แม้เรื่องราวตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553 จากบนถนนราชดำเนินสู่ราชประสงค์ ผ่านมาแล้ว 12 ปี แต่การตามหาความยุติธรรมของญาติผู้สูญเสีย ยังคงไม่มีความคืบหน้า
‘วอยซ์’ ชวนสองทนายความคนเสื้อแดง ‘โชคชัย อ่างแก้ว-วิญญัติ ชาติมนตรี’ ผู้ดูแลคดีของผู้ชุมนุม เหลียวมองเส้นทางการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมไทย เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้สูญเสีย
‘โชคชัย อ่างแก้ว’ ทนายความผู้รับผิดชอบคดีสลายการชุมนุมปี 2553 เล่าว่า ความยุติธรรมที่จะเกิดขึ้นต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการล้อมปราบคนกลางเมือง ยังคงเป็นเรื่องยาก เพราะมีการใช้อำนาจเข้าไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้องในเวลานั้นคือผู้มีอำนาจในปัจจุบันด้วยกันทั้งสิ้น
สำนวนการตายที่ไม่คืบหน้า
สำหรับการไต่สวนการตายทั้ง 99 ศพ จากการสลายการชุมนุมนับตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553 ทนายโชคชัยระบุว่า รับผิดชอบดูแลคดีให้ 17 ศพ ซึ่งศาลมีการไต่สวนการตายเสร็จสิ้นแล้ว ในส่วนผู้เสียชีวิตรายอื่นจะมีทนายความอื่นเข้ามาดูแล ตามที่ญาติผู้ตายแต่ละรายแต่งตั้งขึ้นมา อย่างไรก็ดี ผ่านมา 12 ปี พนักงานสอบสวนในพื้นที่เกิดเหตุทำสำนวนไต่สวนการตายไปเพียง 27 ศพเท่านั้น
“สำนวนไต่สวนการตาย พนักงานสอบสวนในท้องที่ที่พบศพต้องทำสำนวน ก่อนยื่นคำร้องไปที่ศาล ทางญาติผู้ตายจะแต่งตั้งทนายเข้าไปร่วมกับอัยการ ซึ่งที่ผ่านมาพนักงานสอบสวนยื่นสำนวนไปที่อัยการแล้ว 27 ศพ ในส่วนที่เหลือก็ไม่สามารถตรวจสอบถึงความคืบหน้าได้เลย เพราะพอเปลี่ยนรัฐบาลคนที่เข้ามา ก็มีการควบคุมไม่ให้เกิดการฟ้องหรือดำเนินคดีอีก ”
ทั้งนี้ การไต่สวนการตาย ยังไม่ใช่การดำเนินคดีอาญา แต่เป็นขั้นตอนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 กรณีทีผู้เสียชีวิตอาจตายโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่หรืออยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ โดยจะต้องมีการยื่นสำนวนต่อศาลเพื่อทำการไต่สวนและสั่งว่า ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด รวมถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย
สำหรับสำนวนการตายเริ่มเข้าสู่กระบวนการไต่สวนในปี 2555 ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ คำสั่งแรกที่มีการไต่สวนคือคดีการตายของ ‘พัน คำกอง’ จากเหตุเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธบริเวณแอร์พอตลิ้งค์ราชปรารภ
อีกกรณีการไต่สวนที่ประชาชนให้ความสนใจคือ กรณีสังหาร 6 ศพ ในวัดปทุมวนาราม ซึ่งมีคำสั่งศาลชัดเจนว่าเกิดจากการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตามเนื่องจากการสั่งการครั้งนี้ ได้เกี่ยวโยงไปถึงผู้มีอำนาจ ทำให้กระบวนการยุติธรรมสะดุดไปอย่างไร้วี่แวว และยังมีอีกหลายศพที่ยังไม่มีการไต่สวนการตายจนกระทั่งทุกวันนี้
“การฟ้องฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ตั้งแต่ผู้สั่งการลงมาถึงผู้ปฏิบัติ ย้อนไปในการชุมนุมขณะนั้น รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และตั้ง สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้อำนายการ ศอฉ. ซึ่งมีการกำหนดให้คดีทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นคดีพพิเศษ ในความรับผิดชอบของดีเอสไอ โดยมีการดำเนินคดีกับสุเทพและอภิสิทธิ์ ในข้อหาฆ่าคนตาย สุดท้ายแล้วศาลฏีกาก็ยกฟ้องไป โดยอ้างว่าสุเทพกับอภิสิทธิ์เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องให้ ป.ป.ช.ไต่สวน สุดท้าย ป.ป.ช.ก็ยุติเรื่องไม่มีการฟ้องและดำเนินคดีแต่อย่างใด” ทนายโชคชัย เล่าถึงความยุติธรรมที่หยุดชะงัก
ในส่วนการดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ทหารระดับปฏิบัติการ หลังศาลมีการไต่สวนการตายว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร จึงเป็นหน้าที่ของดีเอสไอที่รับหน้าที่สอบสวน เมื่อเสร็จสิ้นแล้วจึงส่งให้อัยการศาล ในเวลาต่อมาอัยการศาลอ้างว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นทหาร ต้องส่งไปฟ้องที่ศาลทหาร เพื่อให้อัยการทหารวินิจฉัยอีกครั้ง
อย่างไรก็ตามกระบวนการสอบสวนกลับสะดุดลง จากการยึดอำนาจปี 2557 ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ขณะนั้น โดยอัยการศาลทหารมีคำสั่งไม่ฟ้อง แม้มีคำไต่สวนศาลชี้ว่ากระสุนมาจากฝ่ายทหาร
“คดีเหล่านี้พอมีการยึดอำนาจ เหมือนว่าไม่ไปถึงไหน เพราะว่ามีการส่งคนของผู้มีอำนาจเข้าไปในดีเอสไอ สุดท้ายดีเอสไอก็บอกว่าผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นทหาร ต้องส่งเรื่องไปยังอัยการทหาร ต่อมาอัยการทหารก็มีคำสั่งไม่ฟ้อง รวมถึงคดียิง 6 ศพ วัดปทุมวนาราม ซึ่งปรากฎตัวผู้กระทำผิดชัดเจนว่าเป็นทหารที่อยู่บนรางรถไฟฟ้า และในปัจจุบันนี้อัยการทหารก็ยังไม่มีการสั่งฟ้องใครเลย”
‘ทนายโชคชัย’ ยังตอกย้ำถึงอุปสรรคในการเข้าถึงการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ทหารในการสลายการชุมนุม ว่า มีหนึ่งคดีที่เขาและญาติ ‘พัน คำกอง’ ผู้เสียชีวิต จากกระสุนของเจ้าหน้าที่ทหาร โดยยึดคำไต่สวนในการยื่นคำร้องไปที่ศาลอาญารัชดาภิเษก ในข้อหาฆ่าคนตายแต่ก็ถูกยกคำร้องไป โดยศาลอาญามีคำสั่งว่า เนื่องจากจำเลยเป็นทหาร เพราะฉะนั้นศาลยุติธรรมจึงไม่มีอำนาจรับเรื่องนี้ไว้พิจารณา ต้องไปยื่นที่ศาลทหาร
ตามพระธรรมนูญของทหาร ระบุว่าต้องให้อัยการศาลทหารเท่านั้นที่ยื่นฟ้อง ประชาชนทั่วไปไม่สามารถยื่นฟ้องได้เลย
“สรุปแล้วคดีทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับผู้สั่งการหรือผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ก็สะดุดไปเพราะคดีนี้เกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจในปัจจุบัน จึงถูกแช่ไว้แล้ว 12 ปี โดยอายุความเหลือเพียง 8 ปี”
ทนายคนเสื้อแดงรายนี้ ยังระบุว่ามีความพยายามที่จะใช้แท็กติกทางกฎหมายใหม่ๆ เพื่อต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม “แต่ที่ปรากฏคือมีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมันเป็นเรื่องของผู้มีอำนาจ ผมบอกไว้เลยว่ามันเป็นเรื่องยากมาก”
“ไม่ใช่เฉพาะเหตุการณ์ปี 53 หรอก แม้กระทั่งการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ในเวลานี้ เราก็เห็นอยู่ว่ากระบวนการยุติธรรมมันเป็นยังไง ถ้าบ้านเมืองมันยังเป็นลักษณะนี้การจะลงโทษผู้กระทำผิดมันเป็นเรื่องยากมาก” ทนายโชคชัย กล่าวสรุป
ปฏิเสธว่าไม่ได้มีเพียงการสูญเสียร่วมร้อยชีวิตเท่านั้น แต่สิ่งที่ตามมาและสร้างบาดแผลให้คนเสื้อแดงคือ ‘วาทกรรมชายชุดดำ’ จากภาพกลุ่มชายฉกรรจ์สวมชุดทึบแสง และอาวุธปืนสงคราม ในช่วงหัวค่ำวันที่ 10 เมษายน 2553 บริเวณพิ้นที่ชุมนุม
วิญญัติ ชาติมนตรี หนึ่งในทนายความที่รับหน้าที่ดูแลคดีของคนเสื้อแดง โดยเฉพาะคดีสำคัญที่เกี่ยวข้องกับ ‘พ.ร.ก.ฉุกเฉิน’ และ ‘คดีของแกนนำ’ ซึ่งเขาเล่าว่าคดีส่วนใหญ่สิ้นสุดด้วยคำสั่งศาลพิพากษายกฟ้อง รวมถึงคดี ‘ชายชุดดำ’
โดยวิญญัติมองว่าการถูกฟ้องแต่ละคดีของคนเสื้อแดงนั้น เหมือนกับการทำให้สังคมมองว่าเสื้อแดงเป็นฝ่ายใช้ความรุนแรง แต่ศาลก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าหลักฐานที่ถูกนำมาดำเนินคดีนั้น ไม่มีความชัดเจนและชี้ได้ว่าคนเสื้อแดงเป็นผู้ก่อเกตุ อย่างที่รัฐกล่าวอ้าง สุดท้ายก็ถูกจับกุมและถูกปล่อยตัวในภายหลัง
“คดีที่ฟ้องคนเสื้อแดงและชายชุดดำ พยานหลักฐานมันไม่ชัดเจน โดยไม่มีประจักษ์พยาน เพียงแต่เขาฟ้องเพื่อให้มีจำเลยรับผิดชอบ เกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆเท่านั้นเอง”
ในฐานะผู้รับผิดชอบทางคดี วิญญัติไม่ค่อยเห็นด้วยกับการวินิจฉัยศาลที่ระบุว่า “ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัย” ซึ่งไม่มีคำกล่าวใดที่ชี้ว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด โดยหลักฐานที่นำมาพิสูจน์ในกระบวนการขั้นต้น มันก็ไม่มีน้ำหนักพอแล้ว
“มันต้องระบุว่าไม่ได้เป็นการกระทำความผิด ไม่ใช่การยกประโยชน์แห่งความสงสัย เพราะกฎหมายไม่ได้เขียนไว้ว่าต้องให้ค่าทดแทนหรือความเสียหายที่ถูกการดำเนินคดี”
ทว่ากระบวนการยุติธรรมไทยยังถูกตั้งคำถามจากทนายผู้นี้อีกครั้ง เนื่องจากเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 จำเลยคดีชายชุดดำถูกฟ้องซ้ำ แม้ว่าศาลฎีกาเคยพิพากษายกฟ้องไปแล้ว ซึ่งจากกรณีดังกล่าว ‘วิญญัติ’ มองว่ามันคือความไม่เป็นธรรมกับจำเลยเพราะคดีถึงที่สุดไปแล้ว
“ที่จริงคดีชายชุดดำที่เขาเอามานั่งแถลงว่าเป็นคนก่อเหตุ มันสิ้นสุดไปแล้วโดยยกฟ้อง แต่การถูกฟ้องอีกด้วยการแยกฟ้อง โดยเอาข้อหาที่อ้างว่ายิงเจ้าหน้าที่มาฟ้องใหม่ โดยใช้เหตุการณ์เดิมที่เขาอ้างว่าเป็นชายชุดดำที่ถูกยกฟ้อง แต่กลับเอาข้อหาครอบครองอาวุธไปฟ้องว่าพยายามฆ่าเจ้าหน้าที่ ซึ่งในอนาคตก็คาดหมายได้ว่าศาลก็คงยกฟ้องอีก แต่การทำแบบนี้มันไม่เป็นธรรมกับคนเสื้อแดง” วิญญัติมองกระบวนการยุติธรรม
สำหรับการฟ้องกลับเจ้าหน้าที่ของจำเลยนั้น ‘ทนายวิญญัติ’ ยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก เนื่องจากผลวินิจฉัยของศาลไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้จำเลย รวมถึงการรวบรวมพยานหลักฐานที่จะชี้ว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือเจตนากลั่นแกล้งยังคงไม่ชัดเจน
ส่วนการจะฟ้องผู้สั่งการตั้งแต่ นายกรัฐมนตรีหรือผู้อำนวยการ ศอฉ.และทหารที่ใช้กำลังล้อมปราบประชาชน ก็มีช่องทางแต่ถือว่าเป็นเรื่องยากที่จะเอาผิดคนที่มีอำนาจหรือระดับผู้บังคับบัญการกองกำลังทหารขณะนั้น โดยเฉพาะการที่ดีเอสไอส่งคดี 6 ศพวัดปทุมฯ ไปที่อัยการทหาร
“กรณีทหารยิง 6 ศพวัดปทุมวนาราม ทนายและญาติก็กล่าวหาเพื่อเอาผิดทหารทั้ง 8 นาย ซึ่งมีชื่อและยศชัดเจน เนื่องจากคำวินิจฉัยจากศาลระบุว่ากระสุนมาจากฝ่ายทหาร แต่การที่ดีเอสไอโยนไปให้อัยการทหาร ผมเห็นว่าเป็นการใช้ดุลยพินิจและอำนาจในการเอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายทหาร เพื่อให้อัยการทหารเป็นผู้วินิจฉัยว่า ควรจะสอบสวนหรือขยายผลไปยังทหารที่ปฏิบัติงานหรือไม่
“ต่อมาอัยการทหารวินิจฉัยว่าไม่พบผู้กระทำผิด ซึ่งมันย้อนแย้งจากหลักฐานและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คำวินิจฉัยของศาลทหารมันสะท้อนว่าไม่สามารถดำเนินการตรวจสอบได้ แล้วดีเอสไอก็เอาผลวินิจฉัยนี้มาอ้าง ซึ่งมันไม่เป็นธรรม” ทนายวิญญัติ วิพากษ์ความย้อนแย้ง
ทั้งนี้ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้เผยแพร่ข้อมูลโครงสร้างศาลทหาร ระบุว่าศาลทหารอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงกลาโหม โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้รับผิดชอบงานธุรการปัจจุบันมี พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ เป็นเจ้ากรมพระธรรมนูญรับผิดชอบงานฝ่ายบริหาร มีพล.ร.ท. กฤษดา เจริญพานิช เป็นหนัวหน้าสำนักตุลาการทหาร มี พล.ต. ขวัญชัย สมนึก เป็นหัวหน้าอัยการทหาร
เป็นที่น่าสนใจว่า ‘ตุลาการทหาร’ อาจเป็นนายทหารที่ไม่รู้กฎหมายก็ได้ แต่ตุลาการพระธรรมนูญเป็นนายทหารที่มีความรู้กฎหมาย ในส่วนขอบเขตอำนาจศาลทหาร iLaw แบ่งเป็น 2 ส่วนดังนี้
พิจารณาจากบุคคล
คนที่ต้องถูกพิจารณาคดีที่ศาลทหาร ก็คือ ทหาร นักเรียนทหาร พลเรือนที่สังกัดอยู่ในราชการทหาร บุคคลซึ่งอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารโดยชอบด้วยกฎหมาย เชลยศึก
พิจารณาจากประเภทคดี
คดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร คือ
คดีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลให้พิจารณาพิพากษาที่ศาลพลเรือน ถ้าภายหลังกลายเป็นว่าอยู่ในอำนาจของศาลทหาร แต่ศาลพลเรือนรับฟ้องไปแล้ว ก็ให้ศาลพลเรือนมีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไป