การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ การรุกราน การจับเชลยศึก และการเผยแพร่แนวคิดที่ก่อความเกลียดชังกลุ่มคนเชื้อชาติอื่นๆ ของนาซีเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกยกเป็น 'ความทรงจำอันเลวร้าย' ในหน้าประวัติศาสตร์โลก เพราะนอกจากจะมีพลเรือนและทหารที่ถูกฆ่าในสงครามครั้งนั้นเป็นจำนวนมาก ยังมีผู้คนหลายกลุ่มถูกกวาดต้อนไปกักกันในค่ายอีกหลายแห่งภายใต้การควบคุมของกองทัพนาซี และคนประมาณ 12 ล้านถูกสังหารหมู่ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป
รายงานของสหประชาชาติระบุว่า ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กลุ่มผู้มีเชื้อสายยิวในประเทศแถบยุโรป ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายใหญ่ที่ถูกนาซีกวาดต้อนไปกักกันในค่ายต่างๆ และก่อการสังหารหมู่ มีจำนวนรวมกว่า 6 ล้านคน
ส่วนกลุ่มชาวโปแลนด์ ชาวสลาฟ ชาวโรมาหรือยิปซี ผู้พิการทางสมอง กลุ่มรักเพศเดียวกัน และคนกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่เข้าข่าย 'อารยันบริสุทธิ์' ถูกนาซีสังหารหมู่อีกประมาณกว่า 6 ล้านคน สหประชาชาติจึงกำหนดนิยามการกระทำดังกล่าวของนาซีว่าเป็นการ 'ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์' หรือ ฮอโลคอสต์
การรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิต ผู้รอดชีวิต รวมถึงผู้ก่อเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชนและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เพื่อนร่วมโลก เป็นงานใหญ่ที่องค์กรระหว่างประเทศและรัฐบาลของประเทศที่เกี่ยวข้อง เช่น เยอรมนี อิสราเอล สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และโปแลนด์ ใช้เวลายาวนานหลายปีในการชำระประวัติศาสตร์ รวมถึงชดเชย เยียวยา และหาทางดำเนินคดีผู้กระทำผิด
จนกระทั่งปี 2005 สหประชาชาติจึงได้ประกาศให้วันที่ 27 มกราคมของทุกปี เป็นวันรำลึกถึงเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ฮอโลคอสต์ โดยยึดตามวันที่กองทัพโซเวียตบุกยึดค่ายกักกันเอาช์วิตซ์ ซึ่งเป็นค่ายกักกันขนาดใหญ่ที่สุดของกองทัพนาซีในขณะนั้นได้สำเร็จในปี 1945 ทำให้เชลยที่ถูกกักกันในค่ายดังกล่าวได้รับการช่วยเหลือ แต่ถึงอย่างนั้นก็มีคนจำนวนมากที่เสียชีวิตไปแล้วจากการสังหารหมู่ รวมถึงความเจ็บป่วยและภาวะขาดอาหาร
ที่ผ่านมา รัฐบาลเยอรมนีและกลุ่มประชาสังคมจำนวนมากในเยอรมนี ต้องรับผิดชอบผลสืบเนื่องจากการที่พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมนี หรือ 'นาซี' ที่มี 'อดอล์ฟ ฮิตเลอร์' เป็นผู้นำ ร่วมกับผู้นำอีก 2 ประเทศของฝ่ายอักษะ ได้แก่ อิตาลีและญี่ปุ่น ทำสงครามบุกยึดพื้นที่ต่างๆ ในยุโรปและเอเชียช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกทั้งฮิตเลอร์มีแนวคิดเรื่องการสร้างอาณาจักแห่งเผ่าพันธุ์ 'อารยันบริสุทธิ์' ซึ่งหมายถึงชนชาติที่พูดภาษาเยอรมัน นำไปสู่การกวาดล้างชนชาติอื่นๆ หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์
ปัจจุบัน มีการตั้งพิพิธภัณฑ์และอนุสรณ์สถานรำลึกถึงเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดจากน้ำมือของกองทัพนาซีเยอรมนีในอดีต โดยในกรุงเบอร์ลินมีอนุสรณ์สถานขนาดใหญ่ที่ย่านมิตเต และเป็นสถานที่จัดพิธีรำลึกถึงผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของนาซี ซึ่งรัฐบาลเยอรมนีดำเนินการมาตลอดตั้งแต่ปี 1996 เป็นต้นมา
ล่าสุด นางอังเกลา แมร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี กล่าวปราศรัยก่อนถึงวันรำลึกเหตุการณ์สังหารหมู่ฮอโลคอสต์ประจำปี 2019 ซึ่งเป็นวันครบรอบเหตุการณ์ปีที่ 74 โดยย้ำว่า คนรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโต ต้องเรียนรู้ว่าคนในอดีตทำอะไรลงไปบ้าง และเราต้องร่วมกันป้องกันไม่ให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำรอย
เครื่องหมายสวัสติกะพบมากในประเทศที่มีผู้นับถือศาสนาฮินดู เนื่องจากเป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงความโชคดีและคำอวยพรให้โชคดี แต่ภาพจำของสวัสติกะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อถึงยุค 1930 ที่ 'อดอล์ฟ ฮิตเลอร์' นำเครื่องหมายสวัสติกะไปดัดแปลงเป็นสัญลักษณ์ของพรรคนาซี
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เครื่องแบบของกองทัพนาซีมีปลอกแขนติดเครื่องหมายสวัสติกะอย่างชัดเจน เห็นได้จากภาพบันทึกประวัติศาสตร์ที่ได้รับการเผยแพร่ในหอจดหมายเหตุต่างๆ ทั่วโลก ทำให้ 'ภาพจำ' ของผู้คนที่มีต่อเครื่องหมายสวัสติกะเปลี่ยนแปลงไป เพราะมักจะถูกนำไปผูกโยงกับกองทัพนาซีเยอรมนี
หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 สัญลักษณ์สวัสติกะของนาซีกลายเป็นประเด็นอ่อนไหวที่จะต้องนำเสนออย่างระมัดระวังในหลายประเทศแถบยุโรป เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของนาซีในอดีตบางรายยังมีชีวิตอยู่ เช่นเดียวกับครอบครัวผู้รอดชีวิตก็ได้รับถ่ายทอดความทรงจำถึงเหตุการณ์โหดร้ายในอดีตที่เคยเกิดขึ้นกับบุคคลอันเป็นที่รักของพวกเขา
ที่ผ่านมา บุคคลที่มีชื่อเสียงหลายรายถูกโจมตีเพราะสวมชุดเลียนแบบนาซี หรือสวมชุดที่มีเครื่องหมายสวัสติกะนาซี โดยครั้งที่รุนแรงที่สุด คือ กรณีเจ้าชายแฮร์รีแห่งราชวงศ์อังกฤษทรงสวมชุดนาซีไปร่วมงานปาร์ตี้แฟนซี และมีสื่อนำภาพเหตุการณ์ไปเสนอข่าว พระองค์ถูกวิจารณ์อย่างหนักจนสำนักพระราชวังต้องแถลงชี้แจงและขออภัย
ส่วนกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นกับ 'น้ำใส' หนึ่งในสมาชิกวงไอดอล BNK48 ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะเมื่อปี 2014 เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำไทยก็เคยแถลงผ่านเฟซบุ๊กมาครั้งหนึ่งแล้ว โดยแสดงความสลดใจกรณีภาพยนตร์สั้นชุด 'ค่านิยม 12 ประการ' ที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐบาลไทย มีภาพเด็กนักเรียนไทยปรบมือชื่นชมภาพวาดของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์
นอกจากนี้เมื่อปี 2011 ก็เคยมีกรณีที่นักเรียนในโรงเรียนแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่สวมชุดเลียนแบบนาซีเดินขบวนพาเหรดในงานวันกีฬาสี และชาวต่างชาติที่เห็นวิดีโอบันทึกเหตุการณ์ในสื่อสังคมออนไลน์ต่างรู้สึกไม่พอใจที่โรงเรียนปล่อยให้เด็กสวมชุดที่สะท้อนประวัติศาสตร์อันเลวร้้ายโดยไม่ได้ให้ความรู้หรือชี้แจงข้อเท็จจริง ทางโรงเรียนจึงออกมาแถลงขอโทษเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์อีกจำนวนหนึ่งในประเทศไทยไม่เห็นด้วยกับกระแสต่อต้านการสวมชุดนาซีหรือการนำสัญลักษณ์สวัสติกะของนาซีมาใช้ โดยหลายรายมองว่าเป็นแค่ 'ความไม่รู้' และ 'ไม่ใช่เรื่องใหญ่' เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต และไม่เกี่ยวข้องกับคนไทยมากนัก
ส่วนผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์อีกจำนวนหนึ่งแสดงความคิดเห็นว่า การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของไทยนั้นไม่ค���อบคลุม ทั้งยังไม่อาจสอนให้คนรุ่นใหม่ตระหนักถึงความเลวร้ายของการฆ่าล้างเผ่าพันธ์หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ ในอดีต เพราะแม้แต่ประวัติศาสตร์ของไทยยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ยังไม่ได้รับการส่งเสริมให้ถกเถียงหรือบันทึกรายละเอียดได้อย่างรอบด้าน อีกทั้งประวัติศาสตร์และเหตุการณ์สำคัญในอดีตหลายเหตุการณ์ก็ไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในแบบเรียนแต่อย่างใด
ที่มา: D-W/ JPost/ NBC/ Washington Post
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: