ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายภาคประชาชน ขวางตั้ง 'ซูเปอร์บอร์ดสุขภาพ' วอนคณะรัฐมนตรี ยกเลิก- ตีกลับร่างกฎหมายฯ เพราะมีสัดส่วนภาคประชาชนน้อยเกินไป หวั่นถูกข้าราชการครอบขำ อีกทั้งโครงสร้าง-หน้าที่ซ้ำซ้อน ชี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นล้มบัตรทอง

เครือข่ายกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ยื่นหนังสือถึง พลเอก ฉัตรชัย สาลิกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้คณะรัฐมนตรี ยกเลิกและตีกลับ ร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ หรือ 'ซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพ' 

เนื่องจาก ไม่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และศึกษาผลกระทบต่อระบบสุขภาพของประเทศอย่างรอบด้าน อีกทั้ง ยังมีอำนาจหน้าที่ซ้ำซ้อนกับโครงสร้างของหน่วยงานเดิมที่มีอยู่แล้ว คือ 'กระทรวงสาธารณสุข' ขณะที่โครงสร้างกรรมการใน 'ซูเปอร์บอร์ดสุขภาพ' มีภาคประชาชนเพียง 3 คนเท่านั้น จากจำนวนทั้งหมด 45 คน ที่เหลือเป็นข้าราชการ และวิชาชีพทางการแพทย์ จึงมีแนวโน้มว่าจะพิทักษ์ผลประโยชน์ของตนเอง มากกว่าผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม

20180508_Sek_06.jpg

สิ่งที่น่ากังวลใจมากที่สุด คือ ความพยายามเข้ามาแทรกแซง คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บอร์ด สปสช. เพื่อเปลี่ยนแปลงสิทธิประโยชน์ของบัตรทอง โดยเฉพาะการผลักดันให้ 'หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า' กลายเป็น 'ระบบอนาถา' บังคับให้ประชาชนร่วมจ่าย ณ จุดบริการ 

ทั้งนี้ หากคณะรัฐมนตรี รับพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ ก็เท่ากับว่า "รัฐบาลตั้งใจล้มบัตรทอง" จึงยื่นเรื่องร้องเรียน พร้อมกับเครือข่ายภาคประชาชน ผ่านทางศูนย์ดำรงธรรมทั่วประเทศ และหลังจากนี้จะติดตามความคืบหน้าผลการร้องเรียนเป็นระยะ

สำหรับข้อเสนอของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ มีดังนี้

1. เสนอให้ใช้โครงสร้างคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีองค์ประกอบของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในระดับชาติหลายเรื่อง มีกฎหมายรองรับ มีหน่วยงานรับผิดชอบชัดเจน รัฐไม่ต้องเสียงบประมาณเพิ่มเติม ที่สำคัญคือ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างการเป็นผู้อภิบาลระบบ (Regulator) และการเป็นผู้จัดบริการ (Provider) เพียงแต่เพิ่มอำนาจหน้าที่ให้กับกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ก็จะสามารถดำเนินการได้ทันที

2. สนับสนุนให้กระทรวงสาธารณสุข ทำหน้าที่เป็นผู้อภิบาลระบบ (Regulator) อย่างสมบูรณ์ โดยแยกหน่วยบริการทั้งหมดออกจากกระทรวงสาธารณสุข ให้มีการบริหารจัดการภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นในหลายพื้นที่ เช่น รพ.บ้านแพ้ว รพ.เทศบาลเมืองอุดรธานี และ รพ.เมืองภูเก็ต เป็นต้น

3. สนับสนุนการจัดสิทธิประโยชน์หลัก สิทธิประโยชน์เสริมตามข้อเสนอ SAFE คือ Sustainability (ความยั่งยืน) Adequacy (ความเพียงพอ) Fairness (ความเป็นธรรม) และ Efficiency (ความมีประสิทธิภาพ) 

4. เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ แต่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอการกระจายอำนาจโดยการตั้งเขตสุขภาพขึ้นมาใหม่ โดยมีผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน เนื่องจากปัจจุบันมีการกระจายอำนาจ มีโครงสร้างในระดับเขต คือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สาขาเขต รวม 13 แห่งทั่วประเทศ บริหารภายใต้อนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขต ซึ่งมีองค์ประกอบจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้แทนโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชน มีอำนาจหน้าที่ชัดเจนตามที่กฎหมายกำหนด และมีโครงสร้างของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สาขาเขตเป็นหน่วยงานรองรับด้านธุรการ

อ่านเพิ่มเติม