ไม่พบผลการค้นหา
นักศึกษาหญิงจากมหาวิทยาลัยลีดส์ชาวซาอุดีอาระเบีย เดินทางกลับมายังบ้านเกิดของตนเองเพื่อพักผ่อนในช่วงหยุดยาว ก่อนที่เธอจะถูกจับกุมตัวและตัดสินโทษจำคุก 34 ปี จากการมีบัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์ และกดติดตามตลอดจนรีทวีตข้อความของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลและนักกิจกรรมซาอุดีอาระเบีย

ก่อนหน้านี้ ศาลพิเศษคดีก่อการร้ายของซาอุดีอาระเบีย ตัดสินโทษจำคุกแก่ ซัลมา อัล-เชฮับ วัย 34 ปี แม่ของลูกทั้งสองคนเป็นเวลา 3 ปี จากข้อกล่าวหาการก่ออาชญากรรม ด้วยการใช้เว็บไซต์บนอินเทอร์เน็ต เพื่อ “ก่อให้เกิดความไม่สงบทางสังคม และทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพของพลเมือง และความมั่นคงแห่งชาติ”

อย่างไรก็ดี ศาลมีการตัดสินคดีใหม่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (15 ส.ค.) ด้วยการตัดสินโทษจำคุกให้แก่เธอเพิ่มขึ้นเป็น 34 ปี และห้ามการเดินทางอีก 34 ปี หลังจากที่อัยการของซาอุดีอาระเบียร้องให้ศาลพิจารณาคำตัดสินใหม่ ทั้งนี้ ซัลมาจะยังมีโอกาสในการยื่นขออุทธรณ์คดีได้อีกครั้ง

ซาอุดีอาระเบียเดินหน้าในการกดปราบและจับกุมนักกิจกรรม และผู้แสดงความคิดเห็นต่อต้านรัฐบาลราชวงศ์ซาอุดีอาระเบียของตนเองอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ซัลมาไม่ใช่แกนนำนักกิจกรรม โปรไฟล์บนโลกออนไลน์ของเธอมีผู้ติดตามเพียงเล็กน้อย เธอใช้เวลาส่วนมากไปกับการเลี้ยงลูกสองคนของเธอ พร้อมกับการรีทวีตข้อความของผู้ลี้ภัยชาวซาอุดีอาระเบียในสหราชอาณาจักร เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมือง

The Guardian รายงานว่า ซัลมาอาจถูกจับกุมจากการที่เธอให้การสนับสนุน ลูจาอิน อัล-ฮัตฮ์ลูล์ นักเคลื่อนไหวสตรีนิยมในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเคยถูกคุมขังไปก่อนหน้านี้ เธอมีการกล่าวหาว่ารัฐบาลซาอุดีอาระเบียซ้อมทรมานเธอ หลังจากเธอออกมารณรงค์สิทธิในการขับขี่ของผู้หญิงในซาอุดีอาระเบีย โดยในตอนนี้ ลูจาอินเองถูกศาลสั่งห้ามเดินทางด้วยเช่นกัน

ผู้รู้จักซัลมาระบุว่า เธอเป็นผู้หญิงที่ไม่สามารถทนกับความอยุติธรรมได้ โดยเธอเองเป็นหญิงที่มีการศึกษา ซึ่งเดินทางไปเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยลีดส์ในสหราชอาณาจักร ระหว่างปี 2561 ถึง 2562 ก่อนที่เธอจะเดินทางกลับมายังซาอุดีอาระเบียเมื่อช่วง ธ.ค. 2563 ในช่วงหยุดยาว และเธอตั้งใจจะพาลูกชายทั้งสอง พร้อมกับสามีของเธอเดินทางกลับมายังสหราชอาณาจักรด้วยกัน อย่างไรก็ดี เธอถูกเรียกตัวไปสอบปากตำ ก่อนที่จะถูกจับกุมจากการที่เจ้าหน้าที่เห็นข้อความที่เธอรีทวีตในทวิตเตอร์ ปัจจุบันนี้ ซัลมาถูกขังเดียวอยู่ในเรือนจำที่มีการควบคุมหนาแน่น

มีการตั้งคำามต่อความรับผิดชอบของทวิตเตอร์ ต่อกรณีการจับกุมคุมขังซัลมาและนักกิจกรรมหญิงชาวซาอุดีอาระเบียรายอื่นๆ เนื่องจากมีรายงานพบว่า เจ้าชายอัลวาลีด บิน ทาลัล เชื้อพระวงศ์ของราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทดังกล่าวกว่า 5% นอกจากนี้ ราชวงศ์ซาอุดีอาระเบียยังมีความใกล้ชิดกันกับทางทวิตเตอร์ ซึ่งมีรายได้หลักจากกองทุนของราชวงศ์ เข้ามาลงทุนในบริษัทโซเชียลมีเดียชื่อดังแห่งนี้จำนวนมหาศาล


ที่มา:

https://www.theguardian.com/world/2022/aug/16/saudi-woman-given-34-year-prison-sentence-for-using-twitter?CMP=Share_iOSApp_Other&fbclid=IwAR27qOvvATdkBFWpJqvgeteV-e0VaMzL5wGDwJ1g7tJKyV92sXpj8AZZ4kA