ไม่พบผลการค้นหา
สมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของ 11 สภาวิชาชีพ เช่น แพทยสภา, สัตวแพทยสภา, สภาวิศวกร และสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมคัดค้านการยกร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม เพราะไม่เปิดโอกาสให้สมาพันธ์สภาวิชาชีพฯ เข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ส่งผลให้การออกกฎหมายบางมาตรา อาจส่งผลกระทบต่อชีวิต และสวัสดิภาพของประชาชนไทย

นายทัศไนย ไชยแขวง อุปนายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะประธานสมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย นำคณะเข้าพบนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อชี้แจงเหตุผลในการคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะ มาตรา 64, 65 และ 66 ในร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษาฯ ห้ามมิให้สภาวิชาชีพมีอำนาจในการรับรองหรือกำหนดจัดการเรียนการสอนในสถาบันอุดมศึกษา รวมทั้งมิให้ออกข้อบังคับหรือหลักเกณฑ์เพื่อจัดระเบียบการประกอบวิชาชีพ แต่ทำได้เพียงการจัดประเมินความรู้และทักษะให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษา หรือการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ ซึ่งทั้ง 3 มาตรานี้ จำกัดบทบาทและหน้าที่ของสภาวิชาชีพ

ทั้งนี้ ยืนยันว่าที่ผ่านมาไม่ได้เลือกปฏิบัติหรือก้าวก่ายการจัดการเรียนการสอนในสถาบันอุดมศึกษา แต่ดำเนินงานในลักษณะการส่งเสริมสนับสนุนและกำกับให้การเรียนการสอนเป็นไปตามมาตฐานสากล เพื่อให้นิสิตนักศึกษา มีความรู้และทักษะจนสามารถสอบผ่านการรับรองใบประกอบวิชาชีพได้ โดยได้รับความร่วมเป็นอย่างดีจากผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่ง เนื่องจากเป็นหนึ่งในแนวทางการประกันคุณภาพการศึกษา ซึ่งสภาวิชาชีพ ดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 54 วรรค 3 แห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย 2560 


IMG_20180906_121248.jpg

สำหรับสิ่งที่กังวลมากที่สุดคือ อาจมีนิสิตนักศึกษาตกงาน หรือไม่มีคุณภาพมากขึ้น เพราะสภาวิชาชีพไม่ได้กำกับดูการเรียนการสอนตั้งแต่ต้นน้ำ เป็นเพียงผู้จัดสอบใบประกอบวิชาชีพ ซึ่งอยู่ปลายน้ำเท่านั้น จึงเกิดความสูญเปล่าด้านการศึกษา 

ส่วนมาตรา 48 ในร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษาฯ ระบุว่า "สถาบันอุดมศึกษา มีหน้าที่ในการให้บริการทางวิชาการและวิชาชีพ และให้คำปรึกษาทางวิชาการและวิชาชีพแก่สังคมภายนอกสถาบันอุดมศึกษา โดยนำความรู้จากการจัดการศึกษา การฝึกอบรมทางวิชาการ การผลิตวิจัยและการสร้างนวัตกรรม การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มาดำเนินการดังกล่าว เพื่อพัฒนาสังคมในด้านการวิชาการหรือการพัฒนาความรู้ตลอดจนความเข้มแข็งของประเทศชาติและนานาชาติ" 

มาตรานี้ยังมีความคลุมเครือ อาจนำไปสู่การประกอบธุรกิจของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งขัดต่อกฎหมายสภาวิชาชีพ จนอาจทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เช่น ในปี 2559 สถาบันการศึกษา 2 แห่ง ไปเป็นคู่สัญญากับ กทม. รับจ้างสำรวจและออกแบบโครงการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยา ในวงเงินค่าจ้าง 120 ล้านบาท โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ จึงถือว่ากระทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ.วิศวกร พ.ศ.2542 และ พ.ร.บ.สถาปนิก พ.ศ.2543 อย่างชัดเจน ดังนั้นสมาพันธ์สภาวิชาชีพฯ จึงขอให้ตัดคำว่า 'วิชาชีพ' ออกจากมาตรานี้

นายทัศไนย เปิดเผยภายหลังการหารือว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รับฟังข้อเสนอของสภาวิชาชีพฯ และจะนำไปเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) หากร่างกฎหมายฉบับนี้กลับเข้าสู่ ครม. อีกครั้ง หลังจากผ่านการพิจารณาในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา