส.ว. 250 คน มีการแต่งตั้งญาติตัวเองเป็นผู้ช่วยอย่างน้อย 50 คน เรียกว่าพวกเขาน่าจะเก่งกันทั้งตระกูล แต่ที่สนุกขึ้นไปอีก ในบรรดาผู้ช่วยทั้งหมดเป็นคนมียศ ทหาร-ตำรวจ อย่างน้อย 493 คน นั่นทำให้ประชาชนเริ่มสับสนว่านี่คือสภาของผู้ทรงเกียรติ หรือช่องทางทำมาหากินของผู้อยู่ภายใต้เครือข่ายอำนาจ
  • สิ่งนี้จะยังอยู่กับเราและยังทรงอิทธิฤทธิ์ หากรัฐบาลจากการเลือกตั้งไม่มีเสียงมากพอ มีเสถียรภาพมากพอที่จะคัดง้างกับ ‘ส.ว.เจ้าที่’ หรือไม่สามารถริเริ่มการแก้ไขกติกา ‘รัฐธรรมนูญผี’ ได้  
สย4.jpg


‘มรดกบาป’ อาถรรถ์รัฐประหาร ทำดีไม่มีโทษ
  • การเปลี่ยนผ่านจาก ‘ระบบเผด็จการแปรรูป’ นี้ได้ หัวใจสำคัญอยู่ที่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หากรัฐบาลใหม่ไม่สามารถเดินหน้าไปถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ สิ่งตกค้างที่จะยังคงอยู่ต่อไป แม้คนทำรัฐประหารอาจจะถึงแก่กรรมไปแล้ว นั่นคือการรับรองว่า ‘การรัฐประหารเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย’ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 เขียนนิรโทษกรรมคณะรัฐประหารเอาไว้เสร็จสรรพ
  • มากไปกว่านั้นบรรดาคำสั่ง ประกาศต่างๆ ของ คสช. รวมทั้งคำสั่งอาญาสิทธิ์ของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ก็ยังคงอยู่อย่างน้อย 556 ฉบับ
  • ที่ร้ายแรงที่สุด การละเมิดสิทธิต่างๆ นับตั้งแต่ 2557 จะไม่ถูกชำระสะสาง และนี่จะเป็นการการันตีว่า คณะผู้ก่อการรัฐประหารรวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดจะยังคง ‘ลอยนวลพ้นผิด’ นับเป็นการเปิดทางให้เกิดการรัฐประหารได้อีกในอนาคต เพราะประเทศไทยยังไม่เคยให้บทเรียนแก่ผู้ก่อการรัฐประหารเลยแม้แต่ครั้งเดียว  
  • การชนะเลือกตั้ง เพื่อเข้ามาดำเนินนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจ ผลักดันให้เศรษฐไทยก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศ การส่งเสริมสวัสดิการ และคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นสิ่งที่สำคัญและเร่งด่วน ทว่าสิ่งเหล่านี้อาจถูกทำลายลงได้ทุกเมื่อ หากการทำรัฐประหารยังคงเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายและไร้โทษ 
สย5.jpg


รัฐบาลใหม่ใต้เงาปีศาจ
  • หากหลังการเลือกตั้ง พรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตยรวมเสียงข้างมากได้ และจัดตั้งรัฐบาลได้แบบ ‘เสียงปริ่มน้ำ’ หรืออาจต้องปิดตาข้างหนึ่งไปจับมือกับพรรคการเมืองที่เคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลประยุทธ์ ถึงที่สุดอาจกลับถูกสกัดไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 
  • สิ่งที่จะขึ้นคือ การควบคุมในทางนโยบายโดย ‘คณะกรรมการยุทธศาสตร์’ กลไกนี้ถูกเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ เมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้ง หรือรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยได้เริ่มตั้งไข่ทำงาน กลไกที่ถูกเก็บซ่อนไว้ย่อมถูกหยิบขึ้นมาใช้ได้ทุกเมื่อ

สิ่งที่เรียกว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ได้วางทิศทางการเพัฒนาประเทศไทยแถบทุกด้าน ประกอบด้วย 

1. ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง

2. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน

3. ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน

4. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม 

5. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

6. ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 

  • คณะรัฐประหารและคนร่างรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้มี ‘คณะกรรมการยุทธศาสตร์’ ทั้งหมด 34 คน ร่างยุทธศาตร์ออกมาและคอยติดตามควบคุมให้รัฐบาลดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ สถานะของยุทธศาสตร์นี้มีความพิเศษกว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพราะมีสภาพบังคับมากกว่า 
  • iLaw ระบุว่า หากรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐไม่ดำเนินการตามยุทธ์ศาสตร์จะมีบทลงโทษตามมา ทั้งการแจ้งให้ทราบเพื่อปฏิบัติตาม หากแจ้งไปแล้วรัฐบาลได้สั่งการต่อหน่วยงานรัฐไปแล้ว แต่หน่วยงานของรัฐยังไม่ปฎิบัติตามก็สามารถยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. เพื่อหามูลความผิดและพิจารณาลงโทษได้ตามกฎหมาย 
  • ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐหรือครม.ทำงานไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติหรือแผนแม่บท คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติสามารถแจ้งเรื่องไปยัง ส.ว. โดยส.ว.สามารถส่งเรื่องต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย หากเห็นว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ป.ป.ช.จะมีการส่งเรื่องต่อไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองพิจารณาตามมาตรา 81 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หากศาลประทับรับฟ้องผู้ถูกฟ้องต้องต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ หากตัดสินว่าผิดก็ให้รัฐมนตรีพ้นไปจากหน้าที่ และถูกเพิกถอนสิทธิรับสมัครรับเลือกตั้ง ไม่เกิน 10 ปี ทำให้ไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกต่อไป นอกจากนี้ ครม. ยังอาจถูกฟ้องฐานทุจริตต่อหน้าที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี 
  • นั่นหมายความว่า กลไกในการเด็ดหัวนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง จะยังคงอยู่ต่อไป และพร้อมนำมาใช้ได้ทุกเมื่อ
สย.8.jpg


เอื้อทุนใหญ่ คนรุ่นใหม่ถูกขังในหม้อ
  • มูลนิธิ Bertelsmann Stiftung ประเทศเยอรมัน จัดทำดัชนี Bertelsmann Transformation Index หรือดัชนี BTI ที่เป็นดัชนีชี้วัดการพัฒนา และการจัดการของกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก พบว่าไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 75 จากทั้งหมด 137 ประเทศกำลังพัฒนา ได้ 4.98 / 10 คะแนน 
  • หากแยกออกเป็นคะแนน 3 ด้านได้แก่ การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง (Political Transformation), การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ (Economic Transformation) และ ดัชนีธรรมภิบาล (Governance Index) จะเห็นว่า ในด้านการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยถูกจัดเป็นประเทศเผด็จการสายแข็ง (hard-line autocracy) โดยได้รับคะแนนในด้านนี้เพียง 3.85 ส่วนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจนั้น มีคะแนนอยู่ที่ 6.11 คะแนน ถูกจัดอยู่ในกลุ่มจำกัด (limited) ซึ่งต่ำกว่าคะแนนเมื่อปี 2559 ที่อยู่ที่ 6.29 อยู่ในลำดับที่ 42 จาก 129 ประเทศ ส่วนดัชนีธรรมภิบาลนั้น ถูกจัดอยู่ในกลุ่มอ่อนแอ (weak) ได้คะแนนเพียง 4.02 คะแนน 
  • “รากฐานทางกฎหมายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน อยู่บนพื้นฐานของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ร่างโดยคณะรัฐประหาร และการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ซึ่งทั้งรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งไม่ได้จัดทำอย่างบริสุทธิ์และยุติธรรม” บทคัดย่อของรายงานระบุ
  • ย้อนไปภายใต้การปกครองของระบบเผด็จการ คสช. สิ่งที่พวกเขาพยายามสร้างขึ้นหลังจากการรัฐประหารไม่ได้มีเพียงเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมือง ทำให้สิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยเป็นเพียงพิธีกรรม แต่ คสช.ยังธำรงรักษาสิ่งที่เรียกว่า ‘ระบบทุนนิยมแบบช่วงชั้น’ เอาไว้ เรียกว่าเปิดให้มีการดำเนินกิจการทางเศรษฐกิจภายใต้ระบบทุนนิยม แต่ไม่เสรี มีการใช้อำนาจรัฐในส่วนต่างๆ เพื่อค้ำจุนกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ผ่านการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจหรือนโยบายด้านอื่นๆ ที่เอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน หรือการควบคุมการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายต่างๆ ที่อาจจะสร้างผลกระทบต่อความมั่นคงของกลุ่มทุน 
  • ที่เห็นชัดเจนมีอยู่หลายกรณี อาทิ การปัดตกกฎหมาย ‘สุราเสรี’ เมื่อไม่นานมานี้ การดำเนินนโยบาย BCG ที่เคลือบฉาบด้วยความรับผิดชอบต่อแสดงแวดล้อม แต่เนื้อในกลับเป็นการแย่งชิงทรัพยากรจากชุมชน และทำลายสภาพสิ่งแวดล้อม มีแผนการดำเนินการก่อสร้างโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มขึ้นจำนวนมากท่ามกลางการต่อต้านของประชาชนในพื้นที่ และการตั้งคำถามถึงกระแสไฟฟ้าสำรองที่เกิดความจำเป็น 
  • ประเด็นสำคัญที่น่าจะเห็นชัดเจนกันทั้งประเทศคือ นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือที่เรียกติดปากกันว่า ‘บัตรคนจน’ ซึ่งทำมาตั้งแต่รัฐบาล คสช.นโยบายนี้ถูกวิจารณ์ว่า เป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มนายทุน เพราะร้านค้าที่สามารถซื้อสินค้าได้ในช่วงคือ ‘ร้านธงฟ้าประชารัฐ’ และร้านค้าของกลุ่มทุนที่ร่วมรายการ ส่วนสินค้าที่สามารถซื้อได้ในช่วงแรกเป็นสินค้าที่ผลิตโดยกลุ่มนายทุนเท่านั้น ไม่สามารถกดเงินออกมาซื้อสินค้าจากท้องถิ่นได้ เมื่อเกิดกระแสวิจารณ์จึงได้มีการปรับแก้ไข
  • ในส่วนของธุรกิจของกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs นั้น ‘ไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์’ ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เคยร่วมเวทีอภิปรายสาธารณะ Social Democracy Think Tank เมื่อเดือน ต.ค. 2564 ระบุว่า ในปี 2557 คณะรัฐประหารประกาศให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นวาระแห่งชาติ ทางเครือข่ายได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.สภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้รัฐบาล คสช. แต่ 7 ปีผ่านมาก็ไม่มีความคืบหน้า ถูกแขวนไว้ที่สำนักนายกรัฐมนตรีจนปัจจุบัน พร้อมเปรียบเทียบว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้เปลี่ยนนิเวศน์ทางเศรษฐกิจ เหมือนทุนขนาดใหญ่เป็น 'ผู้ล่า' ผู้ประกอบการรายเล็กคือ 'เหยื่อ' นโยบายเศรษฐกิจใต้รัฐบาลประยุทธ์นั้น เหมือนเอาเหยื่อให้ผู้ล่ากินจนแทบไม่เหลือแล้ว เพราะผู้ล่าสามารถล่าได้อย่างอิสระโดยไม่มีการควบคุม วันหนึ่งอาจไม่เหลื่อเหยื่อให้ล่า เนื่องจากไม่มีความสมดุลทางเศรษฐกิจ
  • ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวว่า SMEs ประมาณ 400,000 ราย ก่อหนี้เสียหรือ NPL 1 แสนกว่าราย เหลือ 3 แสนรายแต่ก็เข้าไม่ถึงงบประมาณฟื้นฟูพัฒนาเศรษฐกิจ และสถาบันการเงินไม่มีใครกล้าปล่อยกู้ 
สย7.jpg


ตรวนขึ้นสนิม จองจำนักโทษการเมือง
  • นับจากการลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาล และมีการเคลื่อนไหวที่เป็นการตั้งคำถามต่อสถาบันกษัตริย์ตั้งแต่ช่วงปี 2563 เป็นต้นมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รวบรวมข้อมูลการดำเนินคดีกับประชาชนตั้งแต่การเริ่มต้นชุมนุมที่นำโดยกลุ่มเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 จนถึงวันที่ 30 พ.ย. 2565 พบว่า มีจำนวนคดีความเกิดขึ้นทั้งหมด 1,159 คดี โดยมีผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 1,886 คน แบ่งเป็น 

1.ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 221 คน ในจำนวน 239 คดี

2.ข้อหายุยงปลุกปั่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 128 คน ในจำนวน 40 คดี

3.ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,469 คน ในจำนวน 663 คดี 

4.ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 132 คน ในจำนวน 76 คดี

5.ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 156 คน ในจำนวน 176 คดี

6.ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 36 คน ใน 20 คดี / คดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 27 คน ใน 8 คดี

  • จากจำนวนคดี 1,159 คดีดังกล่าว มีจำนวน 279 คดีที่สิ้นสุดไปแล้ว โดยเป็นคดีที่เป็นโทษปรับในชั้นสอบสวนหรือชั้นศาลจำนวน 160 คดี มีคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องจำนวน 38 คดี  เท่ากับขณะนี้ยังมีคดีอีกกว่า 880 คดี ที่ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการชั้นต่างๆ
  • เวลานี้ยังคงมีผู้ถูกจองจำอยู่ภายในเรือนจำ (ณ วันที่ 21 ธ.ค. 2565) โดยยังไม่ได้รับการประกันตัว 10 ราย และมีนักโทษทางการเมืองที่คดีสิ้นสุดแล้ว 6 ราย 
  • แม้ที่ผ่านมาจะมีการพูดถึงการผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมการกระทำที่ถือเป็นความผิดทางการเมืองในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา ทั้งจากธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และ นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ แต่สิ่งเหล่านี้อาจไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริงหากฝ่ายประชาธิปไตยไม่สามารถยึดกุมเสียงข้างมากในสภาได้ 
  • มากไปกว่านั้นไทมไลน์การอ่านคำพิพากษาในคดีต่างๆ โดยเฉพาะคดี 112 ในปี 2566 พบว่าจะมีการอ่านคำพิพากษาอีกหลายคดี นั่นอาจจะทำให้ประเทศไทยมีนักโทษทางการเมืองเพิ่มสูงขึ้น
  • หากขั้วอำนาจฝ่ายอำนาจนิยมยังคงใช้กลไกต่างๆ เข้ามาแทรกแซงจนทำให้สามารถกลับมาจัดตั้งรัฐบาลท่ามกลางเสียงคัดค้านของประชาชนอีกครั้ง การลุกขึ้นต่อต้านอีกระลอกของประชาชนอาจปะทุขึ้น จำนวนคดีความก็จะเพิ่มขึ้นด้วย นี่ยังไม่นับรวมความสูญเสียอื่นๆ ในชีวิตของประชาชน อีกทั้งการผลักดันให้มีการยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือแก้ไขให้มีความสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย และการปรับลดโทษ การกำหนดเงื่อนไขการฟ้องร้อง ไม่มีทางได้เกิดขึ้นจริง