ไม่พบผลการค้นหา
ไต้หวันคือดาวเด่นประชาธิปไตยโลก ขณะนอร์เวย์ครองแชมป์ในปี 2563 ด้านไทยรั้งอันดับที่ 73 เกือบตกไปอยู่ภายใต้ 'ระบอบการปกครองผสม' (เผด็จการ)

ประชาชนฮ่องกงที่แสดงตนเป็นนักเคลื่อนไหวหรือที่เข้าไปทำหน้าที่สะท้อนความเห็นซึ่งแตกต่างจากสิ่งที่จีนต้องการให้เป็นถูกจับกุมไปแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ราย ขณะรัฐบาลพลเรือนในเมียนมาถูกยึดอำนาจและรัฐประหารจากกองทัพอาวุธครบมือที่อ้างว่าทำเพื่อความ 'สงบ' ด้วยการนำรถถังออกมาสัญจรและใช้อำนาจคุมขังผู้คน ทั้งยังมีการเรียกร้องอีกมากมายนับรวมเหตุการณ์ที่เกิดบนผืนแผ่นดินไทย

มองด้วยตาเปล่ายังเห็นได้ชัดเจนว่ารูปร่างของประชาธิปไตยโลกมีปัญหา ทว่าดัชนีจาก 'หน่วยงานวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจ' (Economist Intelligence Unit หรือ EIU) ของ THE ECONOMIST สื่อด้านเศรษฐศาสตร์ระดับโลก ประจำปี 2563 อาจช่วยฉายภาพให้ลึกลงไปว่าแท้จริงแล้ว 'ดีเอ็นเอ' คู่เบสไหนเกิดจับตัวสลับหัวสลับหาง 

ค่าเฉลี่ยคะแนนความเป็นประชาธิปไตยของทั้งหมด 167 ประเทศทั่วโลก เมื่อพิจารณาย่อยลงไปยัง 5 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ 1.กระบวนการเลือกตั้งและความหลากหลายทางการเมือง 2.การบริหารงานของรัฐบาล 3.การมีส่วนร่วมทางการเมือง 4.วัฒธรรมประชาธิปไตยทางการเมือง และ 5.เสรีภาพของพลเมือง อยู่ที่เพียง 5.37 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน นับเป็นผลลัพธ์เลวร้ายที่สุดตั้งแต่มีการจัดทำดัชนีประชาธิปไตยซึ่งเริ่มต้นขึ้นในปี 2549 


แลกเสรีภาพกับ 'การจากไป' 

ณ จุดนึงที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องท่ามกลางเตียงคนไข้ที่ไม่เพียงพอรองรับผู้ป่วยและโลกตอนที่ยังไร้ซึ่งยารักษาโควิด-19 ผู้คน(ส่วนใหญ่)ยอมแลกการออกจากบ้านโดยปราศจากหน้ากากอนามัยหรือแม้แต่การบอกลาครั้งสุดท้ายเพื่อลดตัวเลขผู้ติดเชื้อลง 

โควิด ผู้ป่วย อิตาลี.jpg

ขณะที่มาตรการล็อกดาวน์ถูกบังคับใช้ในแทบทุกประเทศทั่วโลกเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ปฏิเสธไม่ได้ว่าการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลหยิบประเด็นสาธารณสุขขึ้นมาบังหน้าและบังคับให้พลเมืองเชื่อฟังโดยห้ามตั้งข้อสงสัยหรือริอาจขึ้นมาตั้งคำถาม

รายสะท้อนชัดว่าหลายดินแดนทั่วโลกที่ปกครองโดยเผด็จการหยิบฉวยโอกาสของการแพร่ระบาดมาบังหน้าเพื่อบั่นทอนสิทธิและเสรีภาพของพลเมือง

"วิกฤตครั้งนี้สะท้อนให้เราเห็นแนวการบริหารประเทศของรัฐบาลทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและประชาชน จริงอยู่ที่เราไม่ต้องการวิกฤตโรคระบาดมาแฉภาวะป่วยไข้ของประชาธิปไตย แต่มันก็ช่วยฉายภาพให้เห็นส่วนที่ขาดไปของประชาธิปไตย"


ดาวเด่นไต้หวัน - นอร์เวย์ที่หนึ่ง

ในปีที่ผ่านมา 'ไต้หวัน' คือดาวเด่นทั้งในเรื่องการควบคุมการแพร่ระบาดและการก้าวขึ้นมามีประชาธิปไตยเต็มใบด้วยคะแนน 8.94/10 รั้งอันดับที่ 11 ของโลก ทั้งยังได้คะแนนเต็มในหัวข้อกระบวนการเลือกตั้งและความหลากหลายทางการเมืองอันเป็นผลมาจากตัวเลขชาวไต้หวันที่ไปลงคะแนนเลือกตั้งจน 'ไช่อิงเหวิน' สร้างประวัติศาสตร์ขึ้นเป็นผู้นำหญิงคนแรกของดินแดน

ไช่อิงเหวิน - ไต้หวัน - เอเอฟพี
  • 'ไช่อิงเหวิน' ประธานาธิบดีไต้หวัน

ไต้หวันยังมีคะแนนสูงถึง 9.71 และ 9.64 ในหมวดเสรีภาพของพลเมืองและการบริหารงานของรัฐบาลตามลำดับ ขณะที่คะแนนในฝั่งวัฒนธรรมและการมีส่วนร่วมทางการเมืองอยู่ที่ 8.13 และ 7.22 ตามลำดับ 

สำหรับปี 2563 นอร์เวย์คือประเทศที่รั้งอันดับ 1 ในความมีประชาธิปไตยด้วยคะแนน 9.81/10 โดยได้คะแนนเต็มไปถึง 3 หมวด คือการเลือกตั้งและความหลากหลายทางการเมือง, การมีส่วนร่วมทางการเมือง และวัฒนธรรมการเมือง

ขณะที่ไอซ์แลนด์รั้งอันดับที่ 2 ด้วยคะแนน 9.37/10 โดยมีสวีเดนและนิวซีแลนด์ตามมาด้วยค่าเฉลี่ย 9.26 และ 9.25 ตามลำดับ ปิดท้ายด้วยแคนาดาในลำดับที่ 5 ด้วยคะแนน 9.24/10


ไทยกับประชาธิปไตยมีตำหนิ
REUTERS-เยาวชนปลดแอก วิ่งแฮมทาโร่ หนูศรัทธาประชาธิปไตย.JPG

ไทยรั้งอยู่ในอันดับที่ 73 ของโลก ด้วยคะแนนรวม 6.04 ถูกจัดอยู่ในหมวด 'กลุ่มประเทศประชาธิปไตยมีตำหนิ' (flawed democracy) ทั้งยังเกือบหลุดกลับไปอยู่ในหมวด 'ระบอบปกครองผสม' (Hybrid regime) ด้วยคะแนนที่ช่วยชีวิตเอาไว้เพียง 0.5 เท่านั้น 

เมื่อแยกตามหมวดย่อย รายงานให้คะแนนการบริหารงานของรัฐบาลไทยต่ำที่สุดเพียง 5.00/10 ใกล้เคียงกับเสรีภาพของพลเมืองที่ได้คะแนนสูงกว่าเพียง 0.29 ขณะที่วัฒนธรรมการเมืองและการมีส่วนร่วมทางการมีได้คะแนน 6.25 และ 6.67 ตามำลดับ ส่วนกระบวนการเลือกตั้งและความหลากหลายทางการเมืองอยู่ที่ 7.00/10 

เมื่อย้อนสถิติตั้งแต่ปี 2549 'วอยซ์' พบว่าประเทศไทยมีคะแนนต่ำที่สุดในปี 2560 และ 2561 ด้วยค่าเฉลี่ยเพียง 4.63 เท่ากันทั้ง 2 ปี และได้คะแนนมากที่สุดในปี 2561 ด้วยค่าเฉลี่ย 6.81/10 

รายงานดังกล่าวยังสะท้อนสาเหตุเพิ่มเติมสำหรับคะแนนของประเทศไทยว่าส่วนหนึ่งมาจากคำติดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ไปจนถึงมาตรการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของผู้คนที่เห็นต่างจากรัฐบาล พร้อมด้วยการจำกัดเสรีภาพสื่อทั้งในและต่างประเทศ 

อ้างอิง; The Economist

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;