ไม่พบผลการค้นหา
มาร์ยัม อัลส์เยด ทีย์รับ หญิงชาวซูดาน วัย 20 ปี ถูกตัดสินโทษประหารชีวิตด้วยการขว้างหินจนถึงแก่ความตาย จากความผิดฐานคบชู้ผิดประเวณี โดยคำตัดสินประหารชีวิตด้วยการปาหินในครั้งนี้ เป็นคำตัดสินที่เกิดขึ้นครั้งแรกในรอบเกือบทศวรรษที่ผ่านมาของซูดาน

ทีย์รับเปิดเผยว่า เธอได้ทำการอุทธรณ์คำตัดสินการประหารชีวิตด้วยการขว้างหินจนตายแล้ว โดยการตัดสินคดีที่ลงโทษขว้างหินจนตาย มักได้รับการพลิกคำตัดสินใหม่บนชั้นศาลฎีกา อย่างไรก็ดี การลงโทษประหารชีวิตด้วยการขว้างหินจนตาย มักถูกตัดสินแก่เพศหญิงในกรณีส่วนใหญ่

นักรณรงค์สิทธิสตรีในซูดานเกิดความกังวลว่า คำตัดสินในลักษณะดังกล่าว กำลังเป็นภาพสะท้อนว่ากลุ่มเผด็จการที่เข้าทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลของซูดานไป เมื่อช่วง ต.ค.ก่อน กำลังฝังรากอำนาจของตนเองลงไปยังกฎหมายของประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิทธิสตรี ในช่วงการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลของประเทศ

ศูนย์การศึกษาความยุติธรรมและสันติภาพแห่งแอฟริกา (ACJPS) ซึ่งตั้งอยู่ในยูกันดาเปิดเผยว่า การตัดสินโทษประหารชีวิตด้วยการขว้างหินจนตายนั้น เป็นคำตัดสินที่ละเมิดกฎหมายภายในและระหว่างประเทศ อีกทั้งทางศูนย์ยังได้เรียกร้องขอให้มีการปล่อยตัวทีย์รับ “ในทันทีโดยไม่มีข้อแม้”

ศูนย์ยังได้เปิดเผยอีกว่า ทีย์รับไม่ได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม อีกทั้งยังไม่มีการระบุกับเธอว่าข้อมูลที่เธอเคยให้การบนชั้นสอบปากคำ จะถูกนำมาโจมตีเธอบนชั้นศาล ทีย์รับยังถูกปฏิเสธให้มีตัวแทนทางด้านกฎหมายเข้าช่วยเหลือทำคดีให้กับเธอด้วย

ในปี 2563 รัฐบาลเปลี่ยนผ่านของซูดาน ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการล้มอำนาจของ โอมาร์ อัล-บาเชียร์ ประกาศว่าตนจะทำการปฏิรูปกฎหมายอาญาของประเทศ ตลอดจนการนำกฎหมายชาริอะห์ ซึ่งเป็นกฎหมายอิสลามมาบังคับใช้ในซูดาน

อย่างไรก็ดี การปฏิรูปกฎหมายไม่ได้มีการนำโทษการขว้างหินประหารเข้ามารวมอยู่ด้วย แต่ซูดานยังให้สัตยาบันอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน เมื่อช่วงเดือน ส.ค.ปีก่อน อย่างไรก็ดี  ACJPS กล่าวว่า โทษการประหารด้วยการขว้างหิน คือการทรมานในลักษณะหนึ่ง ซึ่งละเมิดพันธกรณีที่ซูดานมีต่ออนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ

การลงโทษ “แสดงให้เห็นว่ากฎหมายชาริอะห์ที่รุนแรง ยังคงมีบทลงโทษอยู่ในซูดาน” เยฮานเน เฮนรี ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนกล่าว “การตายด้วยหินขว้างเป็นเครื่องเตือนใจว่า การปฏิรูปกฎหมายอาญาในช่วงเปลี่ยนผ่านยังไม่สมบูรณ์ และการลงโทษที่หนักหน่วงและเก่าแก่ดังกล่าว ยังคงมีอยู่ในตัวบทหนังสือของทางการ”

ในซูดานนั้น การลงโทษด้วยการเฆี่ยนตี ซึ่งถูกทำให้กลายเป็นเรื่องผิดกฎหมายในปี 2563 ยังคงถูกนำมาใช้ตัดสินประชาชนในประเทศ ผ่านการตัดสินของศาลซูดานอยู่ ทั้งนี้ กรณีที่เป็นที่ทราบกันถึงการตัดสินโทษขว้างหินจนตายเกิดขึ้นล่าสุดเมื่อปี 2556 ก่อนที่จะมีการพลิกคำพิพากษาในเวลาต่อมา


ที่มา:

https://www.theguardian.com/global-development/2022/jul/13/sudan-woman-faces-death-by-stoning-for-adultery-in-first-case-for-a-decade?CMP=Share_iOSApp_Other&fbclid=IwAR0YY4SCihrtiiJhwoGUjxm7hd4Nua6LRyquXAGbD5e6IK6Grfi17K5pMIk