ไม่พบผลการค้นหา
H&M บริษัทค้าปลีกเสื้อผ้าแฟชันขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลกประกาศหยุดการสั่งออเดอร์จากซัพพลายเออร์ในประเทศเมียนมา หลังเจ้าหน้าที่ปราบผู้ชุมนุมรุนแรงและใช้อาวุธสังหารประชาชน

ท่ามกลางความรุนแรงของการปราบผู้ประท้วงอย่างต่อเนื่องในเมียนมา สหประชาชาติยืนยันว่านับตั้งแต่การก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.จนถึงขณะนี้ มีผู้เสียชีวิตอย่างต่ำ 50 ราย เรียกเสียงวิจารณ์และการคว่ำบาตรจากนานาประเทศ ล่าสุดแบรนด์ค้าปลีกเสื้อผ้าแฟชันขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลกอย่าง H&M คือภาคธุรกิจรายล่าสุดที่ออกมาประกาศคว่ำบาตรจากความรุนแรงในครั้งนี้ โดย H&M ชี้ว่าขณะนี้มีการสั่งยุติการสั่งซื้อจากซัพพลายเออร์ผู้ผลิตในเมียนมาเป็นการชั่วคราวแล้ว

ทางแบรนด์ระบุรายละเอียดบนหน้าเว็บไซต์ว่าปัจจุบัน H&M มีซัพพลายเออร์โดยตรงจากเมียนมาทั้งสิ้น 45 แห่ง และมีการดำเนินธุรกิจกับบริษัทผู้ผลิตเหล่านี้มานานกว่า 7 ปีเต็ม โดยผู้จัดการ H&M ประจำเมียนมากล่าวว่า "แม้ว่าขณะนี้ทางบริษัทจะระงับการใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดอย่างทันที เนื่องจากความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่มีมาอย่างยาวนานกับเมียนมา แต่เบื้องต้นเราขอเดินหน้ายุติการสั่งซื้อจากซัพพลายเออร์เป็นการชั่วคราว"

"การสั่งระงับการสั่งซื้อใหม่นี้มีขึ้นเพราะความยากลำบากในเชิงปฏิบัติและสถานการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ ซึ่งเป็นการจำกัดความสามารถของเราในการดำเนินธุรกิจในเมียนมา ไปจนถึงความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต โครงสร้างพื้นฐาน การนำเข้าวัตถุดิบ และการส่งออกสินค้าที่ผลิตเสร็จพร้อมขาย"

AFP - เมียนมา รัฐประหาร ประท้วง ชุมนุม

จากเหตุการณ์ที่มีผู้ชุมนุมถูกปราบด้วยความรุนแรง หนึ่งในผู้เสียชีวิตคือวัยรุ่นที่ถูกยิงเข้าที่ศีรษะขณะซื้อของ ขณะนี้ร้านค้า โรงงาน และธนาคารประกาศปิดเป็นวงกว้างในเมืองใหญ่อย่างนครย่างกุ้ง ทาง H&M รู้สึกกังวลอย่างมากถึงสถานการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ และขณะนี้กำลังปรึกษาและเจรจาร่วมกับหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสหประชาชาติ ผู้แทนทางการทูต ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน สหภาพการค้า และบรรดาบริษัทระดับนานาชาติหลายแห่ง  

"ทาง H&M หวังว่าการปรึกษาหารือร่วมกันจะสามารถนำพาบริษัทไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้องในอนาคตในฐานะบริษัทหนึ่ง โดยเฉพาะการตัดสินใจว่าจะสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อสร้างการพัฒนาเชิงบวกโดยสอดคล้องกับความต้องการสมัครใจของชาวเมียนมา" 

เมียนมา

ทั้งนี้ แม้ขนาดภาคการผลิตของเมียนมานั้นจะเล็กกว่าภาคการผลิตของประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาก ทั้งบังกลาเทศ ไทย และจีน อย่างไรก็ตาม โรงงานมากกว่า 600 แห่งในเมียนมามีความสำคัญอย่างยิ่งกับลูกจ้างของพวกเขาที่ Myanmar Garment Manufacturers เปิดเผยว่ามีจำนวนมากกว่า 450,000 คนในปีที่ผ่านมา