รัสเซียมีกำหนดการชำระหนี้ต่างประเทศมูลค่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3.5 พันล้านบาท) และถึงแม้ว่ารัสเซียมีความเต็มใจที่จะยอมจ่ายหนี้จำนวนดังกล่าว แต่การประกาศคว่ำบาตรส่งผลให้รัสเซียไม่สามารถจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่เจ้าหนี้ในต่างประเทศได้ อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังของรัสเซียออกมาแสดงความคิดเห็นว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเพียงแค่ “เรื่องตลก”
รัสเซียพยายามอย่างมุ่งมั่นในการชำระหนี้ต่างประเทศของตนตามกำหนดมาโดยตลอด เนื่องจากการผิดชำระหนี้ระหว่างประเทศ อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัสเซียในเวทีโลกได้ อย่างไรก็ดี Bloomberg รายงานว่า เงินค่าดอกเบี้ยจำนวน 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จะต้องถูกจ่ายไปยังธนาคารยูโรเคลียร์ในวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งธนาคารดังกล่าวจะทำหน้าที่แบ่งสันปันส่วนค่าชำระจากทางรัสเซีย ให้แก่นักลงทุนต่างๆ แต่เงินชำระดังกล่าวกลับติดค้างอยู่ในธนาคาร ส่งผลให้นักลงทุนเครดิตไม่ได้รับดอกเบี้ยค้างชำระจากทางรัสเซีย
ในอีกทางหนึ่ง Reuters รายงานว่า ปัจจุบันนี้ มีผู้ถือพันธบัตรรัสเซียชาวไต้หวันจำนวนหนึ่งในสกุลเงินยูโรไม่สามารถรับดอกเบี้ยการลงทุนได้ โดยเงินชำระของรัสเซียไม่สามารถถูกจ่ายมาได้หลังกำหนด ภายในระยะเวลา 30 วัน ซึ่งตรงกับช่วงเย็นของวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ส่งผลให้รัสเซียค้างชำระหนี้ระหว่างประเทศของตนไปในล่าสุด
ธนาคารยูโรเคลียร์ไม่ได้ชี้แจงว่า การแจกจ่ายค่าชำระของรัสเซียถูกสกัดกั้นหรือไม่ แต่ทางธนาคารยืนยันว่ามีการปฏิบัติตามมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมดที่ชาติตะวันตกประกาศต่อรัสเซีย
การค้างชำระหนี้ต่างประเทศของรัสเซียเกิดขึ้นล่าสุดเมื่อปี 2461 ระหว่างที่รัสเซียเกิดการปฏิวัติบอลเชวิก และ วลาดิเมียร์ เลนิน หัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตคนใหม่ประกาศไม่ยอมจ่ายหนี้ต่างประเทศ โดยอ้างว่าหนี้จำนวนดังกล่าวเป็นหนี้ของจักรวรรดิรัสเซียที่มีราชวงศ์โรมานอฟปกครองอยู่แต่เดิม
ในอีกทางหนึ่ง การผิดนัดชำระหนี้ครั้งล่าสุดของรัสเซียไม่ว่าในกรณีใดๆ เกิดขึ้นล่าสุดเมื่อปี 2541 หลังจากรัสเซียเผชิญหน้ากับวิกฤตในประเทศ เมื่อครั้งเกิดความวุ่นวายหลังระบอบการปกครองของ บอริส เยลซิน สิ้นสุดลง โดยในขณะนั้น รัสเซียไม่สามารถชำระหนี้ในประเทศได้ตามกำหนด แต่ยังคงชำระหนี้ระหว่างประเทศได้
รัสเซียเข้าสู่หนทางการค้างชำระหนี้ระหว่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สืบเนื่องมาจากการถูกคว่ำบาตรโดยนานาชาติ โดยเฉพาะจากการประกาศคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ทั้งนี้ การคว่ำบาตรส่งผลให้รัสเซียไม่สามารถเข้าถึงระบอบเครือข่ายการเงินนานาชาติ ซึ่งเป็นระบบที่จะทำการโอนเงินของรัสเซียไปยังนักลงทุนที่รอดอกเบี้ยอยู่จากรัฐบาลของ วลาดิเมียร์ ปูติน
รัฐบาลรัสเซียแถลงยืนยันมาโดยตลอดว่า ตนจะทำการชำระหนี้ระหว่างประเทศตามกำหนดเวลา และยังคงทำมาได้โดยตลอดจนกระทั่งเมื่อวานนี้ โดยหนี้ต่างประเทศของรัสเซียจำนวนกว่า 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท) เป็นหนี้ในสกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ และยูโร โดยจำนวนหนี้กว่าครึ่งเป็นหนี้ที่อยู่นอกประเทศของตน
สถานการณ์ชำระหนี้ระหว่างประเทศของรัสเซียเลวร้ายลง เมื่อกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประกาศไม่ต่ออายุข้อยกเว้นพิเศษในมาตรการการคว่ำบาตร ซึ่งเป็นข้อยกเว้นที่จะทำให้นักลงทุนได้รับดอกเบี้ยจากทางรัสเซีย ที่หมดอายุลงไปในวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา
ในอีกทางหนึ่ง ทางการรัสเซียยอมรับผลลัพธ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ดังกล่าว โดยรัฐบาลได้มีการประกาศกฤษฎีกาเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีเนื้อหาของกฤษฎีการะบุว่า การชำระหนี้ในอนาคตทั้งหมดจะถูกดำเนินการผ่านสกุลเงินรูเบิล ซึ่งจะทำการโอนผ่านทางศูนย์รับฝากเงินแห่งชาติของธนาคารรัสเซีย แม้ว่าสัญญาในการชำระหนี้จะระบุว่า รัสเซียควรชำระเงินเป็นสกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ และยูโรก็ตาม
แอนทอน ซีลูนอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรัสเซีย ออกมายอมรับกับทางสำนักข่าว RIA Novosti ว่า ทางการอาจจะไม่สามารถชำระหนี้ต่างประเทศได้ตามกำหนด เนื่องจากการถูกคว่ำบาตรทางการเงิน ซึ่งส่งผลต่อระบบการโอนเงิน รวมถึงนักลงทุนต่างๆ เองก็ถูกมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ มีผลบังคับใช้ จนไม่สามารถรับเงินจากทางรัสเซียได้
ซีลูนอฟย้ำว่า ทางการรัสเซียปฏิเสธว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้ไม่ใช่การผิดนัดชำระหนี้ระหว่างประเทศ ซึ่งจะเกิดขึ้นต่อเมื่อรัฐบาลของประเทศนั้นๆ ปฏิเสธที่จะไม่ยอมจ่ายเงินเอง เนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ หรือว่าไม่สามารถหาเงินมาจ่ายได้ โดยซีลูนอฟระบุว่า ทางการรัสเซียมีเงินจำนวนมากที่พร้อมจะจ่ายหนี้ระหว่างประเทศ
ที่มา: