ใครมีงานไว้ก็กอดงานให้แน่นเถอะ! ฉันได้ยินเพื่อนคนหนึ่งในวงเหล้าพูดขึ้นมาเมื่อปีที่แล้ว ตอนนี้เพื่อนคนนั้นได้กลายเป็น "ฟรีแลนซ์" ไปละ ฟรีที่ว่านี้คือฟรีจริงๆ ถ้าหากคำว่า "ฟรี" หมายถึง "ปราศจาก" เพราะตอนนี้เพื่อนปราศจากทั้งงานทั้งเงิน กำลังหางานอยู่ หรือที่เรียกตามภาษาทางการว่า "ผู้ว่างงาน" ส่วนภาษาชาวบ้านเรียกว่า "ตกงาน" นั่นเอง
มันน่าโมโห เมื่อมีข่าวค่ายรถเตรียมม้วนเสื่อโบกมือลาแล้วไทยแลนด์ ส่วนสื่อช่องดังก็เตรียมลดพนักงานอีกรอบ แต่รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานกลับมีข่าวหราบนหน้าสื่อ แนะว่า "แค่เปิดกูเกิลหางานก็สมัครได้แล้ว" งานนะพ่อ... ไม่ใช่คลิปโป๊ที่จะได้หากันง่ายๆ บทความนี้จึงขอเล่าเรื่อง "การว่างงาน" ในมุมประวัติศาสตร์แบบเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยกันหน่อย เพื่อบันทึกไว้ว่านี่ไม่ใช่ปัญหาใหม่ และการตกงาน ใครไม่เคยคงไม่เข้าใจ...
"คํ่าค่ำทำงานสานงอบ สานเสื่อกระสอบ ดักลอบฟ้าแลบแปลบปลาบ"
นี่คือกาพย์ฉบังเบ็ดเตล็ด แต่งเป็นคำเทียบให้เด็กหัดเขียนหนังสือ ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2466 หรือตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 เห็นได้ว่า "การทำงาน" ของบ้านเราในยุคนี้ยังเป็นเรื่องหัตถกรรมทำมือ และการพึ่งพิงธรรมชาติตามรูปแบบสังคมเกษตรกรรมทั่วไป
แต่ในขณะที่บ้านเรากำลังตอนยอนสานงอบ ดักลอบกู้ปลาอยู่นั้น ประเทศฝั่งตะวันตกต่างเป็น “ประเทศอุตสาหกรรม” กันแล้ว และเข้าสู่ยุคกรรมกรว่างงาน เนื่องจากมีเครื่องจักรมาทดแทนแรงงานผู้คน "เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี" (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นหนึ่งในคนสำคัญร่วมยุค ที่พูดถึงเรื่องการ "ว่างงาน" เอาไว้ โดยในหนังสือ "โคลงกลอนของครูเทพ" ที่ท่านเจ้าคุณฯ เขียนขึ้นช่วงเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2477 หรือตรงกับสมัยรัชกาลที่ 7 พรรณาไว้ว่า
ปัญหามาใหม่ให้ แก้คน ว่างงาน
เราห่างยังไม่ถึง ที่นั้น
ตะวันตกต้องกาหล ค่นขัด
แก้แต่แค่สั้นสั้น ส่วนอาการ
เจ้าคุณฯ ซึ่ง ณ ขณะนั้นเพิ่งพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมาได้เกือบๆ ปี บอกว่าคนว่างงาน คือ “ปัญหาใหม่” และไทยเรายังไม่เป็นปัญหาหนักหนาเท่าชาติตะวันตก โดยเจ้าคุณฯ ให้เหตุผลไว้ในเชิงอรรถว่า
"สยามยังอยู่ในสมัยเกษตรกรรม จึงยังเหินห่างจากภัยเช่นนี้ คนว่างงานของเราเกิดมีขึ้นบ้างเฉพาะในกรุง ซึ่งจะอาศัยอาชีพทางเกษตรกรรมไม่ได้ ถ้าได้สร้างอุตสาหกรรมขึ้นบ้าง ก็พอจะหางานให้ชาวกรุงทำได้ ในชนบทนั้น กสิกรมีเวลาว่างมากจริงแต่เขาก็ไม่ใช่คนว่างงานแท้...”
ในขณะที่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี มีความเห็นว่าการว่างงานบ้านเรายังไม่เท่าไหร่ แต่ดูเหมือน “แรงงาน” ในยุคนั้นอาจไม่ได้มีมุมมองเดียวกัน เพราะอย่างที่รู้กันว่าช่วงรัชกาลที่ 6 ต่อเนื่องถึงรัชกาลที่ 7 เศรษฐกิจโลกติดหล่มสุดๆ ทำให้ฐานะการคลังของสยามเข้าขั้นย่ำแย่ ในสมัยรัชกาลที่ 7 เพียงย่างเข้าสู่ปีที่ 2 ในรัชกาลเท่านั้น (พ.ศ.2469) ก็ทรงออกประกาศยุบเลิกกรมศิลปากร ด้วยเหตุผลว่า
“เนื่องจากที่เงินรายได้ของแผ่นดินไม่พอกับรายจ่ายนั้น ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า เปนการจำเปนที่ควรจะยุบเลิกกรมศิลปากรเสีย เพื่อตัดรายจ่ายเงินแผ่นดินให้เข้าสู่ดุลยภาพ"
จากนั้นก็มีการยุบหน่วยราชการต่างๆ ตามมาอีกมากมาย ทั้งยุบกรมพระนิติศาสตร์, ยุบเลิกตำแหน่งอธิบดีกรมราชพัสดุ กระทรวงวัง, ยุบกรมบัญชาการมหาดเล็ก ฯลฯ
ข้าราชการยังตกงาน แล้ว “แรงงาน” จะไปเหลืออะไร... หากมองข้ามวรรณกรรมของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีไป แล้วพิจารณาจากเอกสารทางการ เช่น ราชกิจานุเบกษา จะเห็นได้ว่าปัญหาคนว่างงานไม่ใช่เรื่อง “ห่างยังไม่ถึง” เพราะในยุครัชกาลที่ 7 นี่เองปรากฎคำว่า “กรรมกรว่างงาน” แล้ว และเป็นปัญหาใหญ่พอดู ถึงขนาดต้องมีการช่วยเหลือในรูปแบบ “การบริจาค”
เช่น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล วันคล้ายวันประสูติของพระองค์ 28 มีนาคม พ.ศ. 2476 เป็นเงินจำนวน 15,000 บาท นอกจากให้เป็นทุนการศึกษากระทรวงธรรมการและช่วยโรงพยาบาลวชิระแล้ว ก็ยังแบ่งมา “ช่วยบรรเทาทุกข์กรรมกรว่างงาน 3,000 บาท” ด้วย โดยเงินนี้กระทรวงเศรษฐการได้เก็บไว้ที่กระทรวงการคลัง เพื่อที่รัฐบาลจะจัดตั้งเป็นมูลนิธิต่อไป
ขณะที่ในเดือนสิงหาคม 2477 ข้าราชการกองทาง กรมโยธาเทศบาล ก็ “บริจาคเงินช่วยชาติ ช่วยกรรมกร และช่วยคนจน ....ในยามที่การเงินฝืดเคือง รวมเป็นเงิน 35 บาท 70 สตางค์...”
เห็นไหมว่าขนาดช่วงเวลาเดียวกัน ท่านเจ้าคุณฯ ยังมองว่าคนว่างงานเป็นปัญหาที่ “ห่างยังไม่ถึง” แต่ ณ ตอนนั้นกลับมี “กรรมกรว่างงาน” ให้ต้องช่วยเหลือเจือจานรับเงินบริจาคกันแล้ว นี่สะท้อนว่า “นานาจิตตัง” มุมมองของคนเราอาจไม่เหมือนกัน
แต่ก็อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ต้นนั่นแหละ การตกงาน ใครไม่เคยคงไม่เข้าใจ...