ตามข้อมูลจากคณะกรรมการบริหารจัดการการลงทุนแห่งเมียนมาสะท้อนชัด ‘ไทย’ คือหนึ่งในประเทศนักลงทุนสำคัญของเมียนมานับตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อมองเม็ดเงินลงทุนรวมตั้งแต่ปีงบประมาณ 2531-2532 มาจนถึงปีงบประมาณ 2553-2554 ไทยเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่เพิ่งเกิดการรัฐประหาร (1 ก.พ. 2564) แล้วทั้งสิ้น 9,568 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 287,040 ล้านบาท เป็นรองเพียงแค่จีนที่มีเม็ดเงินลงทุนรวมสูงกว่าเล็กน้อยที่ 9,596 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 287,880 ล้านบาท
เท่านั้นยังไม่พอ นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2556-2557 มาจนถึงปี 2563 มีเพียงแค่ 2 ปีงบประมาณเท่านั้นที่ไทยเข้าไปลงทุนด้วยเม็ดเงินต่ำกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3,000 ล้านบาท
‘วอยซ์’ พบว่า ในปีงบประมาณ 2556-2557 นั้น ไทยเข้าไปลงทุนในเมียนมาสูงถึง 529 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 15,870 ล้านบาท
เมื่อรวมตัวเลขคาดการณ์การลงทุนรวมของไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปลายปีงบประมาณ 2564 สูงถึง 11,430 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 342,900 ล้านบาท
ในเอกสารการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของเมียนมา (FDI) เมื่อสิ้น ธ.ค.ซึ่งเมียนมายังอยู่ภายใต้การบริหารประเทศที่มี ‘อู วินมิ่นท์’ นั่งเป็นประธานาธิบดี พบว่าไทยเตรียมเข้าไปลงทุนในเมียนมาด้วยมูลค่ารวมประมาณ 24 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 720 ล้านบาท ระหว่างปีงบประมาณ 2563-2564 นี้
ทั้งนี้หากมองตัวเลขในช่วงปัจจุบัน ‘สิงคโปร์’ ลงทุนในเมียนมาด้วยเม็ดเงินมหาศาลที่ไม่เคยต่ำกว่าหลักพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แม้แต่ปีเดียวนับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557-2558 เป็นต้นมา สูงกว่าทั้งจีนและญี่ปุ่น
หากจัดอันดับนักลงทุนโดยตรงในเมียนมา (ตามกฎหมายการลงทุนปกติ) ผ่านมูลค่าเม็ดเงินลงทุนระหว่างปีงบประมาณ 2559-2560 ถึงปีงบประมาณ 2563-2564 สิงคโปร์ครองอันดับที่หนึ่งด้วยมูลค่ากว่า 11,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 330,000 ล้านบาท
ขณะที่จีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกงครองอันดับที่ 2 และ 3 ตามลำดับ ด้วยเม็ดเงิน 3,500 และ 2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 105,000 และ 72,000 ล้านบาท ตามลำดับ
ฝั่งประเทศเพื่อนบ้านของไทยซึ่งมีเศรษฐกิจเติบโตแซงหน้าประเทศอื่นๆ ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดอย่างเวียดนามติดเข้ามาอยู่ในอันดับที่ 4 ด้วยเม็ดเงินลงทุนรวม 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 45,000 ล้านบาท โดยมีญี่ปุ่นปิดท้ายในลำดับที่ 5 ด้วยเงินลงทุนที่น้อยกว่าเวียดนามราว 110 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3,300 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลาเดียวกันกับสถิติข้างต้น แต่เปลี่ยนมาพิจารณาฝั่งการลงทุนภายใต้กฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (special economic zone law) พบว่า ญี่ปุ่นขึ้นมาเบอร์หนึ่งในฐานะผู้ลงทุนด้วยเม็ดเงินรวม 447 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 13,410 ล้านบาท
ด้านสิงคโปร์และไทยตามเข้ามาอยู่ในลำดับที่ 2 และ 3 ตามลำดับ ด้วยเม็ดเงิน 415 และ 175 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 12,450 และ 5,250 ล้านบาท ขณะที่เกาหลีใต้และไต้หวันตามเข้ามาในลำดับที่ 4 และ 5 ด้วยเม็ดเงิน 96 และ 63 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2,880 และ 1,890 ล้านบาท ตามลำดับ
หากวิเคราะห์ให้ลึกลงมาไป พบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่ต่างประเทศให้ความสนใจเข้าไปลงทุนอย่างมากได้แก่ กลุ่มธุรกิจพลังงาน พร้อมด้วยธุรกิจน้ำมันและแก๊ส คิดเป็นเม็ดเงินที่เมียนมาคาดจะได้รับ นับจนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2564 สูงถึง 22,898 และ 22,773 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 686,940 และ 683,190 ล้านบาท ตามลำดับ
อ้างอิง; DICA, World Bank, UNCTAD
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;