ไม่พบผลการค้นหา
เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ จี้ คสช. เร่งแก้ปัญหาการเลือกตั้งที่เกิดจากคำสั่ง คสช. พร้อมเตรียมการเลือกตั้งให้เป็นธรรมก่อนถึงเวลาตามโรดแมป
On the Phone องอาจ คล้ามไพบูลย์ : ประชุมพรรค ไม่ใช่ชุมนุมทางการเมือง

'องอาจ' จี้ คสช. เป็นต้นเหตุปัญหาการเลือกตั้ง ต้องรีบรับผิดชอบให้เป็นไปตามโรดแมป

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นตอนนี้มีจุดกำเนิดมาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งสิ้น ถ้า คสช. ตัดสินใจแก้ปัญหาถูกวิธีมีโอกาสที่ทุกอย่างจะเดินหน้าไปตามโรดแมป แต่ถ้า คสช. แก้ปัญหาไม่ถูกวิธีมีโอกาสที่ปัญหาจะบานปลายออกไป กลายเป็นวัวพันหลัก จนยากต่อการแก้ไข และอาจสร้างปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นมาอีก

โดยก่อนหน้านี้ คสช. เป็นผู้แต่งตั้งแม่น้ำ 5 สาย ทั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มา ร่างกฎหมายแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มาออกกฎหมาย ขณะเดียวกัน คสช. ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. หลายฉบับที่กลายเป็นเงื่อนไขให้ต้องมาหาทางออกแก้ปัญหาการจัดการเลือกตั้งกันอยู่ทุกวันนี้ การหาทางออกแก้ปัญหาการจัดการเลือกตั้ง เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมป เพื่อให้มีการเลือกตั้งภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จึงเป็นความรับผิดชอบของ คสช. โดยตรง การที่รัฐบาล และ คสช.เชิญพรรคการเมืองต่างๆ เข้าร่วมประชุมนั้น ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีอะไรขัดข้องและพร้อมให้ความร่วมมือ



นิพิฏฐ์ โวยสังคมเผด็จการห้ามนักการเมืองคุยกัน

‘นิพิฏฐ์’ แนะหาวิธีให้พรรคการเมืองทำไพรมารีโหวตได้

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐบาลตั้งใจจะปลดหลายระยะๆ โดยใช้คำว่า คลายล็อก ที่เป็นเหตุทำให้สถานการณ์คลาดเคลื่อนไปใน 2 เรื่อง คือ 1. คลายล็อกช้าไป และ 2. ไม่ปลดล็อกทั้งหมด แต่ถึงอย่างไรก็ควรที่จะหาวิธีทำให้พรรคการเมืองสามารถประชุมได้ เพราะหากไม่มีการแบ่งเขตเลือกตั้งก็ไม่สามารถทำไพรมารีโหวตได้

ส่วนเรื่องการทำไพรมารีโหวต นายนิพิฏฐ์ ยืนยันว่าพรรคใหญ่พร้อมอยู่แล้ว แต่อาจจะมี 3-4 พรรคใหญ่เท่านั้นที่ทำได้ แต่พวกเล็กต่างหากที่จะมีปัญหา โดยเฉพาะพรรคที่สนับสนุน คสช. ซึ่งก็อยู่ที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร

นอกจากนี้ เรื่องแผนยุทธศาสตร์ชาติ ที่หลายฝ่ายมีความกังวลว่าจะปัญหาของรัฐบาลใหม่ แม้ผู้ร่างจะบอกว่าสามารถแก้ไขได้ใน 5 ปี หากเกิดสถานการณ์ใดขึ้นมาก็ตาม แต่ความยากอยู่ตรงที่เป็นกฎหมาย พอมีกฎหมายออกมา เวลาแก้ต้องผ่าน 2 สภา ซึ่งสภาผู้แทนราษฎร และผ่านวุฒิสภา แต่วุฒิสภาที่มามาจากการเลือกตั้งของ คสช. และยุทธศาสตร์ชาติก็เป็นผลผลิตของ คสช. อาจจะไม่ยอมให้แก้ไข



อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด1.jpg

'อนุสรณ์' เตือน คสช. อย่ายื้อเวลาเพื่อประโยชน์ทางการเมือง แนะให้ประชาชนตัดสินใจ

ด้านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย เห็นว่า ขณะนี้ประชาชนยังต้องพิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาล คสช. ที่จะนำพาประเทศกลับเข้าสู่การเลือกตั้ง เพราะการที่ไม่ยอมปลดล็อกทางการเมืองและพยายามสร้างเงื่อนไขใหม่ที่จะทำให้พรรคการเมืองขยับไม่ได้นั้นเป็นการทำเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตัวเองหรือไม่ ประชาชนเริ่มจับทางออกว่าจะผลการหารือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดเลือกตั้งเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา หรือผลการพูดคุยกับพรรคการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนมิถุนายน สุดท้ายก็จะมีเส้นทางเดียวกันคือเสนอ ประเด็นปัญหาให้นายกรัฐมนตรีและ คสช.พิจารณา

ความพยายามที่จะหาทางออกในคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่สุดแล้วหากจะมีการแก้ไขก็จะเป็นการแก้ไขหรือผ่อนปรนเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองที่จะมาสนับสนุนตนเองเท่านั้นหรือไม่ ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของพี่น้องประชาชนรอไม่ได้ ถ้ารัฐบาล คสช. มั่นใจว่ามีผลงาน ควรปล่อยให้ประชาชนตัดสินที่คูหาเลือกตั้ง ช่วงเวลาที่เหลือควรจะเป็นช่วงเวลาของการสร้างความชัดเจนที่จะนำประเทศไปสู่การเลือกตั้ง



นพดล-ปัทมะ.jpg

'นพดล' เสนอ 5 ทางออก สร้างเป้าหมายประเทศภายใน 8 เดือนก่อนเลือกตั้ง

ขณะที่ นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ย้ำว่า เมื่อปักหมุดการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ซึ่งเหลือเวลา 8 เดือน ประเทศควรต้องมีเป้าหมายร่วมกันและช่วยกันคิดว่าแต่ละฝ่ายต้องทำอะไรบ้างเพื่อเดินไปถึงจุดนั้น เราต้องเอาประเทศเป็นตัวตั้ง ต้องสร้างความชัดเจนและแน่นอนให้เป็นฉันทามติร่วมกัน ผู้มีอำนาจต้องป้องกันไม่ให้ 8 เดือนก่อนเลือกตั้งเป็น 8 เดือนที่คลุมเครือ ซึ่งอาจทำให้ประเทศและคนไทยเสียโอกาส

จึงขอเสนอ 5 ทางออก คือ 1. เร่งทำให้บ้านเมืองมีความเป็นปกติเพื่อให้มีความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งต้นปีหน้า 2. ปลดล็อคให้พรรคการเมืองสามารถทำหน้าที่ของตนได้ เช่น ทำนโยบาย ประชุมพรรค ทำไพรมารี่ 3. ยกเลิกคำสั่งที่ 3/2558 ให้คนมีเสรีภาพชุมนุมทางการเมืองได้ เนื่องจากมาตรการนี้ใช้บังคับนานเกินไปแล้วและ คสช. พูดเองว่าประเทศมีความสงบแล้ว 4. ยกเลิกคำสั่งที่ 53/2560 เพื่อให้พรรคการเมืองทำหน้าที่และดำเนินการต่างๆตามกฎหมายพรรคการเมืองได้ 5. สร้างฉันทามติว่าการเลือกตั้งต้นปีหน้าจะต้องเสรี เป็นธรรม มีความน่าเชื่อถือ ต้องไม่มีการเอาเปรียบทางการเมือง และสร้างความเสียเปรียบให้ฝ่ายใด นอกจากนั้นควรมีการประกาศว่าจะไม่ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ที่จะกระทบการเลือกตั้ง

“เราต้องเอาประเทศและคนไทยเป็นตัวตั้ง ผู้มีอำนาจควรเร่งสร้างความชัดเจนของขั้นตอนให้เร็วเพื่อให้ประเทศเดินหน้าได้เร็วกว่านี้ ทีแผนยุทธศาสตร์ชาติอุตส่าห์กำหนดให้คนทำตาม 20 ปี แต่ 8 เดือนก่อนเลือกตั้งทำไมไม่รีบทำให้ชัดเจน”



วิษณุ.jpg

'วิษณุ' เตรียมเสนอนายกฯ แก้ปัญหาการเลือกตั้ง หลังหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สำหรับการหารือเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ที่ผ่านมาระหว่าง นายวิษณุ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ได้แก่ ตัวแทน คสช. , สนช. , กรธ. , สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, และ กกต. เกี่ยวกับ 4 อุปสรรคในการเลือกตั้งตามโรดแมป ได้แก่ 1. จะทำอย่างไรเกี่ยวกับการการประชุมใหญ่ของพรรคอะไรที่ทำได้หรือไม่ได้ 2. คำว่าหัวหน้าสาขาพรรคที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับขั้นตอนการประชุมใหญ่ การทำไพรมารี่โหวต การคัดเลือกรับสมัครผู้รับเลือกตั้งที่มีหัวหน้าสาขาพรรคอยู่ จะทำอย่างไรในขณะที่ยังไม่สามารถจัดตั้งสาขาพรรคได้ 3. การแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่จะต้องมีการเปิดรับฟังความเห็นจากพรรคการเมืองและประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะกลายเป็นการทำกิจกรรมทางการเมือง จะยอมให้ทำได้ขนาดไหน 4. การบริหารจัดการ กำหนดเวลาต่างๆ ที่อาจจะมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น อาจไปผูกกับการประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับ ผูกการเลือกตั้งท้องถิ่น ผูกกับ กกต. ชุดใหม่

โดยข้อเสนอ 3 ทางเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว คือ ใช้พระราชกำหนด, พระราชบญญัติ, และมาตรา 44 เพื่อคลายปัญหาที่ติดขัด เป็นการคลายล็อก แต่ไม่ใช่ปลดล็อก เพราะหากปลดล็อกไปทั้งหมดก็จะสะดุดบางอย่าง อย่างไรก็ตาม หากจะใช้ พ.ร.ก. เพื่อหาทางออกเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งโดยเฉพาะนั้น ไม่สามารถทำได้ แต่หากมีสถานการณ์ฉุกเฉินหรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง สามารถออกเป็น พ.ร.ก. โดยพ่วงเรื่องการแบ่งเขตการเลือกตั้งเข้าไปได้ ซึ่งข้อเสนอทั้งหมดนี้นายวิษณุ เครืองาม จะนำเสนอนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ต่อไป