พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า มติคณะรัฐมนตรีสัญจร จ.เพชรบูรณ์ ที่เกี่ยวกับการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน กลุ่มที่ 1 และ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง กลุ่มที่ 1 เห็นชอบในหลักการโดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเส้นทางคมนาคมและโลจิสติกส์ในยุทธศาสตร์การเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจภูมิภาคชายแดน โดยทางบกจะพัฒนาทางหลวงหมายเลข 12 รวมระยะทาง 777 กิโลเมตร ทางหลวงหมายเลข 21 และทางหลวงหมายเลข 201 สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 และสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 ทางราง จะมีโครงการสร้างรถไฟทางคู่ ปากน้ำโพ-เด่นชัย และขอนแก่น-หนองคาย เชื่อมกับรถไฟความเร็วสูง โคราช - หนองคาย และจะศึกษาเส้นทางรถไฟสายใหม่ นครสวรรค์-ตาก เพิ่มเติมด้วย
ทางอากาศจะพัฒนาท่าอากาศยานแม่สอด เลย อุดรธานี เพชรบูรณ์ โดยเบื้องต้นจะช่วยให้รองรับนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น และจะเพิ่มขนาดรันเวย์ให้ยาวและกว้างรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ได้มากยิ่งขึ้น
ส่วนยุทธศาสตร์การเชื่อมคมนาคมขนส่ง ส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยว จะสร้างถนนเลียบแม่น้ำโขง จากเดิม 5 จังหวัด (เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร) เพิ่มเป็น 7 จังหวัด(อำนาจเจริญ อุบลราชธานี) โดยพัฒนาปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 221 ให้แล้วเสร็จตามระยะทางราว 70 กม.ภายในปี 2566 และปรับปรุงทางขึ้นภูทับเบิก ระยะทาง 21 กม. งบประมาณ 1.14 แสนล้าบาท รวมถึงขยายถนน 7 เส้นทาง เป็น 4 ช่องทางจราจร
ส่วนในด้านการเกษตร ได้เห็นชอบให้ต่อยอดนวัตกรรมไม้ผลหลังเก็บเกี่ยว รวมถึงพืชผักผลไม้ และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และเครื่องสำอางจาก ผลไม้ และเครื่องมือแปรรูป โดยมอบหมายให้ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรับผิดชอบด้านการแปรรูป และกระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบด้านการจัดจำหน่าย ทั้งนี้ การขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในที่ประชุมว่า อย่าคาดหวังสูง เพราะบางพื้นที่ไม่สามารถทำเกษตรอินทรีย์ได้ จึงให้เริ่มจากรูปแบบ GAP ไปก่อน คือ ผลผลิตคุณภาพ ได้มาตรฐาน ปลอดภัย ไร้สารพิษ
ยังไม่ถกข้อเสนอสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง
ด้านการท่องเที่ยว เห็นชอบให้พัฒนาอุทยานธรณีวิทยาเพชรบูรณ์ หรือ เพชรบูรณ์จีโอปาร์ค โดยจะผลักดันให้เป็นอุทยานธรณีวิทยาระดับประเทศก่อน จึงจะผลักดันให้เป็นอุทยานธรณีวิทยาระดับโลกตามที่เสนอมา ส่วนด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต
ด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่ประชุมเห็นชอบเร่งรัดดำเนินการก่อสร้างอาคารผ่าตัดรักษา โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ และอาคารผู้ป่วยนอก ศูนย์อุบัติเหตุฉุกเฉินโรงพยาบาลหล่มสัก โดยปรับแผนมาดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และเห็นชอบให้เร่งรัดการพัฒนาคุณภาพและศักยภาพการบริการสุขภาพโรงพยาบาลในจังหวัดเลย (โรงพยาบาลเลย, โรงพยาบาลวังสะพุง) เพื่อยกระดับระบบสาธารณสุขด้านการให้บริการผ่าตัด และลดความแออัดในโรงพยาบาล
ซึ่งคณะรัฐมนตรี ตอบรับข้อเสนอเกือบทุกเรื่อง ส่วนเรื่องที่ไม่รับนั้นจะนำไปพิจารณาต่อไป ส่วนประเด็นสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง ไม่ได้มีการหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เนื่องจากต้องผ่านกระบวนการพิจารณาความเหมาะสมจากหลายหน่วยงานก่อน
ครม. เคาะร่าง พ.ร.บ.ส่างเสริมพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน
ขณะเดียวกัน พล.ท.สรรเสริญ ยังระบุว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ยังเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ส่งเสริมการทำเกษตรครบวงจร ตั้งแต่การผลิต เพาะปลูก แปรรูป จัดจำหน่ายที่ต้องรักษาระบบนิเวศน์สิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการแข่งขันทางการตลาด เพื่อให้เกษตรกรเข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยมีคณะกรรมการที่มี รมว.เกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน กำหนดหลักเกณฑ์ให้มีสมัชชาเกษตรกรยั่งยืน เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน และกำหนดวิธีการ ที่ดำเนินการภายใต้การสนับสนุนจากภาครัฐ โดยกำหนดพื้นที่เกษตรยั่งยืน ร้อยละ 3 หรือประมาณ ไม่เกิน 5 ล้านไร่ภายใน 5 ปี
หนุนเกษตรกรปลูกไม้มีค่า 2 หมื่นแห่งทั่วประเทศ
ด้าน นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังได้อนุมัติในหลักการให้จัดทำโครงการชุมชนไม้มีค่า สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกไม้มีค่า ใช้เป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกัน หรือ เป็นทรัพย์สินส่วนตัว ที่สามารถปลูกและตัดขายได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากการใช้ต้นไม้ 58 ชนิด เป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน และอนุญาตให้ปลูกและตัดต้นไม้มีค่าได้ ซึ่งรัฐบาล มีเป้าหมายให้มีชุมชนไม้มีค่าให้ได้ 20,000 แห่งทั่วประเทศ ภายในระยะเวลา 10 ปี สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท จากจํานวนไม้มีค่า 1,010 ล้านต้น บนที่ดิน 26 ล้านไร่ ซึ่งจะมีการทำทะเบียนชุมชน ในขยายผลสร้างเป็นเครือข่าย มีการลงทะเบียน การคัดเลือกพันธุ์ การส่งเสริมการปลูกโรงเพาะชำ การหาวิธีประเมินมูลค่า และส่งเสริมการแปรรูป เชื่อว่า จะทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น ด้วยการมีหลักประกันระยะยาว สามารถใช้เป็นเงินออม หรือ เป็นธนาคารต้นไม้ของประชาชนเอง และยังสามารถลดปัญหาก๊าซเรือนกระจก
สำหรับการจัดหา กล้าไม้ ทางกรมป่าไม้ จะเป็นผู้ดูแลจัดหาให้กับประชาชน และชุมชนให้ได้ตามความต้องการที่มี สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. จะช่วยวิจัยเพิ่มเติมเพื่อให้ได้พันธุ์ไม้ที่ดีที่สุด ไปจนถึงวิธีการเพาะปลูก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จะสนับสนุนทุนทำโรงเพาะชำ และสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ จะดูแลการพัฒนาอาชีพ การใช้ประโยชน์จากต้นไม้ทุกชิ้นส่วน เป็นต้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง