ไม่พบผลการค้นหา
ครม. รับทราบแนวทางการดำเนินมาตรภาษีสรรพสามิต เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาดีเซล สิ้นสุด ณ 20 ก.ค. นี้

มติคณะรัฐมนตรีประจำวันที่ 11 ก.ค. มีวาระที่น่าสนใจดังนี้ ที่ประชุมรับทราบแนวทางการดำเนินมาตรภาษีสรรพสามิตเพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาดีเซล  หลังรัฐบาลได้ดำเนินมาตรการทางภาษีเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธุ์ 2565 

ด้วยการออกกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตรวมทั้งสิ้น 7 ฉบับ ประเมินสูญเสียรายได้ภาษีประมาณ 156,000 ล้านบาท และโดย กฏกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 34) พ.ศ. 2566 ปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลลง 5 บาทต่อลิตร จะสิ้นสุดในวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 นี้ ซึ่งจะส่งผลให้อัตราภาษีจะกลับสู่ภาวะปกติ นั้น 

กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานได้หารือและมีความเห็นร่วมกัน ว่า การใช้มาตรการทางภาษีเพื่อปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล หลังจากมาตรการการปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลจะสิ้นสุดในวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 นี้ จะเป็นการดำเนินการที่ก่อให้เกิดผลผูกพันรัฐบาลในอนาคต ซึ่งคณะรัฐมนตรีที่ปฎิบัติหน้าที่ในช่วงที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรไม่อาจกระทำการ อันมีผลต่อการอนุมัติงานหรือโครงการหรือมีผลต่อการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 169 (1)

ประกอบมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 เรื่องแนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภา ประกอบกับ ปัจจุบัน สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซล ณ โรงกลั่น ในประเทศลดลงตามไปด้วย  ดังนั้น ในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันดีเซลอยู่ในวิสัยที่กระทรวงพลังงาน

โดยสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถดำเนินการได้ และเมื่อคำนึงถึงข้อจำกัดด้านรายได้และข้อกฎหมายและไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ในช่วงที่สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว เห็นสมควรให้ใช้มาตรการของกองทุนน้ำมันที่มีฐานะการเงินดีขึ้นโดยลำดับ ทำหน้าที่ดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันดีเซล  โดยกระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานจะติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิดต่อไป

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังรายงานภาพรวมความสำเร็จของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายการเงินการคลัง ช่วยรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน และตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 35 บาท/ลิตร เสริมสร้างเสถียรภาพทางเสรษฐกิจมหภาค ลดผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ไม่ให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบที่ผันผวนด้วย 


ครม.ทราบ 16 ทุน หมุนเวียน ส่งคลังรวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 11 ก.ค. 66 ได้รับทราบรายงานผลการเรียกให้ทุนหมุนเวียนนำทุนหรือกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียนส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ปีบัญชี 2565 และตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 66 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

กระทรวงการคลังแจ้งว่า มีทุนหมุนเวียนทั้งหมด 16 กองทุน นำส่งทุนหรือกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียน เป็นรายได้แผ่นดินรวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 22,238.57 ล้านบาท แยกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 นำส่งเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 65 จำนวน 1 กองทุน ได้แก่ กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 14,377.57 ล้านบาท

ส่วนที่2 นำส่งคลังภายในวันที่ 28 เม.ย. 66 ทั้งหมด 15 กองทุน จำนวนเงิน 8,460.99 ล้านบาท ประกอบด้วย 1)กองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน 107.38 ล้านบาท 2)เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย 15.71 ล้านบาท 3)เงินทุนหมุนเวียนเพื่อผลิตรูปถ่ายทางอากาศ 4.24 ล้านบาท 4)เงินทุนหมุนเวียนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ 17.33 ล้านบาท 5)กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน 32.75 ล้านบาท 6)เงินทุนหมุนเวียนเพื่อจัดทำแผ่นป้ายทะเบียนรถ 197.85 ล้านบาท 7)เงินทุนหมุนเวียนเพื่อผลิตวัคซีนจำหน่าย 595.21 ล้านบาท 

8)เงินทุนหมุนเวียนการบริหารจัดการเหรียญกษาปณ์ ทรัพย์สินมีค่าของรัฐและการทำของ 2,098.74 ล้านบาท 9)กองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวต่างชาติ 29.90 ล้านบาท 10)เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการบริหารท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ-กองทัพเรือ 174.15 ล้านบาท 11)กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ 4,683.73 ล้านบาท 12)กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม 200 ล้านบาท 13)กองทุนสิ่งแวดล้อม 300 ล้านบาท 14)กองทุนคุ้มครองพันธ์พืช 1 ล้านบาท และ 15)กองทุนจัดการซากดึกดำบรรพ์ 3 ล้านบาท


รบ.คงมาตรการประชาชนขายกระแสไฟฟ้า ที่เหลือในอัตรารับซื้อ 2.20 บาท

นอกจากนี้ที่ประชุมครม. มีมติรับทราบผลการศึกษาการดำเนินโครงการโซลาร์ภาคประชาชน กรณีที่ให้ประชาชนส่งไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากการใช้เข้าระบบเพื่อหักลบจากหน่วยไฟฟ้าที่ประชาชนใช้ไฟฟ้าในเดือนถัดไป ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ และให้คงมาตรการเดิมคือให้ประชาชนสามารถนำกระแสไฟฟ้าที่เหลือดังกล่าวขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายในอัตรารับซื้อ 2.20 บาท

ผลการศึกษาถึงประเด็นข้อขัดข้องที่ทำให้ไม่สามารถให้ประชาชนส่งไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากการใช้เข้าระบบเพื่อหักลบจากหน่วยไฟฟ้าที่ประชาชนใช้ไฟฟ้าในเดือนถัดไป สรุปได้ดังนี้

1. ด้านระเบียบและข้อกฎหมาย การส่งไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากการใช้เข้าระบบเพื่อหักลบจากหน่วยไฟฟ้าที่ประชาชนใช้ในเดือนถัดไป เป็นการทำธุรกรรมซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประชาชนและการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายและเกิดภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม

ทั้งธุรกรรมการซื้อและการขายโดยการดำเนินธุรกรรมดังกล่าวยังไม่มีระเบียบและข้อกฎหมายรองรับวิธีการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจากผลต่างของแต่ละธุรกรรมที่เกิดขึ้น หากจะคำนวณภาษีของการดำเนินธุรกรรมดังกล่าวจำเป็นต้องขอยกเว้นมูลค่าฐานภาษี ซึ่งเป็นอำนาจพิจารณาของอธิบดีกรมสรรพากร

2. ด้านเทคนิคและวิธีการที่เกี่ยวข้อง จะส่งผลกระทบทำให้แรงดันไฟฟ้าในระบบไม่สมดุลเนื่องจากไฟฟ้าที่ผลิตจากแสงอาทิตย์มีความผันผวนและไม่แน่นอน ทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าในระบบเสียหาย ประสิทธิภาพและอายุการใช้งานลดลง

ทั้งนี้ หากมีการผลิตไฟฟ้าไหลย้อนเข้าสู่ระบบโครงข่ายเป็นจำนวนมากจะต้องเปลี่ยนขนาดและพิกัดของอุปกรณ์ป้องกันในระบบไฟฟ้าใหม่เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น รวมถึงต้องมีระบบควบคุมและบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพไฟฟ้า

และความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาพรวม และยังเพิ่มภาระแก่ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้ง Solar Rooftop ที่ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์มิเตอร์เป็นแบบดิจิทัลมิเตอร์เพื่อให้สามารถตรวจสอบคุณภาพไฟฟ้าและปริมาณไฟฟ้าที่ไหลย้อนกลับเข้ามาในระบบไฟฟ้าได้

3. ด้านผลกระทบต่อประเทศและประชาชนโดยรวม พบว่า ด้านต้นทุนของหน่วยไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจะแปรผันไปตามต้นทุนค่าเชื้อเพลิงของแต่ละช่วงเวลา ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าโดยรวมทั้งประเทศต้องรับภาระต้นทุนจากการรับซื้อไฟฟ้าราคาสูงเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีรายได้น้อยหรือบ้านอยู่อาศัยที่ไม่สามารถติดตั้ง Solar Rooftop เนื่องจากต้นทุนส่วนเพิ่มจากการรับซื้อไฟฟ้าจาก Solar Rooftop จะถูกกระจายกลับไปสู่ค่า Ft และยังเกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้า

“ผลการศึกษาในประเด็นให้ประชาชนสามารถส่งไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากการใช้เข้าระบบเพื่อหักลบจากหน่วยไฟฟ้าที่ประชาชนใช้ไฟฟ้าในเดือนถัดไปนั้น มีข้อขัดข้องในด้านระเบียบข้อกฎหมาย ด้านเทคนิคและวิธีการที่เกี่ยวข้อง ด้านผลกระทบต่อประเทศและประชาชนโดยรวม ได้แก่ ความมั่นคงของระบบไฟฟ้า วิธีการนำปริมาณไฟฟ้าที่จ่ายเข้าระบบหักลบหน่วยไฟฟ้า และต้นทุนของหน่วยไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย

จึงไม่สามารถดำเนินการได้ จึงยังคงมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) แบบเดิม และหากในอนาคตมีการติดตั้งSolar Rooftop เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เองภายในครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น จะมีการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนแฝง เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่เกิดขึ้นด้วย พร้อมจะศึกษาถึงความเหมาะสมในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนดำเนินการติดตั้ง Solar Rooftop เพิ่มเติม” ทิพานัน กล่าว