ไม่พบผลการค้นหา
กรมอุตุนิยมวิทยาคาดพายุ 'ปาปึก' ความเร็วลม 65 กม./ชม. เคลื่อนขึ้นฝั่งชุมพร-สุราษฎร์ธานี ค่ำวันที่ 4 ม.ค. ผู้ประกอบการเดินเรือท่องเที่ยว เกาะสมุย-พงัน-เต่า ประกาศหยุดให้บริการ ฟาก ปตท.สผ.สั่งย้ายเจ้าหน้าที่แท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติน้ำมันดิบในแหล่งบงกชเหนือ-ใต้ ออกจากพื้นที่ทั้งหมด พร้อมระงับการผลิตชั่วคราว ก.พลังงานรักษาความปลอดภัยเจ้าหน้าที่ ไม่กระทบการใช้ในประเทศ

นายภูเวียง ประคำมินทร์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุุตุนิยมวิทยา เมื่อเวลา 16.00 น. ของวันนี้ (2 ม.ค. 62) ระบุว่า พายุโซนร้อน 'ปาบึก' (PABUK) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 6.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 108.0 องศาตะวันออก ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกอย่างช้า ๆ คาดว่าจะเคลื่อนผ่านปลายแหลมญวน และเคลื่อนลงอ่าวไทยในช่วงวันที่ 2-3 มกราคม 2562 และจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัดชุมพรและสุราษฎร์ธานี ในช่วงค่ำของวันที่ 4 มกราคม 2562 โดยจะมีผลกระทบต่อภาคใต้ในช่วงวันที่ 3-5 มกราคม 2562 ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำทวมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ โดยมีผลกระทบดังนี้

ในช่วงวันที่ 3-4 มกราคม 2562 จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งกับมีลมแรงบริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส กระบี่ ตรัง และสตูล

ในช่วงวันที่ 4-5 มกราคม 2562 บริเวณภาคใต้จะมีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง และจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง กับมีลมแรงบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรง โดยอ่าวไทยมีคลื่นสูง 3-5 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกระวังอันตรายจากลมแรง และคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่ง ชาวเรือบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่งตั้งแต่วันที่ 2-5 มกราคม 2562

ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวพยากรณ์อากาศ และประกาศเตือนภัยได้ที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา https://www.tmd.go.th หรือสายด่วนพยากรณ์อากาศ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

เกาะเต่า

เรือนอนจากเมืองสุราษฎร์ฯ ข้ามเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า หยุดให้บริการแล้ว

เจ้าหน้าที่จากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในนามคณะกรรมการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานีกว่า 60 คน เข้าร่วมประชุม VDO Conference ที่อาคารศาลากลางชั้น 4 เมื่อเวลา 15:30 น.วันที่ 2 ม.ค. 2562 เพื่อติดตามการเตรียมการรับมือ พายุ 'ปาบึก' โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย/ผบ.ปภ.ช เป็นประธานการประชุมฯ

โดยทางจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมทางด้านอุปกรณ์กู้ชีพกู้ภัย จากหน่วยงานต่างๆ รวมถึงความพร้อมของบุคลากรในการให้การช่วยเหลือประชาชนในกรณีฉุกเฉิน โดยคาดการณ์ว่าพายุจะเข้าในวันพรุ่งนี้ (3 ม.ค.) พร้อมแจ้งเตือนประชาชนริมชายฝั่ง รวมถึงผู้ประกอบการเรือโดยสารให้พิจารณาเดินเรือด้วยความปลอดภัย

ในส่วนของเรือโดยสาร จากการประสานงานของทาง ปภ.จังหวัดกับผู้ประกอบการเดินเรือและการประเมินสภาพคลื่นลมในทะเล ทำให้เรือนอน ซึ่งเป็นเรือไม้จำนวนจุ 60-150 คน เดินทางจากอำเภอเมืองไปยัง เกาะสมุย เกาะพะงัน และ เกาะเต่า ได้ประกาศหยุดให้บริการ

ขณะที่ เรือเร็วลมพระยายังให้บริการได้ถึงวันที่ 3 ม.ค. และจะหยุดให้บริการในช่วงค่ำช่วงวันที่ 3 และ หยุดให้บริการทั้งวันในวันที่ 4 ม.ค. 

เช่นเดียวกับเรือโดยสารขนาดใหญ่อย่างเรือเฟอร์รี่ ยังสามารถเดินเรือได้ แต่ก็หยุดการจำหน่ายตั๋วล่วงหน้าสำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางในวันที่ 3-5 ม.ค. แล้ว และทราบว่าจะทยอยหยุดการเดินเรือในวันที่ 3 ตั้งแต่บ่ายโมงเป็นต้นไป เช่นเดียวกับเรือและทางจังหวัดจะได้ทำประกาศหยุดให้บริการตั้งแต่ 24:00 น.ของวันที่ 3 ม.ค. เพื่อความปลอดภัย

มทบ.44 เตรียมพร้อมกำลังพล เครื่องจักรและอุปกรณ์พร้อมช่วยเหลือประชาชน

ขณะที่ เวลา 15.30 น.วันที่ 2 มกราคม 2562 ที่มณฑลทหารบก ที่ 44 ค่ายเขตอุดมศักดิ์ชุมพร พล.ต.พรชัย อินทนู ผบ.มทบ.44 ในฐานะ ผอ.ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยร่วมจังหวัดชุมพร เป็นประธานในพิธีตรวจความพร้อมของกำลังพล เครื่องจักรและอุปกรณ์ในช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติจากธรรมชาติ พร้อมเปิดศูนย์บรรเทาสาธารณภัยร่วมจังหวัดชุมพร

โดยศูนย์แห่งนี้ ได้จัดกองกำลังหน่วยทหาร จำนวน 3 กองร้อย พร้อมชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่ จำนวน 27 ชุด และกองกำลังสนับสนุน ประกอบด้วย โรงครัวสนาม รถผลิตน้ำประปา เป็นต้น

ก.พลังงานยันลดการผลิตก๊าซธรรมชาติ-น้ำมันดิบในอ่าวไทยไม่กระทบการใช้ในประเทศ

ด้านกระทรวงพลังงานออกแถลงการณ์ ระบุว่า ได้ประสานข้อมูล สั่งการและติดตามร่วมกับบริษัทผู้ประกอบกิจการปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทยทั้ง 8 กลุ่มบริษัทอย่างใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้ได้ มีการถอนตัวเจ้าหน้าที่ที่ไม่จำเป็นในการผลิตกลับขึ้นฝั่ง ณ จังหวัดสงขลาและจังหวัดชลบุรีโดยเรือและเฮลิคอปเตอร์ เรียบร้อยแล้วอย่างปลอดภัย 

ผลจากพายุโซนร้อนครั้งนี้ บริษัทผู้ประกอบการจำเป็นต้องหยุดผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบบางส่วนเพื่อความปลอดภัย ทำให้ปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยลดลงจากการที่แหล่งบงกชเหนือหยุดการผลิตประมาณ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันจากปริมาณการผลิตทั้งหมดในอ่าวไทยจำนวน 2,400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน 

สำหรับน้ำมันดิบหยุดการผลิตประมาณ 27,000 บาร์เรลต่อวันจากปริมาณการผลิตปัจจุบัน 100,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งในส่วนการผลิตน้ำมันดิบที่ลดลงนั้นยังไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ในประเทศ  

กระทรวงพลังงานได้เตรียมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยในการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาตินั้น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จะส่งก๊าซธรรมชาติที่ถูกทำให้เหลว (LNG) เข้าระบบเพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติที่ลดลง ในส่วนการผลิตไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้สำรองจากเชื้อเพลิงอื่นมากขึ้น โดยได้สำรองน้ำมันดีเซล และน้ำมันเตาทดแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าอย่างเพียงพอหากจำเป็น รวมถึงการนำเข้าไฟฟ้าพลังน้ำจากต่างประเทศ สำหรับก๊าซหุงต้ม หรือ LPG ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ส่งเข้าโรงแยกก๊าซลดลง กรมธุรกิจพลังงานและบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จะบริหารจัดการให้มีปริมาณ LPG เพียงพอต่อการใช้ของประชาชน

ในภาพรวมกระทรวงพลังงานสามารถบริหารจัดการโดยไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและจะแจ้งให้ทราบอย่างต่อเนื่องต่อไป  

ปตท.สผ.สั่งระงับการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งบงกชเหนือ-ใต้ชั่วคราว

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. แจ้งว่า ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความปลอดภัยของการปฏิบัติงานในพื้นที่ปฏิบัติงานนอกชายฝั่ง เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งของแท่นผลิตก๊าซธรรมชาติบงกชเหนือ และแท่นผลิตก๊าซธรรมชาติบงกชใต้ อยู่ในเส้นทางการเคลื่อนตัวของพายุโซนร้อนดังกล่าว ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของพนักงานและกระบวนการผลิตบนแท่นทั้งสองโดยตรง ปตท.สผ. จึงมีความจำเป็นที่จะต้องระงับการผลิตก๊าซฯ จากทั้งสองแท่นไว้ชั่วคราว และดำเนินการส่งพนักงานที่เหลือทั้งหมดกลับขึ้นฝั่งที่จังหวัดสงขลา 

อย่างไรก็ตาม แท่นผลิตก๊าซธรรมชาติอาทิตย์ยังคงดำเนินการผลิตก๊าซฯ ภายใต้มาตรการด้านความปลอดภัย เพื่อลดผลกระทบต่อการใช้ก๊าซฯ ของประเทศ

แท่นขุดเจาะ-พลังงาน-อ่าวไทย-ปตท.สผ.

ขณะนี้ ปตท.สผ. ได้ประสานงานกับหน่วยงานราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว โดยก่อนหน้านี้ ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2561 ปตท.สผ. ได้ระงับกิจกรรมการสำรวจและการซ่อมบำรุง ส่งพนักงานส่วนหนึ่งกลับเข้าสู่ฝั่งอย่างปลอดภัย รวมทั้งเคลื่อนย้ายแท่นเจาะและเรือสนับสนุนต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบออกจากบริเวณพายุแล้ว 

ทั้งนี้ ปตท.สผ. มีความห่วงใยในสวัสดิภาพของพนักงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง ภารกิจเร่งด่วนขณะนี้คือการดำเนินการอย่างสุดความสามารถเพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนปลอดภัย ทั้งนี้ ปตท.สผ. ได้เตรียมพร้อมแผนฉุกเฉินตามมาตรฐานสากลทั้งเชิงรุกและเชิงรับอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่ามีความพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :