ไม่พบผลการค้นหา
บีทีเอสแถลงโต้ 'กรุงเทพธนาคม' แจงสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมเรียกร้องชำระหนี้ 2.3 หมื่นล้านบาท

วันที่ 17 ม.ค. ที่สำนักงานใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสกล่าวในการแถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ “การทำสัญญาจ้างเดินรถ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว” ว่า ข้อมูลที่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) เผยแพร่ต่อสาธารณชนว่าสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และช่วงตากสิน-บางหว้า และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงห้าแยกลาดพร้าว-คูคต ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และยังพาดพิงถึงบริษัทฯ ว่าใช้สิทธิ์โดยไม่สุจริต เพราะทราบดีว่า เคทีไม่สามารถจ้างเดินรถได้ด้วยตนเอง แต่ก็ยังสมัครใจทำสัญญากับเคที และมาฟ้องเคทีเป็นคดี ซึ่งการเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ ทำให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหาย อาจทำให้สาธาณชนเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ และกระทบกับภาพลักษณ์ของบีทีเอสด้วย

สุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ดังนั้นเพื่อเป็นการปกป้องชื่อเสียงของบริษัทฯ จึงมีความจำเป็นต้องอธิบายให้สาธารณชนรับทราบถึงความถูกต้องในการดำเนินการของบริษัทฯ เกี่ยวกับการรับจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย โดยขอชี้แจงว่าบริษัทฯ เป็นบริษัทเอกชนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ไม่มีสิทธิหรือไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ ในกระบวนการอนุมัติ และการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบหรือข้อบัญญัติของภาครัฐ และเชื่อมั่นมาโดยตลอดว่ากรุงเทพมหานคร(กทม.) และเคที เป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องมีที่ปรึกษาทางกฎหมาย มีคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานอัยการเป็นผู้ให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมาย จึงเชื่อมั่นว่าจะมีการดำเนินการสัญญาระหว่างรัฐ และเอกชนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้บริษัทฯ จะเข้าไปเกี่ยวข้องเมื่อให้บริษัทเข้าไปยื่นข้อเสนอ และเจรจาทำสัญญาเท่านั้น

สุรพงษ์ กล่าวอีกว่า บริษัทฯ เชื่อมั่นมาตลอดว่าทุกอย่างทำถูกต้องตามกฎหมาย โดยได้เริ่มเดินรถตัังแต่ปี 55 ซึ่ง กทม. และเคที ได้นำรายได้มาจ่ายเป็นค่าจ้างให้บีทีเอสตลอด หากรายได้ไม่พอ ทาง กทม. ก็อุดหนุนเงินให้จนกระทั่งปี 62 มีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเจรจากับบริษัทฯ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินค่าจ้างเดินรถ แต่ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ และยังไม่มีการทำสัญญาใดๆ ว่าบริษัทจะรับภาระหนี้ แต่ปรากฎว่ากทม. เริ่มไม่ชำระหนี้ส่วนต่อขยายที่ 1 ตั้งแต่เดือน พ.ค.62 จนปัจจุบันเกือบ 4 ปีแล้วที่ กทม. ไม่ชำระหนี้ สำหรับส่วนต่อขยายที่ 2 ไม่ได้ชำระหนี้ตั้งแต่เปิดเดินรถเมื่อปี 60 ซึ่งหนี้ค่าจ้างเดินรถในขณะนี้รวมแล้วก็เพิ่มต่อเนื่องเฉลี่ยเดือนละ 500 – 600 ล้านบาท

สุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า ขอตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าเคทีคิดว่าสัญญาไม่ถูกต้อง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำไมที่ผ่านมาถึงมีการจ่ายเงินค่าจ้างได้ และหลังจากนี้บีทีเอสจะทำอย่างไรต่อ จะแจ้งให้เราหยุดเดินรถหรือไม่ ซึ่งวันนี้บีทีเอสยังคงทำตามนโยบายของนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ที่ให้เดินรถต่อไป เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม อยากขอความเห็นใจจาก กทม. และเคที ที่ผ่านมาเราเดินรถครบตามสัญญา จึงอยากให้ชำระหนี้ ซึ่งศาลก็ตัดสินแล้วว่าต้องชำระ อย่ามาอ้างว่าสัญญาไม่ถูกต้อง ไม่ใช่เหตุผลที่แท้จริง ทำแบบนี้จะให้ชะลอชำระหนี้ไปอีกหรือ ซึ่งมันทำให้บีทีเอสเดือดร้อน ทุกวันนี้บริษัทต้องกู้ยืมเงิน เพื่อให้การเดินรถเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

สุรพงษ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามปัจจุบันบีทีเอส ฟ้องร้องให้ กทม. และเคที ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถที่ค้างไว้ 2 คดี โดยคดีที่ 1 ได้ฟ้องร้องให้ชำระหนี้ที่เกิดขึ้นระหว่างเดือน พ.ค.62 จนถึงวันที่ 1 ก.ค. 64 เป็นเงินประมาณ 12,000 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลปกครองได้พิพากษาคดีนี้ ให้ กทม. และเคที ร่วมกันรับผิดชอบชำระเงิน แต่คดียังไม่สิ้นสุดมีการอุทธรณ์ และขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาจากศาลปกครองสูงสุด

ส่วนคดีที่ 2 เป็นการฟ้องร้องเพิ่มเติมกรณีเดียวกัน เมื่อวันที่ 22 พ.ย.65 โดยเป็นมูลหนี้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.64 ถึงวันที่ 20 พ.ย.65 จำนวนเงินประมาณ 11,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ศาลฯ ให้ กทม. และเคทีทำข้อมูลชี้แจงข้อเท็จจริง ส่งผลให้ปัจจุบันบีทีเอส ฟ้องร้องให้ กทม. และเคที ชำระหนี้สินค่าจ้างเดินรถรวม 23,000 ล้านบาท ซึ่งยอดหนี้ดังกล่าวยังไม่รวมกับค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าส่วนต่อขยายที่บริษัทฯต้องเรียกเก็บอีกประมาณ 2 หมื่นล้านบาท รวมแล้วมีหนี้ที่บริษัทต้องแบกรับอยู่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท


'กรุงเทพธนาคม' ยื่น 5 ข้อแจงศาล

เมื่อวันที่ 16 ม.ค.66 มีรายงานข่าวจากบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) แจ้งว่า จากการประชุมบอร์ดบริษัทกรุงเทพธนาคม มี ธงทอง จันทรางศุ เป็นประธานในการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติให้ทนายความตัวแทนของบริษัทเข้ายื่นคำให้การต่อศาลปกครองในคดีที่ 2 ซึ่ง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ BTSC ยื่นฟ้อง กทม. และบริษัท เพื่อให้ชำระหนี้ค่าเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายเป็นจำนวนเงินอีก 10,600 ล้านบาท โดยศาลปกครองจะส่งสำเนาคำให้การของบริษัทเคทีไปให้บีทีเอสซีเร็วๆนี้ ตามขั้นตอนแสวงหาข้อเท็จจริงเหตุผลหักล้างกันต่อไป

สำหรับการยื่นคำให้การครั้งนี้มีประเด็นสำคัญที่บริษัทเคทีได้ชี้แจงให้ศาลเห็นถึงข้อเท็จจริงในการจัดทำสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ดังนี้

1.สัญญาระหว่างบริษัทเคทีกับบีทีเอสซีนั้น นำมาสู่ข้อพิพาทระหว่างบริษัทเอกชนด้วยกัน ไม่ได้มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง จึงไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง

2.บริษัทเคทีไม่มีอำนาจเข้าทำสัญญาว่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง เพราะตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ลงวันที่ 25 ม.ค.2515 ข้อ 4 ระบุให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการรถราง โดย รมว.มหาดไทยเท่านั้น เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้บุคคลใดประกอบกิจการได้ ทั้งนี้บริษัทเคทีก็ไม่เคยได้รับการอนุญาตจาก รมว.มหาดไทย

3.สัญญาจ้างที่บริษัทเคทีกระทำกับบีทีเอสซีเป็นสัญญาที่ไม่ชอบ เพราะจงใจจัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์แห่งสัญญาที่ฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรี ขัดต่อกฎหมายหลายฉบับ อาทิ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการพัสดุฯ เรื่องการงบประมาณ ตลอดจน พ.ร.บ.ร่วมทุน ซึ่งตามหลักกฎหมายนั้น ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน กล่าวคือบริษัทเคทีไม่มีอำนาจนำเอางานที่รับจ้างจาก กทม.ไปทำสัญญาจ้างกับบุคคลอื่นตามอำเภอใจได้

4.การที่บริษัทเคทีไปทำสัญญาว่าจ้างบีทีเอสซีให้เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวโดยตรงโดยไม่ได้เปิดโอกาสให้เอกชนรายอื่นที่อาจเสนอตัวเข้าร่วมโครงการ ย่อมส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะและขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนอีกด้วย สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่ไม่ชอบ

5.การฟ้องคดีของบีทีเอสซีในคดีนี้ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เพราะบีทีเอสซีทราบดีอยู่แล้วว่าบริษัทเคทีไม่สามารถดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ได้ด้วยตนเอง แต่บีทีเอสซี ยังสมัครใจเข้าทำสัญญากับบริษัทเคที แล้วกลับมาฟ้องคดี ถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

ด้าน ประแสง มงคลศิริ กรรมการผู้อำนวยการบริษัทเคที เปิดเผยว่า คำให้การในคดีที่ 2 นี้ มีความสมบูรณ์กว่าในคดีแรก ซึ่งศาลได้ปิดสำนวนไปในช่วงที่ผู้บริหารบริษัทเคทีชุดนี้เข้ามาทำหน้าที่เร่งหาข้อเท็จจริงเพียง 2 เดือน ส่วนผลคดีจะเป็นอย่างไรนั้น อยู่ที่อำนาจของศาลจะตัดสิน