ไม่พบผลการค้นหา
พรรคประชาธิปัตย์ ปลุกสมาชิกยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคภายใน 1 เม.ย.นี้ วอน คสช.คลายล็อกพรรคการเมือง สมัครสมาชิกใหม่-รับเงินบริจาค-จัดประชุม เดินหน้าสู่การเลือกตั้ง เผย 'อภิสิทธิ์' เตรียมนำทีม ประชุมร่วมกกต. 28 มี.ค.นี้

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุถึงความพร้อมในการให้สมาชิกพรรคยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคต่อหัวหน้าพรรคการเมือง และชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองตามคำสั่ง หัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ถึง 30 เม.ย.นี้ หากไม่มีการยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคจะหมดสภาพความเป็นสมาชิกภาพว่า พรรคประชาธิปัตย์ขอเชิญชวนสมาชิกพรรคมาแสดงตนเพื่อยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคได้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ที่ทำการสำนักงานใหญ่ของพรรคหรือสาขาพรรคทั่วประเทศ หรือสำนักงานส.ส. โดยจะมีการประกาศผ่านเว็บไซต์ของพรรค

ทั้งนี้ สมาชิกพรรคต้องมีหนังสือยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคต่อหัวหน้าพรรคว่ามีคุณสมบัติถูกต้อง ไม่มีลักษณะต้องห้าม และนำบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านพร้อมลายเซ็นต์รับรองมายืนยัน พร้อมกับชำระค่าบำรุงพรรคแบบตลอดชีพ 2,000 บาท ส่วนรายปีปีละ 100 บาท แต่สิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาคือ กกต.กำหนดให้นำสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านมายืนยันความเป็นสมาชิกพรรค ซึ่ง อยากให้กกต.ทบทวนเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน เพราะสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์จำนวน 2.5 ล้านคน ได้สมัครโดยใช้สำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนอยู่แล้ว การให้เอาเอกสารทั้งสองอย่างมาแสดงอีกจะก่อให้เกิดความซ้ำซ้อน สิ้นเปลืองเอกสารและเป็นภาระกับประชาชน 

องอาจ คล้ามไพบูลย์

ส่วนการสมัครเป็นสมาชิกใหม่นั้นในขณะนี้คนไทยยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจาก คสช.ยังไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง จึงอยากให้คสช.พิจารณาปลดล็อกพรรคการเมืองเพื่อให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมได้ แต่ถ้า คสช. ยังกังวลเรื่องความมั่นคงก็อาจพิจารณาคลายล็อกให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมได้บางอย่างเช่น การรับสมาชิกใหม่และการให้รับเงินบริจาคได้ รวมทั้งจัดประชุมได้ ซึ่งจะเป็นการเตรียมการเข้าสู่การเลือกตั้ง สร้างความมั่นใจให้ทุกฝ่ายว่าประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง โดยในขณะนี้มีบุคคลรุ่นใหม่ที่พร้อมจะสมัครเป็นสมาชิกพรรค แต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้เพราะยังไม่มีการปลดล็อกพรรคการเมือง ทั้งนี้ในวันที่ 28 มี.ค.นี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคจะนำทีมไปประชุมพรรคการเมืองเก่า ตามที่ กกต.เชิญ โดยหวังว่าจะเป็นเวทีที่จะได้ข้อสรุปว่าพรรคการเมืองสามารถดำเนินการตามกฎหมายพรรคการเมืองและคำสั่งคสช.อย่างไร เพราะอาจมีการตีความที่ไม่ตรงกัน

'อภิสิทธิ์' ทวง กกต.ยันสมาชิกพรรคทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุกรณี กกต. เตรียมจัดประชุมพรรคการเมืองเดิมเพื่อชี้แจงแนวทางการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง วา สิ่งที่พรรคการเมืองต้องการทราบมากที่สุดขณะนี้ก็คือความชัดเจนเพื่อที่จะสามารถปฏิบัติได้ตามกฎหมาย ซึ่งหากในวันดังกล่าว กกต. สามารถตอบคำถามโดยอธิบายในสิ่งที่พรรคการเมืองต้องการได้อย่างชัดเจนในทุกเรื่องก็จะเป็นการใช้เวลาอย่างคุ้มค่ามากที่สุด เรื่องสำคัญที่ทุกพรรคการเมืองยังต้องการความชัดเจนก็คือในวันที่ 30 เม.ย. นี้ เรื่องใดที่ทำได้และทำไม่ได้ และหากพรรคได้ดำเนินการมาแล้ว กกต. จะให้การรับรองหรือไม่ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญ รวมถึงการยืนยันสมาชิกพรรคว่าสามารถใช้รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้หรือไม่ 

ส่วนการเตรียมความพร้อมในการยืนยันสมาชิ��พรรคของพรรคการเมืองเดิมนั้น ทางพรรคการเมืองก็พร้อมที่จะทำเต็มที่ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับความชัดเจนจาก คสช. และ กกต. แม้จะสอบถามไปแต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบกลับมา ในกรณีสามารถใช้เครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยได้มากน้อยแค่ไหน รวมถึงเรื่องการแสดงหลักฐาน เช่น หากพรรคการเมืองส่งหนังสือทางไปรษณีย์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับสมาชิก โดยมีการสอดซองเปล่าติดแสตมป์เพื่อให้สมาชิกพรรคส่งกลับมา ก็จะถือว่าเป็นเรื่องการจูงใจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจาก กกต. 

'องอาจ' ซัด คสช.เลื่อนเลือกตั้งสับสนกว่าปลด 'สมชัย'

ส่วนการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของหัวหน้า คสช. กับองค์กรอิสระ โดยเฉพาะกรณีการให้นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ยุติการปฏิบัติหน้าที่ กกต.นั้น นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ระบุว่า จะส่งผลกระทบต่อการทำงานขององค์กรอิสระตามมาด้วย แม้รัฐธรรมนูญจะเปิดโอกาสให้ หัวหน้า คสช. สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 44 ได้ แต่ควรใช้ด้วยความรอบคอบ และระมัดระวังเป็นพิเศษ ทั้งนี้ การที่ คสช.ให้เหตุผลว่านายสมชัย ให้สัมภาษณ์ไม่เหมาะสมทำให้สังคมสับสน ตรงกันข้ามพฤติกรรมของ คสช. และแม่น้ำ 5 สาย ที่เลื่อนการเลือกตั้งออกไปเรื่อยๆ สร้างความสับสนให้กับการเลือกตั้ง

อีกทั้ง การใช้อำนาจตามมาตรา 44 จะส่งผลต่อการทำหน้าที่ของกรรมการให้องค์กรอิสระอื่นๆ รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญ จะไม่อิสระอย่างแท้จริง ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในสังคม นายกรัฐมนตรีและแม่น้ำ 5 สายเองควรประกาศช่วงเวลาการให้ชัดเจน แสดงความจริงใจต่อสังคม ไม่เปลี่ยนแปลงไปมา เพราะตอนนี้รัฐธรรมนูญก็บังคับใช้แล้ว และกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งก็อยู่ในกระบวนการ ดังนั้นเมื่อทุกอย่างเรียบร้อย ประเทศชาติก็จะเดินหน้าต่อไปได้ การใช้ มาตรา 44 ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระจึงควรจะระมัดระวังและรอบคอบเป็นพิเศษ