ไม่พบผลการค้นหา
มาริโอ ดรากี นายกรัฐมนตรีอิตาลี ประกาศว่าตนจะลาออกจากตำแหน่ง หลังจากกลุ่มขบวนการห้าดาว (M5S) ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลของดรากี ประกาศว่าจะไม่ลงคะแนนไว้วางใจตน ส่งผลให้อิตาลีเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองของประเทศอีกครั้ง เพื่อการปูทางไปสู่การเลือกตั้งที่อาจจะเกิดเร็วขึ้น

ก่อนหน้านี้ อิตาลีมีประเด็นการพิจารณากฎหมายค่าครองชีพที่เกิดความขัดแย้งกันในรัฐสภาอย่างหนัก แต่ถึงแม้ว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวจะได้รับการผ่านการลงมติจากวุฒิสภาแล้ว ดรากีกลับออกมากล่าวว่า “ข้อตกลงว่าด้วยการร่วมมือกันภายใต้รัฐบาลได้ล้มเหลวลงแล้ว”

“ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา มีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในส่วนของผม ที่จะเดินหน้าต่อไปบนเส้นทางร่วมกัน อีกทั้งยังเป็นความพยายามในจะตอบสนองต่อความต้องการของพลังทางการเมืองที่โหมเข้ามายังผม” ดรากีระบุ

“เห็นได้ชัดจากการอภิปรายและลงคะแนนเสียงในรัฐสภาในวันนี้ ความพยายามดังกล่าวยังคงไม่เพียงพอ จากคำกล่าวของผมในการสาบานตน ผมได้พูดเสมอว่าการบริหารงานในสมัยนี้จะก้าวไปข้างหน้าได้ ก็ต่อเมื่อมีโอกาสที่ชัดเจนว่าจะสามารถดำเนินโครงการของรัฐบาล ด้วยพลังทางการเมืองที่ได้รับคะแนนความเชื่อมั่นของพวกเขาเท่านั้น ความเป็นปึกแผ่นนี้เป็นพื้นฐานในการเผชิญหน้ากับความท้าทายในช่วงหลายเดือนนี้ เงื่อนไขเหล่านี้ไม่มีอยู่อีกต่อไปแล้ว” ดรากีกล่าวถึงพันธมิตรทางการเมืองของตนที่ล่มสลายลง

ดรากีซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรป ได้เข้ายื่นหนังสือลาออกกับทาง เซอร์จิโอ มัตตาเรลลา ประธานาธิบดีอิตาลี หลังจากการลงมติดังกล่าวที่สะท้อนว่ารัฐสภาไม่ไว้วางใจดรากีต่อไป อย่างไรก็ดี มัตตาเรลลาปฏิเสธหนังสือลาออกของดรากี ก่อนร้องขอให้ดรากีแถลงต่อรัฐสภา เพื่อพยายามทำความเข้าใจสถานการณ์ทางการเมืองให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ดรากีจะขึ้นแถลงต่อรัฐสภาอิตาลีในวันพุธที่จะถึงนี้ (20 ก.ค.) แต่ยังไม่มีแน่ชัดว่า การแถลงของดรากีเกี่ยวข้องกับการลงมติไม่ไว้วางใจหรือไม่ โดยถ้าหากดรากีไม่สามารถรวบรวมเสียงของพันธมิตรทางการเมืองต่อไปได้ ในการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ มัตตาเรลลาจะสามารถประกาศยุบสมา และจัดให้มีการเลือกตั้งก่อนกำหนดในช่วงปลายเดือน ก.ย.นี้ โดยปัจจุบันนี้ วาระสภาของอิตาลีจะหมดอายุลงในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2566

กลุ่ม M5S นำโดย จิวเซปเป กอนเต อดีตนายกรัฐมนตรีอิตาลี ที่ประกาศคว่ำบาตรการลงมติโหวตให้กับกฎหมายค่าครองชีพอิตาลีฉบับใหม่ ที่ใช้จบประมาณกว่า 2.6 หมื่นล้านยูโร (ประมาณ 9.6 แสนล้านบาท) โดยเกิดข้อโต้แย้งต่อกฎหมายฉบับดังกล่าวว่า รัฐบาลมีการจัดสรรเงินช่วยเหลือภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ และต้นทุนพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นอย่างไม่เพียงพอ

ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ยังมีการเสนอให้ทางการของกรุงโรมสามารถสร้างเตาเผาขยะขนาดใหญ่ในเมืองหลวง ซึ่งกลุ่ม M5S คัดค้านโครงการดังกล่าวมาโดยตลอด โดยกอนเตออกมาขู่ดรากีว่า ตนพร้อมจะถอนตัวออกจากฝ่ายรัฐบาล ซึ่งจะทำให้รัฐบาลของดรากีสูญเสียเสียงสนับสนุนกว่าครึ่ง หลังจากที่กลุ่ม M5S ได้ร่วมมือจัดตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคของดรากีเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา

ปัจจุบัน กลุ่ม M5S พยายามชุบชีวิตทางการเมืองของตนเอง ภายใต้การนำของกอนเต หลังจากที่พรรคของตนสูญเสียเสียงสมาชิกไปหลายคน และอดีตผู้นำพรรคอย่าง ลุยจิ ดิ ไมโอ รัฐมนตรีต่างประเทศคนปัจจุบัน ได้ประกาศแยกทางจากกลุ่มเมื่อเดือนที่แล้ว พร้อมกับการนำสมาชิกพรรคออกจากกลุ่มไปด้วยกันกับตน

นักวิเคราะห์กล่าวว่าการเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดของการเมืองอิตาลี เกิดขึ้นจากความวุ่นวายภายในพรรคร่วมรัฐบาล มากกว่าความแตกต่างกันในทางนโยบายของแต่ละพรรค ทั้งนี้ ดรากีได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลเอกภาพในช่วงเดือน ก.พ. 2564 โดยดรากีมีเป้าหมายหลักในการฟื้นคืนอิตาลี หลังจากการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศอย่างหนัก การล่มสลายของรัฐบาลชุดปัจจุบันในอิตาลี อาจทำให้ประเทศมีการเลือกตั้งเร็วกว่ากำหนดเดิมได้


ที่มา:

https://www.theguardian.com/world/2022/jul/14/italian-prime-minister-mario-draghi-resigns-after-coalition-partner-snub?CMP=Share_iOSApp_Other&fbclid=IwAR3TeGbfBJksRr6AI3MSAj3IHvmj-deqnqj2qOj1gG2sLLA2yKXSzsvXqSI