เรียกได้ว่าเป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ สำหรับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2562 ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยล่าสุดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ที่ผ่านมา ขยายตัวเพียงร้อย 2.4 ต่ำสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2557 ที่จีดีพีขยายตัวเพียงร้อยละ 1.0 ซึ่งหากมองสถานการณ์ปัจจุบัน หรือในปี 2563 เรียกว่าหากจะเข็นตัวเลขเศรษฐกิจให้ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ก็คงยากชนิดที่หืดขึ้นคอ ด้วยปัจจัยทั้งภายในและภายนอกเข้ามากระทบแบบไม่หยุดให้ได้พักหายใจ
ตามรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ทั้งปี 2562 และแนวโน้มปี 2563 ของ สศช. ได้ระบุถึงข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจปีนี้อยู่ด้วยกัน 4 ด้าน คือ
1. การระบาดของไวรัสโควิด-19 (ไวรัสโคโรนา) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยว และผ่านห่วงโซ่การผลิตและการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่เกิดจากการปิดทำการของหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจจีน
แม้ว่าผลกระทบดังกล่าวจะยังไม่ชัดเจน เพราะขึ้นอยู่กับระยะเวลาและความรุนแรงของการแพร่ระบาด แต่หากประมาณการจากระยะเวลาและผลกระทบจากการระบาดของโรคซาร์ส (SARs) ในปี 2546 จะเข้าสู่จุดสูงสุดในช่วงเดือนมีนาคม จะส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอย่างน้อยร้อยละ 7-8 หรือหายไปประมาณ 2.8 ล้านคน ทำให้สูญรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 150,000 ล้านบาท แต่หากยืดเยื้อผลกระทบก็คูณสอง
2. สถานการณ์ภัยแล้ง ที่เริ่มมีความชัดเจน และเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของการผลิตภาคเกษตรมากขึ้น โดยข้อมูลปริมาณน้ำใช้ได้จริงในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำรวมกันทั้งประเทศ ณ วันที่ 31 มกราคม 2563 อยู่ที่ 18,359 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 25.9 ของความจุระดับเก็บกักน้ำรวม ถือเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะทำให้การผลิตภาคเกษตรในปีนี้ปรับตัวลดลง และจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะกระทบต่อการผลิตในภาคเศรษฐกิจอื่นๆ อีกด้วย
3.ความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 แม้ว่าจะสามารถเริ่มเบิกจ่ายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเร็วสุดได้ในต้นเดือนเมษายน แต่ก็ยังล่าช้าจากสมมติฐานเดิมที่คาดว่าจะเริ่มเบิกจ่ายได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งผลกระทบดังกล่าวคาดว่าจะทำให้วงเงินการเบิกจ่ายงบลงทุนลดลงจากสมมมติฐานเดิมประมาณ 32,791 ล้านบาท เห็นได้จากไตรมาส 4/2562 การลงทุนภาครัฐติดลบถึงร้อยละ 5.1
4.ความเสี่ยงจากความผันผวนในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก แม้ว่าจะเห็นแนวโน้มขยายตัวในระดับใกล้เคียงประมาณการ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ และระบบการเงินโลกมีความผันผวนมากขึ้น โดยเหตุจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่อาจยืดเยื้อและรุนแรง มาตรการกัดกันทางการค้าที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐฯ กับยุโรป อาทิ ประเด็นเก็บภาษีดิจิทัล (Digital Tax) การอ่อนค่าของเงินยูโรทามกลางการขาดดุลการค้ามากขึ้นของสหรัฐฯ รวมถึงข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนก็ยังมีความไม่แน่นอนสูง
นอกจากนี้ ยังมีสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศต่างๆ ทั้ง ความขัดแย้งในสเปน สถานการณ์การประท้วงในฮ่องกง ความขัดแย้งในประเทศตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน รวมถึงการปรับคาดการณ์ของนักลงทุนและเปลี่ยนแปลงทิศทางนโยบายการเงินของประเทศสำคัญๆ และปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิขของประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา
หลายฝ่ายเริ่มแสดงความกังวลว่าจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1/2563 จะขยายตัวเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ซึ่งล่าสุด สศช. ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2563 ลงมาอยู่อยู่ที่ร้อยละ 1.5 - 2.5 โดยมีค่ากลางที่ร้อยละ 2.0 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.7 - 3.7 โดยมีค่ากลางร้อยละ 3.2 ซึ่งตัวเลขจะออกมาแบบใดนั้นเป็นเรื่องที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะปฎิเสธไม่ได้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่ติดลบ หรืออัตราขยายตัวนั้นมีผลกระทบ และเกี่ยวข้องกับทุกคนโดยตรง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :