จากกรณีที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โพสต์ข้อความบนเว็บไซต์ของหน่วยงานเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. ชี้แจงเพิ่มเติมกรณีที่สหรัฐฯ ถอดประเทศไทยออกจากกลุ่มประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษด้านการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ (Priority Watch List) เป็นเพราะการส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้เสียในการรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ยาฉบับแก้ไข และการแก้ไข พ.ร.บ. สิทธิบัตรเพื่อให้เป็นไปตามวรรค 6 ของปฏิญญาโดฮาฯ และกำหนดระยะเวลาการประกาศโฆษณาและการยื่นเพื่อตรวจสอบขั้นตอนการประดิษฐ์
นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์การเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ข้อมูลเฉพาะด้านดีของร่าง พรบ. สิทธิบัตรฉบับแก้ไข แต่ไม่ได้พูดถึงเนื้อหาอื่นที่จะก่อความเสียหายต่อการเข้าถึงยา โดยเฉพาะในเรื่องการใช้สิทธิโดยรัฐหรือมาตรการซีแอล ซึ่งการแก้ไขเนื้อหาในส่วนนี้ถือว่าถอยหลังเข้าคลอง ในขณะที่รายงานการเข้าถึงยาโดยคณะผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูงขององค์การสหประชาชาติสนับสนุนให้ ประเทศต่างๆ นำมาตรการซีแอลมาใช้อย่างกว้างขวางและโดยสะดวกยิ่งขึ้น ถึงขนาดมีข้อแนะนำด้วยว่าให้ประเทศที่ถูกขัดขวางหรือกดดันไม่ให้นำมาตรการซีแอลมาใช้ร้องเรียนต่อองค์การการค้าโลกได้
นายเฉลิมศักดิ์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาแก้ไข พ.ร.บ. สิทธิบัตร โดยทำให้การนำมาตรการซีแอลมาใช้มีอุปสรรคและเป็นไปได้ยากมากขึ้น เช่น การลดหน่วยงานรัฐที่จะประกาศใช้ซีแอลลงเหลือแค่กระทรวง จากเดิมที่มีทบวงและกรม แทนที่จะแก้ไขให้มีหน่วยของรัฐอื่นๆ ประกาศใช้ซีแอลได้มากขึ้น และการที่ยอมให้ผู้ทรงสิทธิบัตรร้องต่อศาลให้ยกเลิกคำสั่งประกาศใช้ซีแอลได้ ซึ่งใน พ.ร.บ. ฉบับปัจจุบันไม่ได้กำหนดไว้ และเป็นข้อกฎหมายที่เข้มงวดเกินว่าข้อตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาหรือ “ทริปส์” ขององค์การการค้าโลก และขัดแย้งกับปฏิญญาสากลโดฮาว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญากับการสาธารณสุข
เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ กล่าวอีกว่า การทำให้นำมาตรการซีแอลมาใช้ได้ยากลำบากเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการมาตลอด สหรัฐฯ ลดสถานะไทยอยู่ในบัญชีดำด้านทรัพย์สินทางปัญญาทันทีและต่อเนื่องมาสิบปี เพราะไทยประกาศใช้ซีแอลในปี 2549 – 2550
“กรมฯ ควรแก้ไข พ.ร.บ. ให้ขยายระยะเวลาการคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรออกไปตามที่ภาคประชาสังคมเสนอ ไม่ใช่คงเดิมไว้เพียง 90 วันนับจากวันประกาศโฆษณา การกำหนดระยะเวลาการประกาศโฆษณาและการยื่นตรวจสอบขั้นตอนการประดิษฐ์ไม่ได้ช่วยขจัดปัญหาสิทธิบัตรยาด้อยคุณภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
นายเฉลิมศักดิ์กล่าวอีกว่า การแก้ไข พรบ. ยา นั้นในระหว่างรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอของภาคประชาสังคมที่กำหนดให้ผู้ขึ้นทะเบียนยากับ อย. ต้องแจ้งโครงสร้างราคาถูกตัดทิ้งไป ทั้งๆ ที่ประเทศไม่มีมาตรการใดๆ ตรวจสอบหรือควบคุมราคายาเลย สิ่งนี้จะเป็นปัญหาต่อการเข้าถึงยาอย่างมาก โดยเฉพาะยาราคาแพงและติดสิทธิบัตร ในระบบหลักประกันสุขภาพ ยาที่มีสิทธิบัตรหลายตัวไม่สามารถต่อรองราคาให้ลดลงได้มากพอ หรือไม่ถูกกำหนดอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ
“อย.ละเลยไม่นำข้อแนะนำในรายงานการเข้าถึงยาของคณะผู้ทรงฯ ขององค์การสหประชาชาติมาปรับใช้ ซึ่งระบุให้ผู้ขอขึ้นทะเบียนยาต้องแจ้งโครงสร้างราคายาให้กับหน่วยงานที่กำกับดูแล ส่วนกรมการค้าภายใน ก็ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ด้วยเช่นกัน โดยไม่นำ พรบ. ควบคุมราคาสินค้าและบริการมาใช้อย่างเต็มที่ แม้ว่ายาจะถูกกำหนดเป็นสินค้าที่ต้องควบคุมราคา สิ่งที่กรมฯ ทำคือให้ระบุราคายาไว้ที่บรรจุภัณฑ์เท่านั้น” นายเฉลิมศักดิ์กล่าว
นส. กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงภาคประชาชน (FTA Watch) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับนาย วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีที่ออกมาให้ข่าวเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2560 ว่าจะให้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ไขปัญหาคำขอรับสิทธิบัตรคั่งค้างจำนวนมาก และการเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปยังไม่ควรรื้อฟื้นและดำเนินการในช่วงนี้
“แค่นับตั้งแต่มีคู่มือตรวจสอบคำขอฯ สิทธิบัตรยามา 5 ปี เรายังพบว่ามีคำขอฯ ที่ด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้น ถ้าให้มีการเร่งพิจารณาฯ ตาม ม.44 จะเป็นการปล่อยผีสิทธิบัตรยา ทำให้เกิดปัญหาสิทธิบัตรด้อยคุณภาพและการผูกขาดที่ไม่เป็นธรรมเพิ่มขึ้นอีก”รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงภาคประชาชนกล่าว
นส. กรรณิการ์กล่าวเสริมว่า สหภาพยุโรปไม่ควรกระทำตัวแบบปากว่าตาขยิบและกลืนน้ำลายตัวเอง ไม่ควรฉวยโอกาสในช่วงที่ประเทศไทยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เปิดการเจรจาเอฟทีเอกับไทยอีกครั้งในขณะนี้