ไม่พบผลการค้นหา
'กฎอัยการศึก' ที่ประกาศเมื่อ 15 มี.ค.มอบอำนาจเบ็ดเสร็จให้กองทัพ เปิดทางให้ใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ จนมีคนตายกว่า 149 คุมตัวพลการกว่า 2,000 และมีรายงานซ้อมทรมาน

สถานการณ์ในประเทศเมียนมาไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้น ซ้ำร้ายกองทัพยังคงเดินหน้าใช้ความรุนแรงปราบผู้ชุมนุมซึ่งเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างสันติ ด้วยการประกาศใช้กฎอัยการศึกในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณนครย่างกุ้งและปริมณฑลใกล้เคียง อันเป็นจุดศูนย์กลางของการเคลื่อนไหวภาคประชาชน

การประกาศใช้กฎอัยการศึกของกองทัพเมียนมา ถือเป็นการยกระดับความเข้มข้นในการเข้าปราบปรามประชาชน หากย้อนไปช่วง 1 สัปดาห์หลังเหตุรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. กองทัพได้งัดคำสั่งภายใต้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 144 (Section 144 of the Criminal Procedure Code) รับมือการชุมนุม ด้วยการประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่เมืองสำคัญของประเทศ เป็นการจำกัดการชุมนุมและเสรีภาพในการเคลื่อนไหว

ต่อมาช่วงกลางเดือน ก.พ. คณะรัฐประหาร โดยพล.อ.อาวุโส มิ่นอ่องหล่ายน์ กระชับอำนาจด้วยการออกคำสั่งยกเลิกกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพส่วนบุคคลและความมั่นคง ( Protection of the Citizens for the Personal Freedom and Personal Security Law) ในมาตรา 5,7 และ 8 เป็นการชั่วคราวอย่างไม่มีกำหนด การระงับใช้กฎหมายนี้ได้เพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสามารถเข้าจับกุมหรือควบคุมตัวผู้เห็นต่างได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ, ค้นบ้านโดยไม่ต้องมีหมายค้นหรือพยานสังเกตการณ์, แกะรอยผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ และควบคุมตัวได้เกิน 24 ชั่วโมง

แม้คณะรัฐประหารจะงัดมาตรการข้างต้นมาใช้ แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งเสียงเรียกร้องให้คืนประชาธิปไตยของประชาชนได้ ทั้งกองทัพยังเป็นฝ่ายขยายความรุนแรงด้วยการใช้กระสุนจริงในหลายพื้นที่ จนมีผู้เสียชีวิตไม่น้อยกว่า 130 ราย

AFP - เมียนมา ประท้วง รัฐประหาร

15 มี.ค. กองทัพเพิ่มดีกรีความรุนแรงผ่านการประกาศใช้กฎอัยการศึกในหลายพื้นที่ เริ่มต้นที่นครย่างกุ้ง ก่อนขยายไปยังส่วนอื่นๆ ในแถบใกล้เคียง นับเป็นสัญญาณถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายลงอย่างชัดเจน

กฎอัยการศึกแตกต่างและร้ายแรงกว่าคำสั่งมาตรา 144 ที่ประกาศใช้ไปก่อนหน้า ตรงที่ทหารมีอำนาจควบคุมพื้นที่อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด มีอำนาจทุกประการอยู่เหนือเจ้าหน้าที่พลเรือน ไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือศาล ทหารจะเข้าควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ แทนเจ้าหน้าที่ตำรวจ กฎอัยการศึกถือเป็นใบอนุญาตเปิดทางให้ทหารปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมผ่านความรุนแรงหลายรูปแบบชนิดไม่เลือกหน้า โดยอ้างว่าเพื่อความสงบเรียบร้อย

ตลอดห้วงประวัติศาสตร์ของประเทศ เมียนมาตกอยู่ภายใต้การปกครองของทหารมายาวนานหลายทศวรรษ กฎอัยการศึกเคยถูกนำมาใช้หลายครั้ง เช่น เหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2531 กองทัพใช้กฎอัยการศึกเข้าปราบปรามการชุมนุมของประชาชนอย่างรุนแรง โดยอ้างว่าเพื่อความสงบเรียบร้อย

AFP - เมียนมา ประท้วง รัฐประหาร


กฎอัยการศึกในรัฐธรรมนูญฉบับ 2551

เมลิซา เคราช์ ศาสตราจารย์ด้านวิชากฎหมายมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ (UNSW) ซิดนีย์ ออสเตรเลีย อธิบายผ่านเว็บบล็อกว่า รายงานข่าวระบุว่า คณะรัฐประหารอ้างถึงการใช้อำนาจบริหารของกองทัพผ่านมาตรา 413 ที่เป็นกฎอัยการศึก แต่มาตรา 413 เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่มีความเฉพาะเจาะจงภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

ย้อนไปเมื่อรัฐประหาร 1 ก.พ. กองทัพประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ หนึ่งในมาตราที่กองทัพอ้างคือ มาตรา 419 ซึ่งระบุให้ผู้นำกองทัพมีอำนาจเหนือฝ่ายพลเรือนที่ชนะการเลือกตั้ง หมายความว่ากองทัพไม่ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินตามมาตรา 412 ตรงๆ แต่ใช้มาตรา 419 แทน ซึ่งจะหมายความต่อเนื่องไปอีกว่ามาตรา 413 ที่เป็นกฎอัยการศึกจะยังบังคับใช้ไม่ได้ เพราะต้องมีการประกาศใช้มาตรา 412 ก่อน

ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายชาวออสเตรเลียตั้งข้อสังเกตว่า คำสั่งของกองทัพเมื่อ 14 มี.ค.อ้างถึงมาตรา 413 ของรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นการให้อำนาจทั้งหมดขึ้นกับผู้บัญชาการทหารสูงสุดนั้นอาจขัดกับรัฐธรรมนูญ เนื่องจากกระบวนการประกาศภาวะฉุกเฉินภายใต้มาตรา 419 ได้เกิดขึ้นแล้ว 

ตามรัฐธรรมนูญเมียนมาฉบับ 2551 มาตรา 413 ระบุใจความสำคัญว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสมาชิกองค์กรบริการพลเรือน อาจได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนจากกองทัพ เพื่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านกฎหมายประกาศภาวะฉุกเฉินตามมาตรา 412 ประธานาธิบดีอาจประกาศคำสั่งทางปกครองทางทหารหากจำเป็น ในคำสั่งดังกล่าวให้อำนาจและหน้าที่ในการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่งคงอยู่ภายใต้กองทัพ

มาตรา 413 หรือกฎอัยการศึกจึงเป็นการมอบอำนาจให้กองทัพเข้าปราบปรามจับกุมประชาชนที่เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยและผู้ที่ถูกจับจะต้องถูกดำเนินคดีในศาลทหาร

เพียงไม่นาน หลังจากมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกในหลายพื้นที่ พบว่ามีประชาชนถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมด้วยอาวุธสงคราม แม้ในหลายเขตไม่ได้อยู่ภายใต้กฎอัยการศึก แต่กลับปรากฏว่ามีประชาชนเสียชีวิตมากกว่าเขตที่ใช้กฎอัยการศึกเสียอีก

AFP - เมียนมา ประท้วง รัฐประหาร


รัฐไร้ขื่อแป

ปัจจุบันนครย่างกุ้งมีสภาพไม่ต่างจากสนามรบ ตัวเลขของประชาชนที่เสียชีวิตจากการถูกปราบพุ่งขึ้นทุกวัน ผู้ตายมีทั้งวัยเด็กวัยผู้ใหญ่ และยังรวมถึง 'เหยื่อ' ที่เป็นชายรายหนึ่งซึ่งไม่ได้ร่วมชุมนุมเคลื่อนไหว แต่ถูกลูกหลงนอนจมกองเลือดเสียชีวิตบนพื้นถนน เหตุดังกล่าวยิ่งสร้างความโกรธแค้นให้ประชาชนขึ้นไปอีก

สถานการณ์ลุกลามมากขึ้น เมื่อมีรายงานว่า ธุรกิจโรงงานอย่างน้อย 32 แห่งของกลุ่มทุนจีนถูกเผาทำลาย โดยผู้ชุมนุมเชื่อว่าปักกิ่งสนับสนุนคณะรัฐประหาร ขณะที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติแถลงยืนยันว่า นับตั้งแต่รัฐประหาร มีชาวเมียนมาถูกเจ้าหน้าที่สังหารไม่น้อยกว่า 149 ศพ และถูกจับตัวไปโดยพลการราว 2,084 คน

AFP - เมียนมา ประท้วง รัฐประหาร

สภาพรัฐอันใกล้ไร้ขื่อแปในเมียนมาส่งผลให้อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์โดยระบุว่า เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในเมียนมาช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นเรื่องน่าตกใจอย่างยิ่ง การสังหารและจับกุมผู้ประท้วงโดยพลการของกองทัพรวมถึงรายงานทรมานนับว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ทั้งขอเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติแสดงความยืนหยัดอย่างชัดเจนในการหาทางยับยั้งความรุนแรง

เลขาฯ ยูเอ็น ยังเรียกร้องให้กองทัพอนุญาตให้คณะทูตผู้แทนพิเศษเข้าพบและสังเกตสถานการณ์ในประเทศเพื่อหาทางยุติความรุนแรงผ่านการเจรจา และเพื่อให้เมียนมากลับสู่วิถีทางประชาธิปไตย

ขณะนี้หลายฝ่ายคาดหวังท่าทีอันเป็นรูปธรรมจากหน่วยงานด้านความมั่นคงของยูเอ็นอย่างคณะมนตรีความมั่นคงว่าควรจะออกมาตรการจัดการกับกองทัพเมียนมาอย่างจริงจัง มากกว่าออกมาเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรงลอยๆ หลายฝ่ายเริ่มพูดถึงทางเลือกในการส่งกองกำลังยูเอ็นเข้าไปในเมียนมา แต่จะเป็นไปได้แค่ไหนเมื่อ 'รัสเซีย' และ 'จีน' ยังคงมีท่าทีไม่สอดคล้องกับมติคณะมนตรีความมั่นคง

การใช้กฎอัยการศึกของกองทัพนับเป็นสัญญาณอันตรายว่า ภายในอีกไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์หน้า กองทัพจะขยายความรุนแรงไปยังพื้นที่อื่นๆ ของประเทศที่ลุกฮือต่อต้านรัฐประหาร ซึ่งนั่นจะยิ่งซ้ำเติมให้สถานการณ์เลวร้ายลง

อีกด้านหนึ่ง เมียนมาเป็นรัฐที่ประกอบด้วยหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งต่างมีกองกำลังติดอาวุธเป็นของตนเอง หากสถานการณ์จากกองทัพเมียนมาทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จะยิ่งกลายเป็นเหตุผลให้กลุ่มชาติพันธุ์แยกตัวเป็นรัฐอิสระ โดยเฉพาะรัฐคะฉิ่นและรัฐฉาน แต่กว่าจะถึงขั้นนั้นเมียนมาคงตกอยู่ในสภาพสงครามกลางเมืองซึ่งจะนำไปสู่วิกฤตผู้ลี้ภัย กลายเป็นรัฐล้มเหลว (Failed State) ไม่ต่างกับซีเรียหรืออัฟกานิสถาน